เปิดใจ ‘ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ’ จาก ‘นักรบ’ สู่ ‘ผู้ค้าอาวุธ’ อีคอมเมิร์ซ

เปิดใจ ‘ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ’ จาก ‘นักรบ’ สู่ ‘ผู้ค้าอาวุธ’ อีคอมเมิร์ซ

รายการ SUITS ถอดสูตรความสำเร็จฉบับ CEO ของ “กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ "ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ" กรรมการผู้จัดการบริษัท ตลาด ดอท คอม กรุ๊ป จำกัด หนึ่งใน Pioneer คนแรกที่ปลุกสมรภูมิอีคอมเมิร์ซไทยให้เป็นที่รู้จัก เปิดมุมมอง คมคิด บทเรียน ความเจ็บปวดระหว่างทางของธุรกิจ

"ภาวุธ" เป็นหนึ่งใน Pioneer คนแรกที่ปลุกสมรภูมิอีคอมเมิร์ซไทยให้เป็นที่รู้จัก หนึ่งในแรงบันดาลใจของนักธุรกิจรุ่นใหม่ในโลกดิจิทัลที่กำลังเฟื่องฟู จากมุมมอง คมคิด บทเรียน ความเจ็บปวดระหว่างทางของธุรกิจ จนกลับขึ้นมาเป็นผู้สร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่ครบวงจร และพร้อมลุยทุกธุรกิจแห่งโลกอนาคต

ภาวุธ นับเป็นนักธุรกิจที่คร่ำหวอดในวงการอีคอมเมิร์ซตั้งแต่วันที่ประเทศยังไม่รู้จักการซื้อขายออนไลน์ เขา คือ หนึ่งในผู้บุกเบิก สร้างบริษัทจนมีมูลค่าแตะตานักลงทุนญี่ปุ่นเข้าซื้อกิจการ แต่สุดท้ายไปได้ไม่ไกล “ราคูเท็น” ทุนใหญ่เบอร์ 1 อีคอมเมิร์ซ   ญี่ปุ่นประกาศถอนลงทุนจาก ตลาด ดอท คอม

เปิดใจ ‘ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ’ จาก ‘นักรบ’ สู่ ‘ผู้ค้าอาวุธ’ อีคอมเมิร์ซ

วันนี้ เขามีมุมมองที่กร้าวแกร่งขึ้นในสมรภูมิดิจิทัลที่เปลี่ยนเร็ว แนวคิดที่แหลมคม ความไม่หยุดนิ่งที่จะทำอะไรใหม่ๆ

ภาวุธ บอกว่า วันนี้ธุรกิจออนไลน์ไปเร็วมาเร็ว ธุรกิจปกติอาจอยู่ได้ 20-30 ปี แต่ธุรกิจออนไลน์ ชีวิตหรือ cycle สั้นมาก เขาย้อนอดีตถึง ตลาด ดอท คอม เมื่อก่อนเป็นอีมาร์เก็ตเพลส ขายของออนไลน์ ระบบสร้างร้านค้าอีคอมเมิร์ซ เมื่อธุรกิจโตขึ้นเรื่อยๆ ก็ขายกิจการไป กลุ่มแรกที่ซื้อเป็น กลุ่มของ "พิชญ์ โพธารามิก" จากนั้นเขาก็ซื้อคืนกลับมา แล้วขายให้กลุ่มทุนญี่ปุ่น ราคูเท็น (Rakuten) ยักษ์อีคอมเมิร์ซจากเบอร์1จากแดนปลาดิบ

