กสทช.ฟอร์มทีมรับ "โทรคมนาคม”ยุคใหม่ - ตั้งคณะกรรมการคุม OTT !!
กสทช.ฟอร์มทีมรับ“โทรคมฯ”ยุคใหม่ คาดอีก 3 ปีมูลค่าตลาดพุ่ง 877 ล้านดอลลาร์ เตรียมตั้งคณะกก.ดูแลธุรกิจโอทีทีเต็มตัว หลังเทรนด์เทคโนโลยีวิ่งไปสู่ตลาดใหม่ ระบุเพื่อให้ผู้ประกอบการรับไลเซ่นไม่ถูกเอาเปรียบทั้งเรื่องบำรุงรักษาโครงข่าย-ภาษี
นายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เป็นการสื่อสารเข้าสู่การเชื่อมโยงที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
ทั้งระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร และเชื่อมโยงทางธุรกิจ ซึ่งเป็นช่วงแห่งการชับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยปรับโครงสร้างองค์กรสู่องค์กรดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นในมิติของผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคพร้อมกับไปเปลี่ยนแปลงไปสู่โทรคมนาคมยุคใหม่
ดังนั้น ยุทธศาสตร์การกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมในตลาดใหม่ ถูกขับเคลื่อนด้วยตลาดโทรคมนาคมใหม่ ตลาดโทรคมนาคมใหม่ตลาดโทรคมนาคมใหม่ถูกขับเคลื่อนจากการวิวัฒนาการของจากการรับชมโทรทัศน์ผ่านการแพร่ภาพกระจายเสียง มาสู่การรับชมผ่านอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า Over The TOP (OTT) มีลักษณะบริการ 3 รูปแบบ ได้แก่
1. บริการ OTT ประเภทรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวัน คือ บริการเว็บไชค์หรือแอปพลิเคชันสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวันที่ไม่เกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างบุคคลหรือกิจการโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น ลาซาด้า,อูเบอร์,แอร์บีเอ็นบี,ดร็อปบ็อกซ์,กูเกิล แมป
2. บริการ OTT ประเภทการสื่อสารระหว่างบุคคล คือ บริการเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันสำหรับสื่อสารระหว่างผู้ใช้บริการปลายทางกับผู้ใช้บริการปลายทางผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตใดก็ได้ ทั้งในรูปแบบสื่อสังคม (Social Media) เช่น เฟซบุ๊ค ,อินสตราแกรม เป็นต้น และในรูปแบบระบบส่งข้อความทันที (Instant messaging) เช่น LINE, Facebook Messenger , WhatsApp เป็นต้น
3.บริการ OTT TV คือ บริการเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่ทำหน้าที่ส่งเนื้อหารายการไปสู่ผู้ใช้บริการปลายทางผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น Netflix Hulu Youtube LINE TV เป็นต้น ซึ่งผู้ให้บริการ OTT มีการใช้ข้อมูลปริมาณมหาศาลอินเทอร์เน็ตเพื่อให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง ทั้งยังมีการเข้ามาของต่างประเทศ เช่น Netflix, VIU, Disney+ เป็นต้น ส่งผลให้ต้นทุนในส่วนนี้ตกเป็นภาระโครงข่ายเองทั้งหมด (Free riding) ที่เป็นต้นทุนเพิ่มของผู้ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการ OTT ยังแบ่งส่วนแบ่งรายได้ในตลาดโทรคมนาคมอีกด้วย โดยโครงสร้างรายได้เดิมคือ รายได้จากการโทรศัพท์และการส่ง SMS แต่ในปัจจุบันมีการโทรศัพท์และการส่งข้อความทั้งภายในประเทศและต่างประเทศต่างทำผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น Line,WeChat, Facebook Messenger, Android Messages และ iMessage เป็นต้น ผู้ให้บริการส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการจากต่างประเทศจึงส่งผลกระพบต่อเงินตราที่ไหลออกนอกประเทศ ทั้งยังกระทบต่อการเก็บภาษีของประเทศอีกด้วย
นายภูมิศิษฐ์ กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุตัวเลขเมื่อปี 2564 ว่า อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชนไทยมาจากอุปกรณ์ที่หลากหลาย เช่น โทรศัพท์สมาร์ทโฟน 99.2% คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (พีซี) 27.2% โน้ตบุ๊ค 12.5% และ แทบเล็ต 3.9%
สำหรับมูลค่าตลาด OTT ในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 และคาดการณ์มูลค่าตลาด OTT จากปีนี้ไปจนถึงปี 2568 น่าจะมีมูลค่าถึง 877 ล้านดอลลาร์และคาดว่าในปี 2566 น่าจะมีจำนวนผู้ใช้งาน OTT ราว 2.1 ล้านราย ซึ่งหลังจากที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยเข้าสู่ยุคใหม่ดังกล่าว บอร์ดกสทช.ก็ได้เตรียมตั้งคณะกรรมการทำงานเพื่อมาดูแลในส่วนดังกล่าวแล้ว