กสทช.รื้อเกณฑ์ดึง 'เอกชน' ชิง 'ดาวเทียม'- 4 ม.ค.66 รู้แน่ใครตัวจริงเคาะราคา!

กสทช.รื้อเกณฑ์ดึง 'เอกชน' ชิง 'ดาวเทียม'- 4 ม.ค.66 รู้แน่ใครตัวจริงเคาะราคา!

จับตาประมูลวงโคจรดาวเทียม 8 ม.ค. 66 ‘บิ๊กคอร์ป -เทคคอมพานี’ ตบเท้าสนใจซื้อซองประมูลศึกษารายละเอียด หลัง กสทช.ปรับเงื่อนไข เปิดรายชื่อ 6 บริษัทซื้อซองฯ ไปแล้ว มีชื่อ "แอสเซนด์ แคปปิตอล เครือทรู และ ไทยคม เครืออินทัช สนใจซื้อซองฯด้วย

หลังจากที่การประมูลวงโคจรดาวเทียมในไทยครั้งหนึ่งเคยต้องพับแผนไป เพราะด้วยข้อจำกัดด้านหลักเกณฑ์-การกำหนดราคาใบอนุญาต ที่ยังไม่ดึงดูดเท่าที่ควร และครั้งนั้นมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายว่า การประมูลดาวเทียมไม่ควรจะเกิดขึ้นเพราะบอร์ด กสทช. (ในขณะนี้) มีเพียงสถานะเป็นเพียงบอร์ดรักษาการ จากนั้น เมื่อมีการแต่งบอร์ด กสทช.ตัวจริงอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว ล่าสุดบอร์ด กสทช.ชุดใหม่เดินหน้าลุยโรดแมปแรกการประมูลวงโคจรดาวเทียม ซึ่งกำหนดวันเคาะประมูลวงโคจรดาวเทียม 8 ม.ค. 2566

เปิด 6บริษัทซื้อซองศึกษาเงื่อนไข

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักงานกสทช.เปิดให้เอกชนผู้มีความสนใจเข้าประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) โดยได้ปิดรับไปเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา

 

สรุปว่า มีเอกชน 6 รายประกอบด้วย 1.บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด 2.บริษัท แอสเซนด์ แคปปิตอล จำกัด 3.บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด 4.บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) 5.บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด (บริษัทในเครือบมจ.ไทยคม) และ 6.บริษัท เดอะวิน เทเลคอม จำกัด เข้ามารับเอกสารการคัดเลือกสำหรับการประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) พร้อมลงนามในหนังสือตกลงการไม่เปิดเผยข้อมูล (Non-disclosure Agreement : NDA) ที่สำนักงาน กสทช.

สำหรับทั้ง 6 บริษัท ที่เข้าซื้อซอง จากข้อมูลของ creden data พบว่า

1.บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ปี 2564 มีรายได้ 5,403,182 บาท  กำไรสุทธิ -63,897,900 บาท มีสินทรัพย์ 141,383,506 บาท โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ นายวรายุทธ เย็นบำรุง

2.บริษัท แอสเซนด์ แคปปิตอล จำกัด เมื่อปี 2564 มีรายได้ 2,820,851 บาท มีกำไรสุทธิ -7,161,735 มีสินทรัพย์ 307,149,305 ผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ แอสเซนด์ กรุ๊ป ซึ่งอยู่ในเครือ บมจ.ทรู

3. บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด ปี 2564 มี รายได้ 522,894,057 บาท มีกำไรสุทธิ 14,497,861 บาท มีสินทรัพย์ 412,665,833 บาท  ผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ นายสมบัติ แสงชาติ

4.บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) มีรายได้ถึงเดือน มิ.ย.65 ที่ 49,557.65 ล้านบาท กำไร 1,300 ล้านบาท มีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

5.บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ในเครือ บมจ.ไทยคม โดยปี 2564 ไทยคมมีรายได้ 2,885,905,298 บาท มีกำไรสุทธิ 143,636,200 บาท  มีสินทรัพย์  15,946,676,857 บาท ผู้ถือหุ้น คือ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

