กลการเมืองในมุ้ง "กสทช." บอร์ดครบสยบฤทธิ์ Double Vote

กลการเมืองในมุ้ง "กสทช." บอร์ดครบสยบฤทธิ์ Double Vote

บอร์ดกสทช.นั่งเก้าอี้ครบ 7 คนแล้ว จับตาลงมติโหวตวาระสำคัญเลือกเลขากสทช.-เทเลเฮลท์ วันที่ 29 มี.ค.นี้ คาดได้เห็นชัดใครอยู่ฝั่งไหน หลังที่ผ่านมาเจอพิษ Double Vote

หลังจากที่การสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เสร็จสิ้นเป็นไปที่เรียบร้อยแม้จะใช้เวลาเกือบ 1 ปี กว่าจะได้ครบทั้ง 7 คนซึ่ง บอร์ดกสทช. ชุดนี้ นับเป็น กสทช. ชุดที่ 2 ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี

โดยหน้าตาของกสทช.ประกอบไปด้วย

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ นั่งเก้าอี้ประธาน
พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ 
ศาสตราจารย์ พิรงรอง รามสูต 
นายต่อพงศ์ เสลานนท์ 
รองศาสตราจารย์ ศุภัช ศุภชลาศัย 
พลตำรวจเอก ณัฐธร เพราะสุนทร
รองศาสตราจารย์ สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์  

จำนวนบอร์ดกสทช.ครบ 7 คนดูจะเป็นที่น่าจับตามองไม่น้อยเกี่ยวกับการลงมติวาระ ในครั้งต่อๆไป รวมไปถึงการแบ่งก๊กแบ่งฝ่ายของบอร์ด เพราะแม้การเมืองภาพใหญ่ของไทยจะเข้มข้นขึ้นมาทุกที แต่การเมืองในซอยสายลม โหมกระพือตั้งแต่บอร์ดเข้ามารับตำแหน่งกันแล้ว

เห็นได้จากตัวประธานบอร์ดเองก็ออกมายืดอกให้สัมภาษณ์ตั้งแต่วันที่บอร์ดเข้ามาทำงานครบ 3 เดือนว่า บอร์ดทุกคนมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง ดังนั้น ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องคิดเหมือนกัน 

เพราะหากจำกันได้ การลงมติดีลแสนล้านบาทที่สั่นคลอนการกำกับดูแลของกสทช.ที่มติ 3:2 เสียง "รับทราบ" การควบรวมกิจการระหว่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น และ ดีแทค เข้าด้วยกัน ซึ่งการประชุมกสทช.ในวันที่ 20 ต.ค. 2565 ลากยาวเกิน 11 ชั่วโมง เพราะกสทช.ขณะนั้นมีอยู่ด้วยกัน 5 คน และมี 1 ในกสทช.ขอไม่ออกเสียง ทำให้มีเสียงเท่ากัน 2:2 เสียง แต่พลิกเป็น 3:2

จนประธานกสทช.ต้องกางกฎหมายใช้อำนาจตามข้อ 41 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555 "ในการวินิจฉัยชี้ขาด ให้กรรมการหนึ่งคนมีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด (Double Vote)"

พิษ Double Vote ในครั้งนั้นดูจะถูกพูดถึงอำนาจของประธานกสทช.และลามมาถึงการสรรหาเลขาธิการ กสทช.แม่บ้านคนสำคัญที่ต้องประสานสิบทิศ โดยเพิ่งเปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ในการประชุมเรื่องการสรรหาเลขาธิการ กสทช.ก็เหมือนการจุดประกายความขัดแย้งขึ้นมาอีกครั้ง เพราะประธานกสทช.ก็ใช้อำนาจตัวเองอย่างเต็มเปี่ยมเลือกวิธีการสรรหาโดยให้ประธานกสทช.เป็นผู้เห็นชอบบุคคลมารับตำแหน่งจากนั้น จะแค่ "รายงาน" ให้บอร์ดที่เหลือรับทราบ 
 

แต่วงในแฉแหลกว่า การประชุมในครั้งนั้นก็ดุเดือดอีกครั้งเพราะบอร์ด 3 คนที่เหลือคือพลอากาศโทธนพันธุ์ ศาสตราจารย์ พิรงรอง และรองศาสตราจารย์ ศุภัช กลับส่งหนังสือไม่ขอรับมติและต่อต้านการใช้อำนาจของประธาน โดยแย้งว่า อำนาจของประธาน กสทช. ในการเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช. ตามมาตรา 61 เป็นเพียงกระบวนการทางธุรการเท่านั้น ไม่ใช่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของประธาน กสทช. ดังนั้น การเสนอชื่อ แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช. เป็นอำนาจของ กสทช. ทั้งคณะ

ยังมีการลือกันอีกว่า บอร์ด กสทช. 6 คนที่ผ่านมา แบ่งออก 2 ฝ่ายชัดเจน แต่ละก๊กล้วนมาจากบ้านใหญ่ "สายตรง" ของบรรดาลุงด้วยกันทั้งคู่ ทำให้บอร์ดฝั่งหนึ่งต้องการลากวาระการพิจารณาที่ต้องมีการลงมติออกไป และรอจนกว่าบอร์ดคนที่ 7 จะเข้ามาทำงาน เพราะไม่อยากให้ประธานบอร์ดใช้อำนาจ Double Vote อีกต่อไป โดยตัวแปรสำคัญที่กำลังกล่าวถึงคือ รองศาสตราจารย์ สมภพ กสทช.คนล่าสุดด้านโทรคมนาคม ที่ถูกยกมือโหวตให้มาวินโดยวุฒิฯของลุงตู่

ซึ่งน่าจะมาพลิกเกมให้บอร์ดที่ (เคย) เสียงข้างน้อยกลับมาเป็นบอร์ดเสียงข้างมากได้ไม่ยาก เพราะรองศาสตราจารย์สมภพ ยังนั่งในอนุฯด้านดาวเทียมที่มีความสมัครมักคุ้นกันอย่างดีกับบอร์ดข้างน้อย ดังนั้น อาจจะทำให้ฝั่งประธานกสทช.ที่เคยคุมเกมมมาตลอดต้องคิดหนักแล้ว และในวันพุธที่ 29 มี.ค.นี้ จะมีการประลองฝีมือกันด้วยการลงมติการอนุมัติงบเห็นชอบงบประมาณราว 3,850 ล้านบาท เพื่อดำเนินการโครงการโทรเวชกรรมถ้วนหน้า หรือ เทเลเฮลท์ ตามโครงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง (USO) 

โดยวาระนี้ถูกจับตามองว่าเป็นการไฟเขียวให้ทุนการเมืองกับบางพรรค แต่ดูแล้วไม่น่าจะผ่านได้ง่ายๆ เพราะงบก้อนมหึมาถือว่าเป็นงบที่เทไปยังกระทรวงสาธารณสุขมากกว่างบที่ด้านโทรคมนาคมเสียอีกที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของ USO ดังนั้น ในการประชุมดังกล่าวนี้คาดว่าจะได้การลงมติโดยพร้อมเพรียงและน่าจะพอมองออกแล้วว่า ไผเป็นไผ 

แต่สุดท้ายแล้วอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้เสมอ เปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอด เพราะซอยสายลม คือ สถานที่แห่งลมเปลี่ยนทิศ