ผ่าธุรกิจดาวเทียมหลังประมูลจบ ‘เอกชน-รัฐ’ ผลประโยชน์ลงตัว

ผ่าธุรกิจดาวเทียมหลังประมูลจบ ‘เอกชน-รัฐ’ ผลประโยชน์ลงตัว

การประมูลวงโคจรดาวเทียมที่เพิ่งจบไป หลังจากสำนักงาน กสทช. จัดประมูลไปเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2566 นับเป็นการประมูลใบอนุญาตครั้งแรกในอุตสาหกรรมกิจการอวกาศ-ดาวเทียมสื่อสารในประเทศไทย และเป็นการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานสู่ใบอนุญาตอย่างแท้จริง

ไม่เหนือความคาดหมาย

การประมูลวงโคจรดาวเทียมครั้งดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมการคัดเลือก จำนวน 3 ราย ได้แก่ 1.บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด บริษัทลูกของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที และ 3.บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด

การประมูลเสร็จสิ้นอย่างรวดเร็วในรอบเช้าเมื่อเวลา 11.46 น. หลังเปิดให้เคาะราคาชุดวงโคจรครั้งแรกเมื่อเวลา 10.00 น. โดยผลการประมูล "ไม่เหนือกินความหมาย” และไปตามที่พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช.โต้โผในการจัดประมูลครั้งนี้ เคยระบุไว้ว่า น่าจะนำเงินเข้ารัฐได้ราว 800 ล้านบาท

ผลสรุปการประมูลคือ ชุดที่ 1 ตำแหน่ง 50.5 E ไม่มีผู้ยื่นความต้องการ ชุดที่ 2 ตำแหน่ง 78.5 E บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ชนะการประมูลที่ราคา 380.02 ล้านบาท ชุดที่ 3 ตำแหน่ง 119.5 E บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ชนะการประมูลที่ราคา 417.41 ล้านบาท ชุดที่ 4 ตำแหน่ง 126 E บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ชนะการประมูลที่ราคา 9.08 ล้านบาท ชุดที่ 5 ตำแหน่ง 142 E ไม่มีผู้ยื่นความต้องการ

ผ่าธุรกิจดาวเทียมหลังประมูลจบ ‘เอกชน-รัฐ’ ผลประโยชน์ลงตัว

ดาวเทียมไม่เหมือนมือถือ

โดยรวมแล้วการประมูล 5 ชุด ขายออก 3 ชุด สำนักงาน กสทช.สามารถนำเงินส่งรัฐได้ราว 806 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่เก็งกันไว้อยู่แล้ว เพราะการประมูลวงโคจรดาวเทียมไม่หวือหวา หรือไม่มีการแข่งขันกันสูงเหมือนการประมูลคลื่นความถี่ของ “ค่ายมือถือ” ที่เคาะราคากันอย่างบ้าคลั่ง ข้ามวันข้ามคืน ทำสถิติเป็นค่าคลื่นความถี่ 5จี ที่ 90,000 ล้านบาทแพงที่สุดในโลก

เพราะหลักเกณฑ์การประมูลวงโคจรดาวเทียมกำหนดว่า ผู้ที่จะผ่านคุณสมบัติ ต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและเคยประกอบกิจการในลักษณะดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น ใครที่เคยทำธุรกิจดาวเทียมในไทย คำตอบ คือ ไทยคม และ เอ็นที เท่านั้น ส่วนพฤติการณ์การประมูลที่เคาะราคาเพียงครั้งเดียว ก็เพราะต่างคนต่างมีเป้าหมายในวงโคจรอยู่แล้ว เรียกว่าไม่ทับไลน์ธุรกิจกัน

ทำความรู้จักประเภทดาวเทียม

ปกติดาวเทียมจะแบบออกเป็น 3 ประเภท ตามระยะความสูงจากโลก หรือตำแหน่งวงโคจร (Orbit) ดังนี้  วงโคจรระยะต่ำ (Low Earth Orbit : LEO) อยู่ที่ความสูงประมาณ 500-2,000 กิโลเมตรจากโลก กำลังเป็นที่นิยมเพราะให้บริการสื่อสาร อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในราคาที่ถูกลง