6.บริษัท เดอะวิน เทเลคอม จำกัด มีรายได้ปี 2564 อยู่ที่ 11,142,552 บาท  กำไรสุทธิ -3,347,603 บาท มีสินทรัพย์ 5,502,001 บาท  ผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น บริษัทผู้ให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

ชี้ปรับเกณฑ์ช่วยดึงเอกชน

ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ได้มีการจัดประชุม เพื่อรับฟังการชี้แจงกระบวนการประมูลและการกรอกเอกสารแบบคำขอรับอนุญาต (public Information session) และจะเปิดให้ยื่นขอรับอนุญาตวันที่ 27 ธ.ค. 2565 จากนั้นสำนักงานฯ จะทำการตรวจคุณสมบัติ (ใช้เวลา 1 สัปดาห์) ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2565-4 ม.ค. 2566 และจะประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการคัดเลือกในวันที่ 4 ม.ค. 2566 ส่วนวันที่ 7 ม.ค. 2566 จะมีการจัด Mock Aution ให้ผู้เข้าร่วมการประมูล สำหรับวันประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมลักษณะจัดชุด (Package) กำหนดเป็นวันที่ 8 ม.ค. 2566

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ เสริมว่า ขณะนี้ มีบริษัทเข้ามาขอรับเอกสารการคัดเลือก 6 รายแล้ว มากกว่าครั้งก่อนที่มีผู้มาขอรับเอกสารเพียง 2 ราย ทำให้ค่อนข้างมั่นใจในการจัดประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมครั้งนี้ จะประสบผลสำเร็จเนื่องจาก กสทช. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลให้มีความเหมาะสม เพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่การแข่งขันได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังสามารถรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติได้ด้วย

รายเดียวเข้าต้องเลื่อนวัน

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวันประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุดที่กำหนดเป็นวันที่ 8 ม.ค. 2566 แต่ในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพียงรายเดียว จะมีการขยายระยะเวลาออกไปอีกไม่น้อยกว่า 14 วัน เริ่มจากเปิดให้รับเอกสารการคัดเลือกในวันที่ 6-11 ม.ค. 2566 แล้วจะจัดให้มี Info session อีกครั้ง กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพิ่มในวันที่ 12 ม.ค. 2566

จากนั้นจะเปิดให้ยื่นขอรับอนุญาต (1 วัน) ในวันที่ 19 ม.ค. 2566 หลังจากนั้นสำนักงาน กสทช. จะทำการตรวจคุณสมบัติ ตั้งแต่วันที่ 20 - 26 ม.ค. 2566 และจะประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการคัดเลือก ในวันที่ 27 ม.ค. 2566 จากนั้นสำนักงาน กสทช. จะทำ Mock Auction ในวันที่ 28 ม.ค. 2566 และจะประมูลในวันที่ 29 ม.ค. 2566 แทน

และขั้นตอนหลังจากนั้น กสทช. จะจัดให้มีการประชุมรับรองผลการประมูลภายใน 7 วัน หลังการประมูล สำหรับหลักเกณฑ์การประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมฯในครั้งนี้ หลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นสาธารณะไป กสทช. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ โดยได้มีการปรับลดราคาขั้นต่ำของการประมูลเพื่อให้เกิดการแข่งขันและมีการปรับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการประมูล

โดยมีการแยกคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการประมูลในแต่ละชุดข่ายงานดาวเทียมที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในชุดที่ 4 (วงโคจรที่ 126 E) เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยหรือรายใหม่เข้าสู่การแข่งขันได้ง่าย เพราะราคาเริ่มต้นของชุดข่ายงานดาวเทียมนี้กำหนดเพียง 8 ล้านบาท

