ทัศนคติทางดิจิทัล (Digital Mindset) กับการเปลี่ยนสู่ “โลกดิจิทัล”

ทัศนคติทางดิจิทัล (Digital Mindset) กับการเปลี่ยนสู่ “โลกดิจิทัล”

ผมเกิดในยุคอนาล็อก ที่ยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ไม่มีอินเทอร์เน็ต และไม่มีโทรศัพท์มือถือ แต่ทุกวันนี้ผมได้กลายเป็นผู้อพยพเข้าสู่โลกดิจิทัลเกือบแทบทุกอย่างแล้ว

ผมเกิดในยุคของโลกอนาล็อก ที่ยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ไม่มีอินเทอร์เน็ต และไม่มีโทรศัพท์มือถือ แต่ทุกวันนี้ผมได้กลายเป็นผู้อพยพเข้าสู่โลกดิจิทัลเกือบแทบทุกอย่างแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผมทำงานอยู่กับเทคโนโลยีไอที จึงทำให้ตัวเองเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาใช้เทคโนโลยีใหม่อยู่เสมอ

ผมมักจะบอกกับคนอยู่เสมอว่า ผมไม่มีโต๊ะทำงานประจำในที่ทำงานมาสิบกว่าปีแล้ว และคุ้นเคยกับการเป็นคนที่ไม่พยายามเก็บเอกสารต่างๆ แต่ชอบที่จะรับไฟล์เอกสารที่สามารถเก็บบนคลาวด์ซึ่งจะค้นหาได้ง่าย และเหมาะกับผู้บริหารที่ต้องเดินทาง หรือประชุม หรือทำงานในหลายองค์กรมากกว่า

 

ผมไม่ได้ซื้อหนังสือพิมพ์ที่เป็นฉบับกระดาษมาอ่านเกือบยี่สิบปีแล้ว แม้แต่หนังสือพิมพ์ที่ท่านกำลังอ่านคอลัมน์ที่ผมเขียนในขณะนี้ ผมก็อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันในรูปแบบดิจิทัล และคงไม่แปลกใจถ้าจะบอกว่าผมไม่ค่อยได้ดูทีวีช่องปกติ ที่บ้านไม่มีเคเบิลทีวี หรือจานดาวเทียม แต่ผมจะเลือกดูทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต แม้แต่ช่องปกติผมก็ดูผ่าน YouTube หรือผ่านช่องสตรีมมิ่งต่างๆ

ผมใช้อินเทอร์เน็ตแบงก์กิงและโมบายแบงกิงมามากกว่ายี่สิบปี และพยายามทำธุรกรรมการเงินที่สาขาให้น้อยที่สุด เลือกไปเฉพาะสิ่งที่จำเป็น ยิ่งช่วงหลังการชำระเงินออนไลน์สะดวกขึ้น ทำให้ผมก้าวข้ามไปอีกขั้น คือ แทบไม่ได้ใช้จ่ายเงินสดแบบเดิมเลย เดือนหนึ่งอาจมีเพียงแค่ไม่ถึงสิบครั้งที่ต้องใช้เงินสด เพราะทุกอย่างชำระออนไลน์ได้หลายช่องทาง

ล่าสุดกรมการปกครองทำบัตรประชาชนดิจิทัล ทำให้ผมทำธุรกรรมออนไลน์ได้อีกหลายอย่าง ตั้งแต่คัดสำเนาทะเบียนบ้าน หรือแม้แต่ต้นปีผมก็เพิ่งย้ายทะเบียนบ้านด้วยตัวเองผ่านแอปของกรมการปกครอง โดยไม่ต้องไปที่สำนักเขต และข้อสำคัญผมสามารถใช้บัตรประชาชนดิจิทัลยืนยันตัวตนได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ

ในแต่ละวันผมเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ วันหนึ่งผมลืมกระเป๋าสตางค์แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคใดๆ ต่อการใช้ชีวิตในวันนั้น ทำให้ผมเริ่มถามตัวเองว่า ทำไมยังต้องพกกระเป๋าเงินอยู่ทั้งๆ ที่แทบไม่ได้ใช้เลย

แม้โลกจะเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรายังต้องพบปะผู้คนจำนวนมากในการทำงานที่ยังมีวิธีคิดแบบอนาล็อก แต่ที่น่าแปลกใจคือ ผมประชุมออนไลน์แต่บางหน่วยงานยังส่งหนังสือประชุมเป็นจดหมายและบอกลิงก์การประชุมในจดหมาย แทนที่จะส่งอีเมลหรือข้อความมาแจ้งลิงก์ การประชุมออนไลน์