ย้อนตำนาน ‘ราคูเท็น’ถอนลงทุน

“ตอนที่ขายไป ผมยังถือหุ้นอยู่ประมาณ 30% มีเงินจากญี่ปุ่นมาลงหลายร้อยล้าน ตอนนั้นก็ทำแคมเปญใหญ่เลย แจกคูปองลดราคา แต่ก่อนไม่มี ลาซาด้า ช้อปปี้ เราก็ทำเต็มที่เลย ปรากฎตอนที่เรากำลังโตขึ้นไปเรื่อยๆ สักพัก ลาซาด้า ช้อปปี้มา เขาก็แจกคูปองลดราคากัน ส่วนเรามีพนักงาน 100 กว่าคน เขามีพนักงานพันคน ทำอีคอมเมิร์ซกับตลาดดอทคอม ต้องจ่ายค่าใช้จ่าย เพราะเราก็ต้องการรายได้ แต่ถ้าทำกับลาซาด้า ช้อปปี้ ไม่ต้องจ่ายอะไรเลย ญี่ปุ่นทำอยู่สักพัก ก็รู้สึกว่าไม่ไหว ทั้งที่เขาก็อัดฉีดให้เราสู้ในเรื่องของการตลาด”

สุดท้ายไม่สามารถต้านท้าน ทัพใหญ่ของกลุ่ม ลาซาด้า ช้อปปี้ได้ ตลาดดอทคอม อยู่กับกลุ่มทุนญี่ปุ่นประมาณ 6 ปี ก็ตัดสินใจปิดกิจการ แต่ “ภาวุธ” มองว่า ยังมีหนทางที่สู้ต่อได้ เขาซื้อตลาดดอทคอมกลับคืนมา ปรับโครงสร้างใหม่ ไม่เน้นไปที่อีมาร์เก็ตเพลสแล้ว เพราะต้องใช้เงินสูง ตลาดดอทคอมจึงปรับตัวเองเป็น “แพลตฟอร์ม” ให้คนเข้ามาขายของได้

“จากเดิมที่ต้องแข่งกับลาซาด้า ช้อปปี้ ตลาดดอทคอมก็ไปจับมือกับเขา เปลี่ยนคู่แข่งเป็นพันธมิตร ปรับตลาดดอทคอม เป็นแพลตฟอร์มที่ทุกคนขายของได้ จากตอนนั้นสมรภูมิอีคอมเมิร์ซมันดุขึ้น เลยเปลี่ยนตัวเองจากคนที่ไปรบ กลายมาเป็นคนขายอาวุธแทน การทำอีคอมเมิร์ซ ต้องใช้ระบบชำระเงิน ขนส่ง บิ๊กดาต้า เลยหันมาลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซหมดเลย เพราะศึกนี้มันใหญ่หลวงนัก เลยกลายมาเป็นพ่อค้าอาวุธให้บริการธุรกิจด้านดิจิทัลทั้งหลายส่งเสริมให้อีคอมเมิร์ซเมืองไทยโตมากขึ้น

หมัดต่อหมัด“ญี่ปุ่น vs จีน”

เจ็บแรกที่ต้องวัดหมัดต่อหมัดกับกลุ่มทุนอีคอมเมิร์ซจากจีนในตอนนั้น ภาวุธ ประเมินว่า มาจาก 2 ส่วนหลัก คือ ด้วยความที่เป็นญี่ปุ่น ประเทศที่เปะมาก ทุกอย่างจะมีขั้นตอน โยบายส่วนใหญ่มาจากบริษัทแม่ในญี่ปุ่น และเขาเชื่อว่าบิสิเนสโมเดลของเขาดีมาก ฉะนั้นพอมาที่ประเทศไทย หรือประเทศอื่น ก็น่าจะเวิร์ค ปรากฎว่า “มันไม่ใช่”

“สมรภูมิเมืองไทยมันต่างกัน คู่แข่ง อย่างลาซาด้า ช้อปปี้ เขาเปิดฟรี ซึ่งตอนนั้นผมก็บอกว่า เราควรจะปรับฟรีด้วย แล้วไปหารายได้อย่างอื่นแทน ซึ่งญี่ปุ่นไม่ยอมปรับ อย่างที่สอง คือ เงิน เรามีเป็นหลักร้อย เขามีเป็นหลักหมื่น เงินทุนต่างกันมากเลย แค่เงินทุนต่างกัน ทุกอย่างก็ต่างกันโดยสิ้นเชิงแล้ว”

