เอ็นที-กรมศุลฯ คิกออฟเนชั่นแนล ซิงเกิล วินโดวส์ เชื่อมข้อมูลนำเข้า-ส่งออก
จับมือกรมศุลฯ เปิดบริการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งแบบ G2G, B2G และ B2B มากกว่า 10 ล้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ต่อเดือน จำนวนผู้ประกอบการกว่า 15,000 ราย หน่วยงานภาครัฐ 34 หน่วยงาน และต่างประเทศผ่านการเชื่อมต่อกับอาเซียนด้วย
พันเอกสรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที พร้อมด้วยนายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดี กรมศุลกากร รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ร่วมแถลงข่าวการเปิดให้บริการระบบเนชั่นแนล ซิงเกิล วินโดวส์ หรือระบบกลางการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว เกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2548 ที่ให้กรมศุลกากรดำเนินการจัดตั้งระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของประเทศ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจด้านการนำเข้า ส่งออก นำผ่าน ซึ่งเอ็นทีรับหน้าที่เป็นองค์กรผู้ให้บริการระบบดังกล่าวของประเทศ
โดยเอ็นทีได้ต่อยอดการพัฒนาระบบให้เชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ มากขึ้นและเพิ่มประเภทข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่แลกเปลี่ยนกันผ่านระบบ โดยปัจจุบันเนชั่นแนล ซิงเกล วินโดวส์ ให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งแบบ G2G, B2G และ B2B มากกว่า 10 ล้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ต่อเดือน จำนวนผู้ประกอบการกว่า 15,000 ราย หน่วยงานภาครัฐ 34 หน่วยงาน และหน่วยงานต่างประเทศผ่านการเชื่อมต่อกับอาเซียนด้วย
พันเอกสรรพชัยย์ เปิดเผยว่าหลังจาก เอ็นทีได้ร่วมกับกรมศุลกากร และหน่วยงานต่างๆ พัฒนาระบบดังกล่าวใหม่ต่อยอดจากระบบเดิมที่พัฒนาโดยกรมศุลกากร และได้ทดลองให้บริการมากว่า 1 ปี ปัจจุบันเอ็นทีมีความพร้อมในการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ลดการใช้กระดาษ และลดขั้นตอนการติดต่อระหว่างหน่วยงาน หรือการขออนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐ โดยระบบใหม่มีประสิทธิภาพสูง และรองรับรูปแบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ใหม่เพิ่มขึ้น
เช่น คำขอใบอนุญาตยางพารา เอกสารใบรับรองสุขอนามัยพืชหรือ e-Phyto Certificate ใบขนสินค้าอาเซียน ACDD (ASEAN Customs Declaration Document) และหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ e-Form หรือ ATIGA (ASEAN Trade In Goods Agreement) เป็นต้น โดยเอ็นทีมีแผนที่จะขยายการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ ให้สามารถรองรับรูปแบบธุรกรรมได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับความง่ายในการประกอบธุรกิจ และสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565
นายพันธ์ทอง เสริมว่า จากเดิมที่กรมศุลกากรได้ออกแบบมาแล้วให้ดียิ่งขึ้น และตลอดระยะเวลา 1 ปีที่มีการทดลองใช้บริการระบบเต็มรูปแบบ พบว่าระบบดังกล่าวมีศักยภาพที่ดีเยี่ยม สามารถเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศให้สามารถบริการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวกับการนำเข้า ส่งออก นำผ่านจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้อย่างราบรื่นและขยายฐานข้อมูลเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นอย่างมาก
ซึ่งกรมศุลกากร หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การพัฒนาและการให้บริการระบบภายใต้การกำกับดูแลของกรมศุลกากร จะสามารถขยายขอบเขตการให้บริการให้รองรับทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ รวมไปถึงขยายการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลไปยังนอกภูมิภาคอาเซียน สอดคล้องตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งเป็นกลไกสำคัญเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์สามารถสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทที่เกี่ยวข้องต่อไป