ในบางครั้งผู้จัดประชุมส่งเอกสารเป็นกระดาษมาให้ คงลืมไปว่าผู้ประชุมออนไลน์ไม่ได้รับเอกสาร หรือบ่อยครั้งที่ผมพบกับการปฏิเสธการรับเอกสารดิจิทัล ต้องให้พิมพ์เอกสารกระดาษมา มีกระทั่งปฎิเสธการใช้บัตรประชาชนดิจิทัล จากเจ้าหน้าที่ซึ่งบอกว่าไม่รู้ว่าใช้ได้ไหม บางกรณีปฎิเสธการรับชำระเงินในรูปแบบดิจิทัล

แม้กระทั่งการลงนามที่ผู้บริหารควรต้องใช้ลายเซ็นต์ดิจิทัล เพื่อส่งเป็นอีเมลออกไป แต่เลือกให้ลูกน้องพิมพ์เอกสารออกมาให้เซ็นต์แล้วค่อยให้ลูกน้องสแกนเอกสารส่งกลับไป หรือผู้บริหารบางคนที่พยายามบอกว่าจะเน้นให้หน่วยงานลดการใช้เอกสาร ให้ทุกฝ่ายส่งเอกสารแบบออนไลน์ทั้งหมด แต่พอถึงขั้นสุดท้ายมาถึงตัวเองกลับให้เลขาฯพิมพ์มาให้อ่าน

ปัญหาต่างๆ ที่ยกตัวอย่างมานี้เกิดจาก ผู้คนยังคิดแบบอนาล็อก ไม่ก้าวข้าม และเข้าสู่โลกดิจิทัล ทั้งที่เราไม่จำเป็นต้องเก่งการใช้เทคโนโลยีมากมาย สามารถใช้เทคโนโลยีแค่ 30% เราก็เข้าสู่โลกดิจิทัลได้แล้ว เหมือนใช้ภาษาอังกฤษที่ไม่จำเป็นต้องรู้คำศัพท์ทุกคำ ทราบเพียงบางส่วน เราก็สื่อสารได้แล้ว

อุปสรรคสำคัญการก้าวสู่โลกดิจิทัล ไม่ใช่เรื่องอายุ หรือการใช้เทคโนโลยี แต่อาจเพราะความกลัวต่อการเปลี่ยนแปลง ความคุ้นเคยกับการทำงาน และใช้ชีวิตในโลกอนาล็อก ทำให้เราไม่อยากก้าวข้ามไป ทั้งที่โลกวันนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว หากไม่ปรับตัว หรือองค์กรไม่ก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลในไม่ช้าเราจะแข่งต่อไปไม่ได้ ยิ่งถ้าเป็นผู้บริหารองค์กรจะทำให้องค์กรของเราก้าวไม่ทันการแข่งขัน สุดท้ายอาจต้องล้มหายตายจากไป

การเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัล (Digital Transformation) เกิดจาก 3 ปัจจัย คือ 1. การที่โลกเรามีข้อมูลมากขึ้น 2. การที่ระบบประมวลผลมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 3. การที่อัลกอริทึมในการพัฒนาโมเดลเอไอเก่งมากขึ้น ทั้งสามประการนี้ทำให้ผู้ใช้ดิจิทัลเห็นการเปลี่ยนแปลง การทำงานที่ต้องอยู่กับเอไอมากขึ้น การใช้ข้อมูลมากขึ้น จึงทำให้ธุรกิจหรือหน่วยงานต่างๆ จำเป็นต้องปรับรูปแบบธุรกิจและการทำงาน

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ คนทำงานโดยเฉพาะผู้บริหารต้องมีทัศนคติทางดิจิทัล (Digital Mindset) คือ ต้องเข้าใจเทคโนโลยีดิจิทัล อย่าง เอไอ บล็อกเชน และเมตาเวิร์ส ต้องมีทักษะเชิงดิจิทัล รวมถึงใช้และวิเคราะห์ข้อมูลที่นำมาสู่การตัดสินใจในองค์กร สำคัญต้องมีความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และข้อมูลว่าจะช่วยเปลี่ยนแปลงองค์กรให้มีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้เพียงใด

การทำงานในโลกดิจิทัลหลายอย่างต้องเป็นออนไลน์ ทำงานร่วมกับผู้คนต่างที่ต่างเวลาต่างภาษา และจำเป็นต้องทำงานร่วมกับเอไอ เหมือนทุกวันนี้ที่หลายคนเริ่มนำ Generative AI อย่าง ChatGPT เข้ามาช่วยทำงาน ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้มากมาย

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงองค์กรไปสู่ดิจิทัล สิ่งที่สำคัญสุดอาจกลายเป็นการปรับทัศนคติบุคลากรในหน่วยงานให้มี Digital Mindset และทำงานทุกอย่างต้องเป็นดิจิทัลมาเป็นอันดับแรก (Digital First) หากสุดวิสัยทำไม่ได้จริงๆ จึงค่อยกลับมาเป็นแบบอนาล็อก