ปม 'ซัพพลายเชน’ กระทบอุตฯไอที 'แอดไวซ์' ปรับแผนรับโลกเปลี่ยน
‘กรุงเทพธุรกิจ’ สัมภาษณ์พิเศษ "จักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาดบริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด (มหาชน) ผู้ค้าไอทีรายใหญ่ในประเทศไทย ถึงภาพรวม สถานการณ์ ตลาดไอที และปัญหาซัพพลายเชน
การ์ทเนอร์ เปิดตัวเลขเมื่อเร็วๆ นี้ บอกว่า มูลค่าใช้จ่ายด้านไอทีทั่วโลกในปี 2566 จะเติบโตเพิ่ม 2.4% จากปี 2565 คิดเป็นมูลค่ารวม 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจาก 5.1% เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ของไตรมาสที่แล้ว ขณะที่ “เงินเฟ้อ” ยังตัดกำลังซื้อของผู้บริโภคและส่งผลให้การใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ไอทีเติบโตลดลง แต่คาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายไอทีขององค์กรในภาพรวมจะยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ที่ส่วนใน “ไทย” แนวโน้มคงไม่ต่างไปจากทั่วโลกมากนัก หากยังได้อานิสงส์ การบริโภคสินค้าไอทีที่เร็วขึ้น ด้วยรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปในสถานการณ์โควิด แน่นอนว่า "อุปกรณ์ไอที" มีบทบาทสำคัญ ที่เข้ามาตอบโจทย์พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป
‘กรุงเทพธุรกิจ’ สัมภาษณ์พิเศษ "จักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาดบริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด (มหาชน) ผู้ค้าไอทีรายใหญ่ในประเทศไทย เปิดเผยว่า
"สถานการณ์ ภาพรวมตลาดไอที รวมถึงแอสเซสซอรีนับจากนี้ ภาพรวมตลาดยังคงมีการเติบโต แม้ตัวเลขจะไม่สูงมากเมื่อเทียบกับช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ซัพพลายเพิ่มขึ้นจากปกติไม่มาก ในขณะเดียวกันดีมานด์เริ่มมีการชะลอตัวจากกลุ่มผู้บริโภคที่ได้รับแรงกระตุ้นให้ บริโภคสินค้าไอทีเร็วขึ้นด้วยรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปในสถานการณ์โควิด ซึ่งอุปกรณ์ไอทีมีบทบาทสำคัญ ที่เข้ามาตอบโจทย์พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคอย่างมาก"
แอดไวซ์‘ปรับ’-‘เกมมิ่ง’แรง
จักรกฤช บอกว่า ปีนี้ นอกจากบริษัทจะโฟกัสการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดกับกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปแล้ว ยังเริ่มรุกตลาดกลุ่มลูกค้าองค์กรธุรกิจมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาพรวมในประเทศ
สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ตลาดกลุ่มองค์กร มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก จากการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับข้อมูลจากการ์ทเนอร์ ที่คาดการณ์ว่ายอดการใช้จ่ายด้านไอทีของประเทศไทยในปี 2566 จะสูงแตะ 934.9 พันล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 4.2% จากปี 2565 ในกลุ่มซอฟต์แวร์และกลุ่มบริการด้านไอทีจะเติบโต ระดับเลขสองหลัก เนื่องจากองค์กรต่าง ๆ เพิ่มการใช้จ่ายกับโครงการดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม แอดไวซ์ ยังมองว่า ตลาดคอนซูเมอร์ ยังคงเติบโตขึ้นจากสินค้าที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าทุกกลุ่ม โดยสิ่งที่น่าสนใจสำหรับปัจจุบันนี้คือกลุ่ม Gen Z และ Alpha ที่เริ่มมีการใช้งานอุปกรณ์ ไอทีมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การเรียนรู้ที่โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่กลุ่มเหล่านี้ยังเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนของตลาดที่น่าสนใจ
