กลุ่มอิเล็กฯ มองปม ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ Big Issue ท้าทายโลกธุรกิจ
กลุ่มอิเล็กฯ มองปม “ภูมิรัฐศาสตร์” ปัญหาสุดท้าทายในโลกธุรกิจที่มีการแบ่งขั้ว และ Geopolitics กลายเป็น “The Big Challenge for business”
โฟกัสให้ตรงจุด อย่าหลงประเด็น
สัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เปิดมุมมองว่า ทางออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ท่ามกลางโลกที่มีความขัดแย้ง มีสิ่งสำคัญที่ต้องโฟกัสอยู่ 3 ประเด็นคือ ภาวะเงินเฟ้อ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อย่าไปหลงประเด็นกับสงครามชิปที่เกิดขึ้นหรือตลาดที่เป็นเทคโนโลยีระดับสูงมากจนเกินไป
ทั้งนี้ เนื่องจากจุดยืนของประเทศไทยไม่ใช่ซูเปอร์ไฮเทคแต่เป็นคอมโมดิตี้ มีจุดแข็งด้านความน่าเชื่อถือ ความสามารถในการปรับตัวจากวิกฤติ ภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนผ่าน สามารถอยู่รอดและเติบโตมาได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง
“ประเทศเราเล็กนิดเดียว ถ้าอยากจะคบหาทั้งสองขั้วไม่ต้องไปยุ่งกับซูเปอร์ไฮเทค เพราะเป็นเรื่องที่ยากมาก และหากต้องการดึงเม็ดเงินลงทุนในส่วนนี้เข้ามาต้องจ่ายเงินระดับพันล้านดอลลาร์ หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งผมไม่คิดว่าไทยจะไปอยู่ในจุดนั้นได้”
หากต้องการรักษาจุดแข็งและพันธมิตรต่างๆ ไว้ ให้โฟกัสอย่างตรงจุด ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่มีและสร้างการเติบโตในพื้นที่ของตัวเอง ควบคู่ไปกับการเตรียมการเพื่อรับมือกับปัญหาเงินเฟื้อและปูทางด้านความยั่งยืน
เข้าใจจุดแข็ง โตในพื้นที่ตัวเอง
โดยไทยต้องวางยุทธศาสตร์ประเทศให้ดี เข้าใจในจุดยืน โฟกัสกับจุดแข็งของตนเอง พร้อมๆ กับรักษาพาร์ทเนอร์ชิป และเล่นในตลาดระดับกลางที่สามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง ไม่ต้องไปใช้เงินทุนมากมาย ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและความขัดแย้ง
หากประเมินจาก 50 ปีที่ผ่านมา นับว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยเติบโตอย่างมาก มีศักยภาพด้านการส่งออกที่เป็นอันดับ 1 จำนวนแรงงานในซัพพลายเชนมีอยู่กว่า 8 แสนคน แต่ทั้งนี้ยังมีจุดอ่อนที่มักเดินไปข้างหน้าแบบไปทีละก้าวอย่างระมัดระวัง ซึ่งการทำแบบนี้จะช้าเกินไป ต้องก้าวให้ใหญ่ขึ้น ถี่ขึ้น บ่อยขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นให้ได้
ประเมินขณะนี้แม้ไทยมีภาพลักษณ์ที่ดี ทว่าในอีก 5-10 ปี ข้างหน้าอาจเป็นคนละโจทย์ ดังนั้นต้องมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่องความยั่งยืน มากกว่านั้นให้ความสำคัญเรื่องการเพิ่มศักยภาพ และความร่วมมือกันที่แข็งแรงมากขึ้นในฐานะพาร์ทเนอร์ชิปเชิงลึก รายใหญ่จับมือกับซัพพลายเออร์และเอสเอ็มอี เพราะทุกวันนี้ต่างฝ่ายต่างแยกกันอยู่ การแบ่งการแลกเปลี่ยนมีน้อย ใช้ชั้นเชิงทางธุรกิจเป็นตัวกำหนดเกมในการเล่น ซึ่งตรงนี้ภาครัฐอาจต้องเข้ามาช่วยด้วย
ไทยติดกับดัก 'การลงมือปฏิบัติ'
ขณะที่อีกประเด็นที่สำคัญ ต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ ทำให้คนไทยเก่งขึ้น โดยเฉพาะการเรียนรู้ในโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับธุรกิจใหม่ๆ และก้าวไปสู่พลังงานสีเขียวของอิเล็กทรอนิกส์
อย่างไรก็ตาม การดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศจำนวนมากต้องมองในภาพรวมด้วยว่าประเทศได้อะไร ซึ่งไม่ใช่เพียงการจ้างงาน ยอดการส่งออก การสร้างรายได้ แต่ควรต้องมองไปถึงการสร้างประโยชน์ไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ สร้างโอกาสจากการที่ไทยเป็นผู้ผลิตระดับเวิลด์คลาส มาตรฐานสูง และได้เรียนรู้มามากมากจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
ที่ผ่านมา ประเทศไทยคุยกันเรื่องยุทธ์ศาสตร์รวมถึงกลยุทธ์ไปไกลมาก ทว่ายังติดกับดักเรื่องการลงมือปฏิบัติ ทำอะไรแบบผิวเผินเกินไป และไม่มีการติดตามให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม