‘หัวเว่ย’ เปิดเวที ‘โมบาย เวิลด์ คองเกรส’ ก้าวย่างที่ฉับไวสู่ ‘โลกอัจฉริยะ’
โลกแห่งความจริงและโลกดิจิทัลเริ่มเข้าใกล้ขึ้นทุกขณะ โลกอัจฉริยะจะถูกผนวกรวมเข้ากับโลกทางกายภาพอย่างลุ่มลึก ทั้งความบันเทิงส่วนตัว งาน และการผลิตเชิงอุตสาหกรรม
‘หัวเว่ย’ ประกาศกลางเวที “โมบาย เวิลด์ คองเกรส บาเซโลน่า” หนุนทั่วโลกมุ่งหน้าสู่บรอดแบนด์ความเร็วสูง ชี้ 5จี เปิดประตูสู่โลกอัจฉริยะ กำลังก้าวกระโดดสู่ 5.5 จี ย้ำอุตสาหกรรมนี้ ต้องทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งหน้าไปสู่โลกบรอดแบนด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
‘หลี่ เผิง’ ประธานกลุ่มธุรกิจแคร์ริเออร์ของหัวเว่ย ปาฐกถาในการประชุม เดย์ ซีโร ฟอรัม (Day0Forum) ในงานโมบายเวิลด์ คองเกรส (MWC Barcelona) ประจำปี 2566 เกี่ยวกับวิธีการที่ 5จี เข้ามาเปิดประตูสู่โลกอัจฉริยะ และการก้าวกระโดดไปสู่ 5.5จี จะเป็นหมุดหมายสำคัญในการเดินทางจากนี้
การเปลี่ยนแปลงดิจิทัล “ชัดขึ้น”
"โลกความจริงและโลกดิจิทัลเริ่มเข้าใกล้ขึ้นทุกขณะ เมื่อผลการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอัจฉริยะเริ่มชัดเจนขึ้นในที่ทำงาน ที่บ้าน และชีวิตส่วนตัวเรา ผู้ให้บริการหลายรายตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ในด้านต่างๆ ทั้งประสบการณ์คุณภาพสูงขึ้น และผลผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งช่วยผลักดันอุตสาหกรรมไอซีที (ICT)ให้ก้าวต่อไปข้างหน้า
การเชื่อมต่อ คือกุญแจสำคัญสู่การพัฒนา 5จีให้รุ่งโรจน์"
นับถึงปลายปี 2565 มีเครือข่าย 5จี มากกว่า 230 เครือข่ายให้บริการในเชิงพาณิชย์ ซึ่งรองรับผู้ใช้งาน 5จี มากกว่า 1 พันล้านราย ตลอดจนอุปกรณ์ 5จี จำนวนมาก และ 5จี ได้ผลักดันการพัฒนาอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมไอซีที ในส่วนของตลาดผู้บริโภคนั้น ผู้ให้บริการต่าง ๆ ได้สร้างสรรค์แนวคิดแบบ“การเชื่อมต่อ+”(Connectivity+) ขึ้น
ขณะที่ศักยภาพของ 5จี พัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง บรรดาผู้ให้บริการชั้นนำในยุโรป เอเชียแปซิฟิก และตะวันออกกลางได้พยายามพัฒนาบริการดิจิทัลประเภทต่าง ๆ ขึ้น ผู้ให้บริการบางเจ้าได้ผสมผสานการเชื่อมต่อเข้ากับบริการสื่อผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT)ในท้องถิ่น ซึ่งเปิดโอกาสให้พวกเขาแบ่งปันความสำเร็จร่วมกันได้ บริการลักษณะนี้รวมการเชื่อมต่อกับบริการต่างๆ เช่น โซเชียลมีเดีย ช่วยให้พวกเขาเติบโตไปสู่อีกขั้นของการเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลที่ครบจบในที่เดียว
นอกจากนี้ ตลาดครัวเรือนยังกลายเป็นพื้นที่ ที่ผู้ให้บริการสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เมื่อ 5จี และการแผ่ขยายของเครือข่ายไฟเบอร์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ให้บริการจึงขยาย “การเชื่อมต่อ+” เพื่อให้ได้ประสบการณ์ที่ดีขึ้น บริการที่ดีขึ้น และการดำเนินการและดูแลรักษา (O&M)ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น บริการบรอดแบนด์ภายในบ้านระดับพรีเมียม เช่น 5จี FWA และ 10G PON ได้ขยายตัวเร็วกว่าที่คาด ช่วยให้ผู้ให้บริการในภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงยุโรปและตะวันออกกลางเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้งาน (ARPU)ได้ตั้งแต่ 30% ไปจนถึง 60%
