'เอไอเอส' ยันเดินหน้าควบ '3บีบี' จบแน่ ไตรมาส 2

'เอไอเอส' ยันเดินหน้าควบ '3บีบี' จบแน่ ไตรมาส 2

"เอไอเอส" ระบุไม่เหนือความคาดหมาย "3บีบี" ส่งสัญญาณขาดสภาพคล่องจ่ายค่าเช่า JASIF ยันดีลนี้ยังเห็นประโยชน์การควบรวมเพราะสร้างความเข้มแข็งระยะยาว เชื่อจบไตรมาส 2 นี้ เมินดีลทรูดีแทค ย้ำยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงตลาด ลูกค้าเอไอเอสยังเหนียวไม่ไหลออก

Key Points : 

  • "เอไอเอส" ระบุไม่เหนือความคาดหมาย "3บีบี" ส่งสัญญาณขาดสภาพคล่องจ่ายค่าเช่า JASIF 
  • เดินหน้าควบรวมหนุนแกร่งธุรกิจบรอดแบนด์สร้างความเข้มแข็งระยะยาว เชื่อจบไตรมาส 2 นี้  
  • เมินดีลทรูดีแทค ย้ำยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงตลาด ลูกค้าเอไอเอสยังเหนียวไม่ไหลออก

นายธีร์ สีอัมพรโรจน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า บริษัทมีความมุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายอินเน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ให้ครอบคลุมทั่วถึงคนไทย และตอบโจทย์การขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศให้รวดเร็วขึ้น แม้ที่ผ่านมากระบวนการเข้าซื้อกิจการ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (TTTBB) หรือ 3บีบี จะล่าช้ากว่าที่คาดจากเดิม ที่น่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1 แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ดีล 3บีบี จบแน่ไตรมาส 2

เอไอเอส ยืนยันว่า ได้ส่งเอกสารข้อมูลทุกอย่างครบถ้วนแล้ว และมั่นใจว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 2 นี้ ซึ่ง เอไอเอสประกาศยืนยันลงทุนขยายธุรกิจบรอดแบนด์ เพื่อยังคงเป็นไปตามเป้าหมายในธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน และมุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสมบูรณ์

ส่วนที่ก่อนหน้านี้ กรณีที่ 3บีบี เกิดปัญหาสภาพคล่องจนกระทบการชำระเงินค่าเช่าโครงข่ายให้กับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) นั้น เป็นสิ่งที่ไม่เกินความคาดหมาย และเป็นไปตามที่ที่ปรึกษาอิสระ (IFA) ได้ทำรายงานระบุในรายงานความเห็นออกมา

แต่อย่างไรก็ดี เอไอเอส ยังไม่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมถึงการเจรจาต่อรองค่าเช่า เพราะยังไม่อยู่ในวิสัยที่จะพูดอะไรได้ ขอรอให้กระบวนการทางกฎหมายจากสำนักงาน กสทช.สิ้นสุดก่อน

เมินดีลทรูดีแทคชี้ตลาดไม่เปลี่ยน

นายธีร์ กล่าวอีกว่า หากบริษัทเข้าซื้อกิจการ 3บีบีเสร็จเรียบร้อย จะทำให้สัดส่วนธุรกิจบรอดแบนด์เพิ่มขึ้นมาเป็นกว่า 20% ของรายได้รวม จากเดิมมีสัดส่วน 10% และ ธุรกิจมือถือ 90% ซึ่งจำนวนนี้มีลูกค้าองค์กรประมาณ 10% โดยมองว่าธุรกิจบรอดแบนด์ปีนี้ยังมีการเติบโตได้อีกแม้จะมีการแข่งขันสูง ทั้งนี้ ปัจจุบัน 3บีบีมีลูกค้า 2.4 ล้านราย และ เอไอเอสมีอยู่ 2 ล้านราย ขณะที่ทรู ออนไลน์มีฐานลูกค้า 5 ล้านราย

สำหรับการควบรวมของทรูและดีแทคในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เอไอเอสไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม และลูกค้าในระบบเอไอเอสก็ไม่มีการไหลออกจากระบบ (Churn Rate) แม้คู่แข่งจะพยายามดึงเอาสิทธิประโยชน์มาจูงใจ และแม้จะการออกโปรโมชัน และแพคเก็จค่าบริการที่เท่ากันทุกค่ายหลังการควบรวม แต่เอไอเอสมั่นใจว่า แม้จะเป็นสินค้าประเภทเดียวกัน ราคาเท่ากัน แต่ไม่เหมือนกัน เพราะเอไอเอสดีกว่า มีคุณภาพมากกว่าในทุกมิติ

เขา กล่าาวอีกว่า ภาพรวมของธุรกิจมือถือ ไม่ได้มีอัตราการเติบโตของจำนวนลูกค้าเร็วเหมือนเมื่อก่อน โดย 2-3 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไม่ดี ทุกคนก็ลดค่าใช้จ่าย โดยเห็นว่า ธุรกิจบรอดแบนด์ยังเติบโตได้อยู่ โดยมาจากฐานลูกค้าเอไอเอส ที่คาดโต 15-20% และจากการรวมกิจการสำเร็จ

ผนึกแบงก์ฯ กรุงเทพ

ล่าสุด เอไอเอส ได้ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ สร้างโอกาสให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการเงินรูปแบบใหม่บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ผ่านการเปิดตัวบัตรเดบิต Be1st Digital AIS POINTS (บัตรบีเฟิสต์ ดิจิทัล เอไอเอส พอยท์) บัตรเดบิตที่จะมาพลิกโฉมประสบการณ์ช้อปปิ้งออนไลน์ของลูกค้า ด้วยสิทธิพิเศษจากคะแนนสะสมของ AIS Points และความปลอดภัยสูงสุดด้วยมาตรฐานบริการทางการเงินจากธนาคารกรุงเทพ โดยทุกการช้อปออนไลน์ 200 บาท รับทันที 1 AIS Points

นายธีร์ เสริมว่า เอไอเอสเป็นผู้นำด้านการให้บริการดิจิทัลที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้ง 46 ล้านรายในทุกๆด้าน ซึ่งเอไอเอสมีพันธมิตรร้านค้าที่สามารถแลก AIS Points มากกว่า 1.8 ล้านร้านค้าทั่วประเทศ และอีก 20,000 แบรนด์ชั้นนำ ในปีที่แล้วมีการแลกคะแนนมากถึง 1,000 ล้านคะแนน ทั้ง บนห้างสรรพสินค้า ร้านค้ารายย่อย ร้านสตรีทฟู้ด รถเข็น ทั่วประเทศ บนแอป myAIS ได้เช่นกัน

 “เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการยกระดับการทำงานเพื่อลูกค้า ซึ่งนอกเหนือจากการที่ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ดิจิทัลจากการใช้จ่ายช้อปปิ้งออนไลน์แล้ว ความร่วมมือครั้งนี้จะสามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งลูกค้าของเอไอเอส และธนาคารกรุงเทพ รวมถึงพาร์ทเนอร์ร้านค้าที่อยู่ในเครือข่ายของโปรแกรม AIS Points ทั่วประเทศ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของดิจิทัล อีโคโนมีจนนำมาสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้เติบโตได้ท่ามกลางความท้าทายในช่วงเวลานี้”