วงโคจรระยะปานกลาง (Medium Earth Orbit : MEO) ระยะห่างจากโลก 7,500 กิโลเมตร

และ วงโคจรประจำที่ (Geostationary Earth Orbit : GEO) อยู่สูงจากโลกประมาณ 36,000 กิโลเมตรเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่ากับโลกเคลื่อนที่รอบตัวเอง เราจึงเรียกดาวเทียมนี้ว่าดาวเทียมวงโคจรประจำที่ ซึ่งการประมูลของสำนักงาน กสทช.ที่เกิดขึ้นก็คือดาวเทียม GEO ทั้งหมด

ภาพการแข่งขันไม่เปลี่ยนมือ

หากดูในชุดแพ็คเกจที่ สเปซ เทคฯ ชนะประมูลในชุดที่ 2 และ 3 7.41 ล้านบาท คือชุดวงโคจรเดิมไทยคมบริษัทแม่ให้บริการในสัญญาสัมปทานของดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) และดาวเทียมไทยคม 5 และ ไทยคม 6 ซึ่งไทยคมดำเนินงานในฐานะคู่สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศกับดีอีเอสซึ่งสัญญาดังกล่าว มีอายุ 30 ปี ตั้งแต่ 11 กันยายน 2534 -10 กันยายน 2564 และโอนกรรมสิทธิ์ในดาวเทียมให้เป็นทรัพย์สินของภาครัฐไปแล้วจำนวน 6 ดวง รวมมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท

ดังนั้น การประมูลจากกสทช.ที่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ก็คล้ายเป็นการ ปลดล็อค และ ต่อลมหายใจ ให้กับไทยคมก็น่าจะไม่ผิดนัก เพราะไทยคมก็ได้ดำเนินธุรกิจแบบเดิมต่อไป และสามารถเข้าเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับเอ็นทีได้เพราะขณะนี้ เอ็นทีรับมอบโอนทรัพย์สินจากไทยคมมาบริหารงาน

รับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต 

"ปฐมภพ สุวรรณศิริ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไทยคม กล่าวว่า การชนะประมูลครั้งนี้ สอดคล้องกับแผนธุรกิจที่เตรียมการไว้ เพื่อจัดสร้างดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นให้บริการ ซึ่งนับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จะได้รับบริการอย่างต่อเนื่อง โครงการดาวเทียมดวงใหม่นี้ ยังมีส่วนช่วยในการสนับสนุนและเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการเติบโตทางธุรกิจ 

รวมทั้งช่วยพัฒนาบริการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศในอนาคต ในขณะเดียวกัน ไทยคมมีความพร้อมที่จะจัดสรรช่องสัญญาณดาวเทียมให้กับหน่วยงานภาครัฐได้ใช้งาน ตามเงื่อนไขที่ กสทช.กำหนด เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะและภาครัฐต่อไป

รัฐสมใจมีดาวเทียมของตัวเอง

ส่วน "เอ็นที" การประมูลดาวเทียมชุดที่ 4 ด้วยราคาเริ่มต้นประมูลเพียง 8 ล้านบาท และประมูลได้ไปในราคา 9 ล้านบาทก็ทำให้เอ็นทีได้ชื่อว่า ดำเนินการตามการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ว่า ครม.เห็นชอบร่างแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ พ.ศ.2566-2580 และเห็นชอบหลักการที่จะมีดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติเป็นของตัวเอง 

โดยมีเป้าหมายต้องยิงดาวเทียมภายใน 3 ปี เพื่อขับเคลื่อนนโยบายอวกาศของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรม ดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการมีดาวเทียมสำหรับหน่วยงานภาครัฐที่สามารถกำกับดูแลและบริหารจัดการเอง เพื่อใช้ในการให้บริการสาธารณะ ความมั่นคง และเชิงพาณิชย์ 

สุดท้ายแล้วหากจะสรุปว่า การประมูลวงโคจรดาวเทียมที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ 3 ฝ่ายได้รับผลประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของตัวเองก็คงไม่ผิดหนัก เพราะทั้ง ไทยคม กสทช. และ รัฐบาลต่างก็ วิน วิน วิน ทั้งหมด