5จี คลาวด์ เอไอ ขับเคลื่อน
เทคโนโลยีที่ใช้งานทั่วไป เช่น 5จี เอไอ และการประมวลผลคลาวด์ กำลังขับเคลื่อนการใช้นวัตกรรมดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม และนำมาซึ่งโอกาสเชิงกลยุทธ์ใหม่ๆ ลูกค้าในระดับองค์กรมีความต้องการที่หลากหลายขึ้น ผู้ให้บริการจึงจำเป็นต้องส่งเสริม “การเชื่อมต่อ+” โดยผู้ให้บริการรายหนึ่งของจีนได้ผสมผสานการเชื่อมต่อเข้ากับระบบคลาวด์, เอไอ,การรักษาความปลอดภัย และบริการแพลตฟอร์มเพื่อขยายสู่ตลาดใหม่ ๆ และเพิ่มรายได้จากการเปลี่ยนอุตสาหกรรมให้เป็นดิจิทัลได้มากกว่า 20% ในปี 2565
ในอนาคต ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม จะเดินหน้าพัฒนาขีดความสามารถด้านเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่การันตีได้มากขึ้น ดังนั้น ผู้ให้บริการ จึงผลักดันให้ “การเชื่อมต่อ+” เปิดกว้างมากขึ้น
"หัวเว่ยได้เข้าร่วมโครงการคามารา (CAMARA) นำโดยสมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) ในโครงการนี้ เรามุ่งเป้าที่จะช่วยผู้ให้บริการเครือข่ายพลิกโฉมเครือข่ายสู่แพลตฟอร์มที่เปิดใช้บริการ และสร้างรายได้จากประสบการณ์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ก้าวอย่างรวดเร็วสู่โลกอัลตราบรอดแบนด์อัจฉริยะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม"
นายหลี่ บอกว่า โลกอัจฉริยะจะถูกผนวกรวมเข้ากับโลกทางกายภาพอย่างลุ่มลึก ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งความบันเทิงส่วนตัว งาน และการผลิตเชิงอุตสาหกรรม จะเชื่อมต่อกันอย่างอัจฉริยะ ซึ่งหมายความว่า เครือข่ายจะต้องพัฒนาจากกิกะบิต (Gbps)ที่มีอยู่ในทุกที่สู่10กิกะบิตที่มีอยู่ในทุกที่ การเชื่อมต่อและการตรวจจับจะถูกผนวกรวมเช่นกัน และอุตสาหกรรมไอซีทีจะต้องเปลี่ยนจุดสนใจจากการใช้พลังงานเป็นการประหยัดพลังงาน
จาก 5จี สู่ 5.5จี กุญแจสำคัญ
การพัฒนาจาก 5จี มาสู่ 5.5จี จะเป็นกุญแจสำคัญในการตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ หัวเว่ยพร้อมร่วมงานกับพันธมิตรภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งมอบประสบการณ์ 10 กิกะบิตที่มีอยู่ในทุกที่ ด้วยเทคโนโลยีไร้สาย ออปติก และ IP ที่เปี่ยมนวัตกรรม ตลอดจนสำรวจกรณีการใช้งาน เช่น การทำงานร่วมกันระหว่างยานพาหนะกับถนน และการตรวจสอบสภาพแวดล้อมเพื่อบูรณาการการตรวจจับและการสื่อสาร และสร้างระบบตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพพลังงานแบบครบวงจร เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ในปี 2565 ITU-T ได้เปิดตัว NCIe อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นมาตรฐานตัวชี้วัด ความเข้มการปล่อยคาร์บอนในเครือข่าย ผู้ให้บริการชั้นนำในจีนและยุโรปได้ตรวจสอบตัวชี้วัดประสิทธิภาพพลังงานแบบหลายมิติใหม่นี้บนเครือข่ายที่ใช้งานจริง และปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานขึ้นได้ถึง 20% ถึง 50%