อาสาสมัครดิจิทัลหมู่บ้าน เครื่องมือสร้างอาชีพชุมชนของ "สดช."
ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนระบบนิเวศในการเสร้างดิจิทัลอีโคโนมี ต้องเพิ่มความรู้ ทักษะ และยกระดับศักยภาพบุคคล ทั้งในกลุ่มประชากรทั่วไป ประชากรในพื้นที่ห่างไกล ผ่านการปั้นอาสาสมัครดิจิทัลหมู่บ้าน
ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนระบบนิเวศในการเสร้างดิจิทัลอีโคโนมี ต้องเพิ่มความรู้ ทักษะ และยกระดับศักยภาพบุคคล ทั้งในกลุ่มประชากรทั่วไป ประชากรในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจากตัวเลขการเติบโตของ Digital GDP ของไทยล่าสุดประจำปี 2564 ที่ภาพรวมอยู่ที่ 12.97% ขยายตัว 14.07% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยบวกจากการผลิตและบริการดิจิทัล สะท้อนถึงโอกาสการเติบโตใหม่ๆ
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. กล่าวว่า เพื่อตระหนักและให้ความสำคัญด้านดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยในการผลักดันเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ 2 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และ ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึงเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนระบบนิเวศที่ผลักดันเป้าหมายดังกล่าว ประกอบด้วย ศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 500 แห่ง และจะเพิ่มจำนวนขึ้นอีก 1,722 แห่ง ภายในปี 2570 รวมทั้ง การรับมอบนโยบายในการขับเคลื่อนการพัฒนาอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) จากสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดการส่งเสริมการพัฒนา อาสาสมัครดิจิทัล ในการเป็นบุคลากรกลางเชื่อมโยงเทคโนโลยีดิจิทัล โอกาสทางด้านดิจิทัล สิทธิสวัสดิการไปยังประชาชนในระดับพื้นที่ ที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึง และขาดความรู้ความเข้าใจ ให้นำไปสู่การช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น
ดังนั้น สดช.ได้ลงนามความร่วมมือร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมราชทัณฑ์ และ กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ประเทศไทย) ในการขยายผลการดำเนินการของอาสาสมัครดิจิทัล
ในการปฏิบัติภารกิจด้านดิจิทัลช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายจากทรัพยากรที่มี อาทิ หลักสูตรฝึกอบรม แพลตฟอร์ม แอปพลิเคชันอาสาสมัครดิจิทัล และเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัลในระดับพื้นที่ โดยดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) และพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับทักษะความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่ขับเคลื่อนกิจกรรมด้านดิจิทัล ในกลุ่มเป้าหมายระดับพื้นที่ อาทิ เจ้าหน้าที่ศูนย์ดิจิทัลชุมชน เด็กและเยาวชน ลูกเสือไซเบอร์ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เจ้าหน้าที่พัฒนาความรู้ของกรมราชทัณฑ์
นายภุชพงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือครั้งนี้ ได้วางเป้าหมายในการพัฒนาอาสาสมัครดิจิทัลประจำหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 คน ในปี 2567 และสร้างความเข้มแข็งของ อสด. ให้สามารถขยายผลการดำเนินการในการช่วยเหลือไปยังประชาชน รวมไม่น้อยกว่า 300,000 คน (สัดส่วน อสด. 1 คน ช่วยเหลือ 4 คน) เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาการขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลในพื้นที่การประยุกต์ใช้ดิจิทัลเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี ให้สอดรับกับเป้าหมายที่วางไว้ต่อไป