สถิติ Digital2023 เปรียบเทียบพฤติกรรม ใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยกับทั่วโลก
We are social เพื่งออกรายงาน “Digital 2023 Global Overview” เป็นการสรุปสถิติการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั่วโลก รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งอัตราการใช้อินเทอร์เน็ต อุปกรณ์ที่ผู้ใช้ใช้เพื่อเข้าถึงเนื้อหาและบริการดิจิทัล พฤติกรรมใช้อินเทอร์เน็ต การใช้สื่อสังคมออนไลน์
ข้อมูลปีนี้ที่น่าสนใจคือ แม้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกล่าสุดจะเพิ่มขึ้น 1.9% เป็น 5,158 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 64.4% ของประชากรทั้งโลก แต่ก็กลับพบว่าผู้คนโดยเฉลี่ยจะใช้เวลาเล่นอินเทอร์เน็ตน้อยกว่าปีก่อนถึง 4.8% กล่าวคือเฉลี่ยคนละ 6 ชั่วโมง 37 นาทีต่อวัน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเพราะสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้น ทำให้คนพิจารณาการเล่นออนไลน์ในสิ่งที่จำเป็นมากขึ้น
ในรายงานระบุว่าผู้คนทั่วโลกเข้าเว็บไซต์หรือเล่นแอปต่างๆ เพื่อพูดคุยหรือส่งข้อความหาเพื่อนสูงถึง94.8% ตามมาด้วยการใช้โซเชียลมีเดีย 94.6% และการค้นหาข้อมูล 81.8% อันดับที่สี่คือ การดูและสินค้าออนไลน์ 76% การค้นหาสถานที่หรือดูแผนที่ 55% การใช้อีเมล 48.9% การฟังเพลง 46.3% ติดตามข่าวสาร 41.4% การเล่นเกมส์ 34.3% และเพื่อการศึกษาเพียง 23.8%
แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ผู้คนก็ยังใช้เวลาในการโซเชียลมีเดียมากขึ้น 2% กล่าวคือเฉลี่ยคนละ 2 ชั่วโมง 31 นาทีต่อวัน ทั้งนี้พบว่าผู้คนโดยเฉลี่ยยังใช้เวลาในการเล่น TikTok และ Facebook มากขึ้นแต่พบว่าผู้คนโดยเฉลี่ยกลับใช้เวลาในการเล่นแพลตฟอร์มอย่าง Youtubeและ LINE น้อยลง
สำหรับประเทศไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 61.21ล้านคน คิดเป็นอัตราส่วน การใช้อินเทอร์เน็ตต่อประชากรทั้งหมดอยู่ที่ 85.3% ติดอันดับที่ 34 ของโลก แต่เราใช้เวลาในการเล่นอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยสูง ถึง 8 ชั่วโมง 06 นาทีต่อวันติดอันดับที่ 9 ของโลก โดยลดลงจากปีก่อนที่ใช้ถึง 9 ชั่วโมง 06 นาทีต่อวัน
ที่น่าสนใจอย่างมากก็คือ คนไทยติดอันดับที่ 4 ของโลกที่ใช้เวลาเฉลี่ยการเล่นอินเทอร์เน็ตจากมือถือที่ 5 ชั่วโมง 05 นาทีต่อวัน แต่ก็ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่อันดับ 2 ของโลกใช้เวลาเฉลี่ย 5 ชั่วโมง 28 นาทีต่อวันโดยที่ฟิลิปปินส์ยังครองเป็นอันดับหนึ่งของโลก ส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตจากเครื่องคอมพิวเตอร์คนไทยใช้เวลาเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 01 นาทีต่อวัน
ส่วนในด้านความเร็วของอินเทอร์เน็ตตามบ้านพบว่า อันดับโลกของประเทศไทยลดลงจากที่เคยติดอันดับสองลงมาอยู่ที่อันดับที่สี่ โดยมีความเร็ว 205.63 Mbps ส่วนสามอันดับแรกคือ ชิลี จีน และสิงคโปร์ ส่วนความเร็วของอินเทอร์เน็ตทางมือถือของประเทศไทยอยู่ที่ 37.85 Mbps ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 33.97 Mbps ไม่มากนัก
รายงาน Digital 2023 มีสถิติที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยที่มาจากการสอบถามข้อมูลผู้ช่วงอายุระหว่าง 16 -64 ปีทั่วโลก ของ GWI.com มีข้อมูลที่น่าสนใจในหลายเรื่อง เช่น
คนไทยติดอันดับสี่ของโลกในการเล่นวิดีโอเกมส์จากทุกอุปกรณ์ โดยมีจำนวน 94% ของจำนวนผู้สอบถามที่ใช้อินเทอร์เน็ต โดยอันดับหนึ่งคือประเทศฟิลิปปินส์ ตามด้วยอินโดนีเซียและเวียดนาม ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 81.9% ทั้งนี้ปีก่อนไทยอยู่อันดับสองของโลก