ผู้กุมระบบนิเวศดิจิทัลครบวงจร

ปัจจุบัน ภาวุธ มีระบบนิเวศดิจิทัลที่ลงทุนผ่านบริษัทมากกว่า 40 บริษัท เริ่มต้นตั้งแต่ “การเรียนรู้” ทำหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นหลักสูตรด้านดิจิทัลสอนผู้บริหาร เรียนเสร็จก็เริ่มมา “ขาย” มีแพลตฟอร์มตลาดดอทคอม รวมถึงแพลตฟอร์มด้านอีคอมเมิร์ซที่ไปลงทุนไว้หลายที่ ทั้งในไทย มาเลเซีย และหลายๆ ประเทศ พอขายเสร็จก็เป็นเรื่อง “การจ่ายเงิน” เขาไปลงทุนทำบริษัทระบบชำระเงิน และล่าสุดที่เพิ่งทำล่าสุด คือ “คริปโททองคำ” สเตเบิลคอยน์

พอจ่ายเงินแล้ว ก็มี “ระบบขนส่ง” ภาวุธ เข้าไปลงทุนในบริษัท SHIPPOP มีรายได้ต่อปีหลักหลายร้อยล้านบาท พอส่งเสร็จก็ต้องมี “แวร์เฮ้าส์” มี “ระบบบัญชี” มีซอฟต์แวร์บัญชี ซอฟต์แวร์ด้านเอชอาร์ มีเฮลธ์เทค มีเรื่องบิ๊กดาต้า ด้านโซเชียลมีเดีย เก็บข้อมูลจากโซเชียลมีเดียมาวิเคราะห์ได้ มีบริษัทบิ๊กดาต้าด้านธุรกิจ เหล่านี้คือกลุ่มธุรกิจที่เขาเข้าไปลงทุนมีทั้งถือหุ้นบางส่วน และถือหุ้นใหญ่

“การทำธุรกิจตอนนี้ ผมมองว่าธุรกิจเข้าสู่ดิจิทัล เราจะทำแค่อย่างเดียวไม่ได้ ต้องลงทุนในหลายๆ ตัวให้มีความครบวงจร คือ บางตัวผมอาจไม่ได้ถือหุ้นใหญ่ แต่ทุกอย่างพอร้อยเรียงรวมกัน มันก็กลายเป็นภาพใหญ่ที่ครบวงจรได้”

ลงทุนบริษัทรุ่นใหม่ Young CEO

ธุรกิจที่ “ภาวุธ” เข้าไปลงทุน ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซีอีโอ อายุระหว่าง 20-30-40 ปี ดังนั้นข้อดี คือ กลุ่มคนเหล่านี้พร้อมเปิดสมองรับความเปลี่ยนแปลง ธุรกิจบางธุรกิจเขาปั้นคนรุ่นใหม่ขึ้นมา จนกลายเป็นเจ้าของบริษัทที่มียอดขายกว่า 500 ล้านบาทมีบริษัทที่มาเลเซีย

“เราต้องปั้นเด็กขึ้นมา แล้วเด็กรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้มีทักษะดี มีพื้นฐานด้านดิจิทัล เทคโนโลยี ดังนั้นเวลาเราเสริมอะไรใหม่ๆเข้าไป มันทำให้ธุรกิจเขาโตได้เร็วมากขึ้น การทำธุรกิจสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนต้องมีโลเคชั่น ต้องลงทุนเยอะๆ กว่าจะโตได้ แต่ตอนนี้ไม่ต้อง บางบริษัทผมลงทุนไป 3 แสนบาท ทุกวันนี้มูลค่าเป็นพันล้านนี่คือ 5 ปีเท่านั้น ตอนนี้เด็กอายุ 30 ที่รันธุรกิจตัวนี้อยู่”