"นอกเหนือจากการใช้ดีไวซ์ ที่สถานศึกษา ยังมีการใช้ดีไวซ์ ส่วนตัวที่บ้านเพื่อการเรียนรู้และเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ที่ทำให้กลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้มองในมุมของการใช้งานที่ครบถ้วน และ ยอมที่จะจ่ายเงินกับสินค้าระดับไฮเอ็นด์ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ประกอบ (DIY), เกมมิ่ง โน๊ตบุ๊ค และเกมมิ่งเกียร์"
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก We Are Social ระบุว่า คนไทยเล่นเกมเป็นอันดับ 4 ของโลก คิดเป็น 92.3% จากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต และยังใช้เวลาเป็นอันดับ 2 ของโลกในการเล่นเกมผ่านคอนโซล อยู่ที่ 1.43 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งจากข้อมูลทั้งหมดนี้ทำให้ตลาดสินค้าเกมมิ่งเหล่านี้ยังคงมีอนาคตที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
"อีกกลุ่มสินค้าที่น่าจับตามองก็จะเป็นกลุ่มสินค้าอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IOT) ด้วยเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตที่ต้องการความสะดวกสบายของผู้บริโภค ทำให้ตลาดไอโอที ยังสามารถเติบโตได้อีกในอนาคต"
มองปัญหาใหญ่‘ซัพพลายเชน’
หนึ่งในปัญหาใหญ่ในช่วงนี้ คือ เรื่อง “ซัพพลายเชน” ปัญหาการขาดแคลนชิป ที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไอทีเป็นอย่างมาก “จักรกฤช” มองเรื่องนี้ว่า
"ปัญหา ซัพพลายเชน และการขาดแคลนชิป ช่วงโควิดที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรม ทั้งในกลุ่มของเซมิคอนดัคเตอร์ หรือกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งต้องใช้เวลาในการที่จะกลับมาสู่สภาวะปกติ แต่ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มกลับสู่สภาวะปกติ ผู้ผลิตในทุกอุตสาหกรรมเริ่มเดินหน้าในการผลิตอย่างเต็มที่เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ออกสู่ตลาด"
ขณะที่ การปรับตัวของแอดไวซ์ในช่วงนี้ นอกจากเรื่องการจัดกลยุทธ์ด้านราคาเพื่อส่งเสริมการขาย ยังมองเรื่องของการขยายช่องทางการให้บริการลูกค้าเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างการเข้าถึงสินค้าไอที ด้วยการขยายสาขาให้ครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น
ล่าสุด “แอดไวซ์” ได้เปิดแฟลกชิปสโตร์แห่งแรกใจกลางเมืองขอนแก่น ที่เป็นศูนย์รวมสินค้าและบริการให้ลูกค้าแบบครบวงจร (One-Stop Service) และเป็นพื้นที่สำหรับคนไอทีในฐานะ ไอที คอมมูนิตี้ ที่ใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน มุ่งหวังเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับการเข้าถึงเทคโนโลยีให้กับผู้บริโภคในทุกพื้นที่
ปมภูมิรัฐศาสตร์ดันต้นทุนสินค้า
อย่างไรก็ตาม “จักรกฤช” ยังมอง ประเด็น Geopolitics หรือปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่มีปมขัดแย้งจนเรียกได้ว่า Tech War ด้วยว่า ด้วยสถานการณ์ที่ยังคงไม่มีความชัดเจน อาจส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนและอุตสาหกรรมปลายน้ำที่จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ในการผลิต อาจจะทำให้ราคาสินค้ามีราคาปรับตัวสูงขึ้นอีกหรือไม่นั้น ยังไม่ชัดเจนขนาดนั้น
“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนและส่งผลกระทบต่อธุรกิจในขณะนี้คือเรื่องของราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น และความผันผวนของอัตราการแลกเปลี่ยนที่ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าปรับเพิ่มขึ้น”