'กานติมา เลอเลิศยุติธรรม' ยุทธศาสตร์ สร้าง ‘คน’ ฉบับ ‘เอไอเอส’
หัวใจของเอไอเอสที่มีผลต่อความสำเร็จ คือ คน เพราะในเมื่อบริการของผู้แข่งขันในอุตสาหกรรมมีเหมือนกัน ดังนั้น การต่อยอดเป้าหมายให้เป็นที่ 1 คือ พนักงาน และบุคลากรในองค์กรต้องมีภาพการทำงานเดียวกัน
กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และกลุ่มอินทัช เล่าว่า เอไอเอส เชื่อมั่นในเรื่องการร่วมมือกันขององค์กร เพื่อสร้างสรรค์สังคมให้แข็งแรง ภายใต้แนวคิดการสร้างอีโคซิสเต็มร่วมพันธมิตร
พร้อมกับก้าวไปสู่การเป็น Cognitive Telco ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย การดำเนินธุรกิจของเอไอเอส ที่ต้องการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของ ดิจิทัล อีโคโนมี และเพิ่มขีดความสามารถให้องค์กร สังคม และประเทศ โดยปัจจุบันความต้องการบุคลากรด้านดิจิทัล ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะองค์กร หรือฝ่ายงานไอทีเท่านั้น แต่ถูกผสมผสานอยู่ในทุกสายงาน ทุกลำดับชั้น
การพัฒนาคนให้มี Digital Talent เป็นกุญแจสำคัญในวันที่ฤดูธุรกิจเปลี่ยนโฉม
เปลี่ยน “คน” ให้ได้ไปต่อ
เอไอเอส มีพนักงานรวม 13,141 คน อายุเฉลี่ยของพนักงานอยู่ 36 ปี ตลอดเวลาที่ผ่านมา เอไอเอส พยายามอย่างที่สุดเพื่อให้องค์กรมีความกระฉับกระเฉง และต้องเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดด้านต้นทุน ภาวะเศรษฐกิจ และโดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19
ท่ามกลางการบริหารงานทรัพยากรบุคคลขององค์กรทั่วโลกในสถานการณ์ภาพรวมขององค์ร และภาคธุรกิจยังคงเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ในประเด็นเรื่องการลดกำลังคน ที่อาจมองว่า เป็นเรื่องการลดขนาดธุรกิจแต่ที่ เอไอเอส พยายามหาสกิลใหม่เพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานให้พนักงานมากขึ้น ดังนั้น การปรับตัวของเอไอเอส จะเน้นเรื่องการเพิ่มสกิลเซ็ทใหม่ๆ ทั้งรีสกิลอัพสกิล ที่พนักงานยังขาด ยังไม่ได้มีความสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร ให้ทุกคนสามารถไปต่อได้กับสิ่งที่องค์กรจะเดินไปข้างหน้า
“กลยุทธ์การบริหารทรัพยากรบุคคล เมื่อบริบทของโลกเปลี่ยนทุกองค์กร รวมถึงเอไอเอสก็ปรับเปลี่ยน เพื่อให้การเคลื่อนตัวธุรกิจสามารถเดินหน้าไปได้ แต่เราจะไม่เปลี่ยน เพื่อให้เสียจุดแข็ง อดีตต้องเปลี่ยนเพื่อภาพที่วางไว้ว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต”
เคลื่อน “คน” ด้วยมายด์เซ็ท
จากพนักงานกว่าหมื่นคนของเอไอเอส จำนวนนี้ มี Gen Y มากถึง 61% รองลงมาคือ Gen X 25.5% Gen Z 12.5% และสุดท้ายคือ Baby Boomer 0.7% การขับเคลื่อนองค์กรที่หลอมหลวมคนจากต่างอายุจำนวนมาก ให้ทำงานร่วมกันได้ ในช่วงเปลี่ยนผ่านธุรกิจ ทั้งจากเทคโนโลยี สภาพสังคม และการเปลี่ยนของคน
การถ่ายทอดองค์กรความรู้จากคนรุ่นเก่ามาสู่คนทำงานยุคปัจจุบัน เธอ ยังมองว่า เป็นเรื่องที่ดีที่เกิดขึ้นเพื่อทำให้การทรานส์ฟอร์เมชั่นไม่ติดขัด แต่หากให้มองแล้ว คนรุ่นเก่าเป็นรุ่นที่ต้องมีการเสียสละ และต้องปรับตัวสูงกว่า จากที่แต่ก่อน ให้ระยะเวลางานเป็นเกณฑ์ตัดสินการเลื่อนขั้น แต่ปัจจุบัน ต้องนำเอาผลงานเป็นเกณฑ์การวัดหลักที่สำคัญ
การลดชื่อตำแหน่งออกจากนามบัตรให้เหลือน้อยลงทั้ง VP, SEVP, SVP, AVP เหลือเพียง Head of เท่านั้น วินาทีนั้น เราก็รู้ว่าคนรุ่นเก่าจำนวนไม่น้อยที่ใจหายเหมือนกัน แต่เมื่อการทำงานเปลี่ยนแปลงไป การทำงานเป็นไปแบบเข้าถึงได้เน้นความโปร่งใส และเราก็มองว่าการเปลี่ยนทัศนคติให้ทุกคนทำงานร่วมกันอย่างกลมกล่อมคือผลลัพธ์ของ Business Landscape ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
เฟ้นหา “คน” เก่งตัวจริง
นอกจากนี้ เอไอเอส ยังมุ่งมั่นเป็นศูนย์การผลิตคนที่มีศักยภาพคืนสู่สังคมคนเก่ง และคงสถานะเป็น Hub of People Excellence ที่เปิดโอกาสให้ได้แสดงความสามารถ และได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ สร้างคนให้พร้อมเปลี่ยนแปลง Unlearn และ Relearn เปิดรับโลกที่เต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ
อย่างไรก็ตาม ในยุคนี้การเฟ้นหาบุคลากร โดยเฉพาะในสายงานดิจิทัล จำเป็นต้องร่วมผนึกกำลังกับพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน ล่าสุด เอไอเอส ผนึกกำลัง 3 พันธมิตร Humanica Conicle และ ไทยคม เปิดตัว Digital Talent I The Masters ให้คนเก่ง บุคลากรที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถเลือกร่วมงานกับ 4 องค์กร
ภายใต้โครงการนี้ ในหลากหลายสายงาน เช่น Al, Blockchain, Data Analytic, Data Engineering, Data Scientist, UX / UI Designer, Cyber Security, Back-end Developer, Front-end Developer, Mobile Developer, System Analyst & Design
นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Digital Talent I The Bloom สร้างความได้เปรียบอย่างยั่งยืน ด้วยการบ่มเพาะนักศึกษาที่มีความสามารถตั้งชั้นปีที่ 3 เพื่อให้มีศักยภาพที่โดดเด่นในสายงานดิจิทัลเทคโนโลยีที่ตลาดแรงงานกำลังขาดแคลน เป็นแนวทางในการสร้างพนักงานที่เป็นกำลังสำคัญในอนาคตขององค์กรด้วย โดยทั้ง 2 โครงการจะเริ่มในเดือนหน้า และคาดหวังว่าจะมีผู้สมัครเข้ามาร่วมโครงการจำนวนมากด้วย