พิสูจน์ได้ว่า สตาร์ทอัพในไทย หากมีคนโค้ชดี ไม่ได้แค่เฉพาะเอาเงินไปให้ลงทุน แต่การมาร่วมระดมไอเดีย ปรับวิธีทำธุรกิจร่วมกันอย่างต่อเนื่อง สตาร์ทอัพก็ไปรอดได้

“เมื่อพูดถึงสตาร์ทอัพในไทย ส่วนภาครัฐเองมีการปรับตัวเร็วมาก โดยเฉพาะกฎหมายด้านเทคโนโลยี ซึ่งตอนนี้รอบๆตัว เราดิจิทัลมาเยอะมาก และกฎหมายต่างๆ ก็มาพร้อม เช่น พร้อมเพย์ที่เราโอนกันอยู่ทุกวันนี้ นั่นคือ ส่วนหนึ่งของภาครัฐ ตอนโควิดถ้าไม่มีพร้อมเพย์ คงลำบากมาก กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการเซ็นเอกสาร กฏหมายเกี่ยวกับสตาร์ทอัพ ต้องบอกว่า รัฐพยายามที่จะปรับตัวเองตาม แต่จริงๆ ปรับอย่างไรก็ไม่ทัน เพราะมันเร็วมาก แต่ถ้าเปรียบเทียบไทย กับประเทศอื่นๆ ไทยยังดีกว่าประเทศ อื่นๆ เราดีกว่า สิงคโปร์ พร้อมเพย์เรามาก่อน กฎหมายลายเซ็น กฎหมายคริปโท เราล้วนแต่นำประเทศอื่น ดังนั้นก็ต้องให้เครดิตรัฐเขาด้วยเหมือนกัน”

โควิด พลิกดิจิทัลประเทศไทย

ธุรกิจที่กำลังมาแรงในยุคนี้ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับช่องทางออนไลน์​ ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจโลจิสติกส์ การโฆษณาออนไลน์ ยิ่งหลังโควิด 19 พฤติกรรมและธุรกรรมของผู้บริโภค ย้ายไปอยู่บนโลกออนไลน์ ภาวุธ บอกว่า โควิดที่ผ่านมา เปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยมาก

"เรามีพร้อมเพย์​ มีคิวอาร์โค้ด รัฐบาลประกาศให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งบอกได้เลยว่าไทยเป็นผู้นำระดับโลก พอมีโควิด คนเริ่มหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ รัฐบาลมีโครงการคนละครึ่ง แจกเงินคนละ 5 พันบาท ไม่น่าเชื่อว่า แม่ค้าต่างๆ ก็หันมา พยายามจะลงแอป เพื่อเอาเงิน 5 พันบาทของรัฐ ขณะที่ร้านอาหาร รับจ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ด ทุกอย่างเปลี่ยนไปเร็วมาก พอจ่ายเงินง่าย ทุกอย่างดิจิทัลหมด ลาซาด้า ช้อปปี้ โหมเงินเข้ามา คนไทยกระโดดเข้าออนไลน์ สมาร์ทโฟนจอใหญ่ราคาถูก อินเทอร์เน็ตราคาถูก ทุกอย่างพร้อม ประเทศไทยเลยเปลี่ยนไปมากเลยทีเดียว”

เชื่อ “เงินดิจิทัล” เกิด คริปโทกลับมา

ภาวุธ ยังเชื่อด้วยว่า "เงินดิจิทัล" เป็นอีกเรื่องที่มาแน่ เหมือนอย่างที่จีนปัจจุบันมี “ดิจิทัลหยวน” ในประเทศไทย “ดิจิทัลบาท” กำลังออกมา เขาเชื่อว่าต่อไป ประเทศไทยจะเป็นดันอับต้นๆ ของโลกที่จะมีการใช้ดิจิทัลบาท

“ต่อไปโลกการเงิน จะแบ่งเป็น 2 ฟาก ฟากที่มีรัฐกำกับ กับฟากที่เปิดสาธารณะ มันจะกลายเป็น 2 โลกชัดเจน ความเสี่ยงยังมี และเชื่อว่า ตลาดคริปโท กลับมาแน่”