ยันให้ความสำคัญภารกิจรัฐ

นอกจากนั้น กสทช. ยังคงให้ความสำคัญกับการใช้งาน เพื่อประโยชน์สาธารณะของหน่วยงานภาครัฐ โดยได้กำหนดให้ภาครัฐได้ใช้ดาวเทียมฟรี 1 ทรานสปอนเดอร์ สำหรับดาวเทียมสื่อสารแบบ Broadcast และ 400 Mbps สำหรับดาวเทียมสื่อสารความจุสูงแบบ Broadband ต่อวงโคจรหรือต่อดาวเทียม 1 ดวง ซึ่งเมื่อเทียบกับระบบสัมปทานเดิมภาครัฐจะได้สิทธิใช้ดาวเทียมฟรีดังกล่าวต่อ 1 สัมปทาน

อีกทั้ง เพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายของคณะกรรมการอวกาศแห่งชาติ กสทช. ก็ได้กำหนดให้ บริษัทที่ชนะการประมูลจะต้องอนุญาตให้หน่วยงานภาครัฐที่ได้รับมอบหมายมีส่วนร่วมในการใช้วงโคจรที่ 119.5 E อาทิ มีส่วนร่วมในการจัดสร้างศูนย์ควบคุมเกตเวย์ของรัฐเพื่อควบคุมการใช้งานดาวเทียมในส่วนของภาครัฐและเป็นการฝึกบุคลากรภาครัฐให้มีความพร้อมในการบริหารจัดการดาวเทียมในส่วนของตนเองโดยในส่วนนี้รัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เป็นต้น

“กสทช. คาดว่าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลฯ ที่ปรับปรุงนี้ จะทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 2-3 รายเพราะหากไม่สามารถหาผู้มาใช้สิทธิในการสร้างและส่งดาวเทียมในวงโคจรทั้ง 5 ชุด ได้ ประเทศไทยอาจโดนเพิกถอนสิทธิดังกล่าวจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู จึงคาดหวังว่าการประมูลครั้งนี้จะบรรลุผลช่วยเปลี่ยนผ่านจากสัมปทานมาสู่ระบบการอนุญาตได้"

เปิดข้อดี-ข้อเสีย ‘ข่ายวงโคจร’

สำหรับข่ายวงโคจรทั้ง 5 ชุดประกอบด้วย

ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E(ข่ายงาน C1, N1 และ P1R) และวงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ราคาเริ่มต้นการประมูล 374 ล้านบาทวงโคจรพร้อมสุด ทำตลาดในประเทศแถบอาหรับ

ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E(ข่ายงาน A2B และ LSX2R) ราคาเริ่มต้นการประมูล 360 ล้านบาทเศษ มีความน่าสนใจตรงที่เป็นวงโคจรที่ให้บริการอยู่ในประเทศไทย เหมาะกับกลุ่มคนที่ทำตลาดในเมืองไทย

ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E(ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) และวงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ใช้สำหรับการให้บริการบรอดแบนด์ ราคาเริ่มต้นการประมูล 397 ล้านบาทเศษ

ชุดที่ 4 และ 5 ประกอบด้วย วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) และวงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5)ราคาเริ่มต้นการประมูล 8 ล้านบาทเศษ และราคาเริ่มต้นการประมูล 189 ล้านบาทตามลำดับ โดย 2 วงโคจรชุดนี้ เหมาะกับการซื้อพ่วงไปกับชุดวงโคจรอื่น จะโคจรอยู่แถบแปซิฟิก ดังนั้น บริการที่สามารถให้บริการได้จะเป็นบริการดาวเทียมสำหรับเดินเรือ

“การประมูลที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นครั้งแรกที่จะเกิดการอนุญาต และเปิดตลาดเสรีดาวเทียมไทย หลังจากที่สัมปทานดาวเทียมบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ถือเป็นสัมปทานด้านการสื่อสารสุดท้ายของประเทศไทย ได้สิ้นสุดในวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้กิจการดาวเทียมไทยมีการเดินหน้าต่อยอดต่อไปได้อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อที่จะให้ประชาชนได้รับบริการจากเทคโนโลยีใหม่ของดาวเทียมที่มีความก้าวกระโดดทั้งในส่วนของดาวเทียม Broadcast และ Broadband ต่อไป” พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าว