คนไทยใช้ QR Code ติดอันดับห้าของโลกจากการสแกนในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยมีอัตราผู้ใช้ต่อเดือนสูงถึง 54.1% ทั้งนี้สามอันดับแรกคือ ฮ่องกง ไต้หวัน และจีน ขณะทีค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 44.6%
คนไทยติดอันดับสี่ของโลกในการถือของเงินสกุลคริปโทฯ มีจำนวน 21.9% แต่ก็ตกลงมาจากปีก่อนซึ่งเราเคยอยู่ในอันดับที่หนึ่ง (จำนวน 20.1%)โดยสามอันดับแรกคือ ตุรเคีย อาร์เจนติน่า และฟิลิปปินส์ ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 11.9% แต่ทั้งนี้เราจะมีค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายเงินสกุลคริปโทฯ ต่อคนเพียง 73.81 ดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 135 ดอลลาร์ ขณะที่ประเทศที่จะมีการใช้จ่ายเงินสกุลคริปโทฯ ติดอันดับต้นๆ คือ สวิสเซอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ ที่มีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนมากกว่า 750 ดอลลาร์
คนไทยยังคงติดอันดับหนึ่งของโลกเป็นปีที่สองติดต่อกันในการซื้อสินค้าออนไลน์เป็นประจำทุกสัปดาห์โดยมีจำนวน 66.8% ของจำนวนผู้สอบถามที่ใช้อินเทอร์เน็ตนำหน้าประเทศอย่าง เกาหลีใต้ ตุรเคีย เม็กซิโก และชิลี ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 57.6% แต่เมื่อดูมูลค่าเฉลี่ยในการซื้อสินค้าทางอีคอมเมิรซ์แล้วมีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกมาก โดยมีมูลค่าเพียง 491 ดอลลาร์ เทียบกับค่าเฉลี่ย 873 ดอลลาร์
คนไทยติดอันดับหนึ่งของโลกคู่กับเกาหลีใต้ในการซื้อสินค้าสดหรือของชำออนไลน์ เช่น การสั่งสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ โดยมีจำนวน 45.2 % ของจำนวนผู้สอบถามที่ใช้อินเทอร์เน็ตนำหน้าประเทศอย่าง ตุรเคีย อินโดนีเซีย และเม็กซิโก ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 28.3%
คนไทยติดอันดับห้าของโลกในการชำระเงินผ่านมือถือ โดยมีจำนวน 33.5% ของจำนวนผู้สอบถามที่ใช้อินเทอร์เน็ต โดยมีไต้หวัน ฮ่องกง เดนมาร์ก และ ซาอุดิอาระเบียที่มีอันดับดีกว่าขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 25%
คนไทยมีการใช้ออนไลน์วิดีโอเพื่อการศึกษาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกโดยอยู่ที่ 32.7%% ติดอันดับที่ 39 ของโลก ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 43.4% โดยมี ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ และ อินโดนีเซีย ติดสี่อันดับแรกของโลก สะท้อนให้เห็นว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของเขายังเน้นไปในด้านการศึกษา
คนไทยให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้งานในทางที่ไม่เหมาะสมต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกมาก โดยอยู่ที่ 27.3%ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 32.9% สะท้อนให้เห็นว่าเรายังตระหนักในเรื่องของความข้อมูลส่วนบุคคลค่อนข้างต่ำ
ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านอินเทอร์เน็ตที่ค่อนข้างดี ประชาชนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น และมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ค่อนข้างสูง แต่ก็มีความน่าเป็นห่วงว่าคนไทยใช้เวลาเล่นอินเทอร์เน็ตและอยู่กับมือถือมากเกินไป สูงกว่าหลายประเทศในโลก และเน้นไปที่ความบันเทิง การเล่นเกมส์ มากกว่าการค้นข้อมูลด้านการศึกษา
ดังนั้นถ้าเราต้องการจะสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศทางด้านนี้ เราก็คงต้องหันมาจริงจังในการที่จะพัฒนาคนของเราให้ใช้ประโยชน์กับอินเทอร์เน็ต ในการทำงาน ค้นหาความรู้ที่มีประโยชน์ มากกว่าที่เน้นในด้านความบันเทิงมากจนเกินไป