จากระบบนิเวศดิจิทัลที่ “ภาวุธ” ลงทุนอยู่นับกว่า 40 บริษัทนั้น เขาให้น้ำหนักบริษัทที่ถือหุ้นใหญ่ เช่น เพย์เม้นท์ บริษัท เพย์ โซลูชั่น และบริษัทที่ทำบิ๊กดาต้า ครีเดน และตอนนี้กำลังทำธุรกิจคริปโท และหลักสูตรที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม

ภาวุธ ให้ข้อคิดว่า การลงทุนทำธุรกิจ หากมองว่า ธุรกิจไหนไปไม่รอดต้อง “หยุด” ปรับแล้วแต่ตลาดไม่รับ ไปไม่ได้จริงๆ ต้องปิดแล้วก็ไปต่อ โดยจะดูในเรื่องของ growth เป็นหลัก ซึ่งพร้อมที่จะใส่เงินเพิ่ม ดังนั้นธุรกิจส่วนใหญ่ ที่เขายังถือหุ้น ยังเป็นธุรกิจที่มีอนาคต

 painpoint และกำไรในชีวิต

เมื่อถามถึง painpoint ตลอดชีวิตการทำงาน ที่สร้างความเจ็บปวด และตราตรึงในหัวใจของผู้ชายชื่อ “ภาวุธ” และสามารถก้าวข้ามผ่านมาได้

“ผมทำบริษัทแรก คือ ตลาดดอทคอม แล้วเรายึดติดมาก มันคือสิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้เรา ตอนนั้นขายตลาดดอทคอมได้เป็นร้อยล้าน ไม่เคยคิดว่าจะได้กำเงินร้อยล้านในมือ แล้วสุดท้าย วันหนึ่งก็ทำงานกับญี่ปุ่น ทำงานด้วยกันไม่ได้ ทะเลาะกัน คือ มันคนละสไตล์ ทะเลาะถึงขั้นตบโต๊ะ แต่สุดท้ายเราก็เคลียร์กันได้ พอธุรกิจมันเริ่มลง ก็คิดทำไมเราเอาขึ้นไม่ได้ คู่แข่งก็ใช้เงินเยอะจังเลย สุดท้ายก็ต้องทำใจ และมองไปข้างหน้า อันนี้มันคือแค่อันนึง เรายังสามารถสร้างอันอื่น จนตอนหลังข้อดี คือ พอผมวางลงได้ เราสร้างอะไรได้อีกเพียบ เพราะถ้าเรายังยึดติดว่านี่เป็นความสำเร็จเรา เราจะมูฟออนไม่ได้ แต่พอมูฟออนได้ เราสร้างอะไรให้กับประเทศเยอะเลย”

ภาวุธ บอกว่า จนถึงวันนี้ เขาไม่รู้สึกว่าเสียอะไรไปในตลอดชีวิตของการทำงาน แต่เขากลับเรียกมันว่าความ enjoy เป็นการ enjoy กับการสร้างธุรกิจขึ้นมา สิ่งที่เสียไป อาจจะเป็นเวลาที่หายไปเยอะ แต่สิ่งที่ได้กลับมา เช่น เวลาเห็นพ่อค้าแม่ค้าขายออนไลน์ ยอดขายเติบโต จะรู้สึกแฮปปี้ กับการที่ใช้เวลาในการสร้างสิ่งหนึ่งขึ้นมา ที่สำคัญมันทำให้เศรษฐกิจประเทศดีขึ้นด้วย ทำให้คนที่หันมาใช้ดิจิทัลชีวิตดีขึ้นเยอะ

“มันคุ้มค่ากับสิ่งที่เราใช้เวลาไป สิ่งที่ผมคิดต่อ คือ อยากตั้งเป็นกองทุนขึ้นมา เพื่อไปช่วยน้องๆ บริษัทเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เขาเติบโตมากขึ้น”