‘จี๊ป ไคลน์ ’ บนเส้นทาง วีซี ระดับโลก สตาร์ทอัพไทย ต้องมี ‘Global Mindset’

‘จี๊ป ไคลน์ ’ บนเส้นทาง วีซี ระดับโลก สตาร์ทอัพไทย ต้องมี ‘Global Mindset’

เปิดเส้นทาง “ท้าทาย” เวนเจอร์ แคปปิตอลใน ซิลิคอน วัลเลย์ ที่ได้ชื่อว่า เป็นเมืองหลวงแห่งเทคโนโลยีโลก บริหารโดยคนไทย ‘จี๊ป ไคลน์’ (Jeep Kline) เกิดและโตที่เมืองไทย เป็นหญิงไทยเพียงไม่กี่คนที่ไปทำงานที่นั่น และได้เรียนรู้ และมีประสบการณ์หลากหลายมุมในแวดวงสตาร์ทอัพโลก

Key Points : 

  • เส้นทางท้าทายของหญิงเก่ง Jeep Kline บริหารกองทุนสตาร์ทอัพโลก
  • เจาะลึก Impact venture funds ธุรกิจต้องมี Impact ต่อสังคม มีผลกระทบเชิงบวกต่อประเทศ 
  • สตาร์ทอัพที่อยู่ในเรดาห์ของผู้ลงทุน ต้องมีโกลบอล มายด์เช็ต (Global Mindset)

เปิดเส้นทาง “ท้าทาย” เวนเจอร์ แคปปิตอลใน ซิลิคอน วัลเลย์ ที่ได้ชื่อว่า เป็นเมืองหลวงแห่งเทคโนโลยีโลก บริหารงานโดยคนไทย ‘จี๊ป ไคลน์’ (Jeep Kline) เกิดและโตที่เมืองไทย เป็นหญิงไทยเพียงไม่กี่คนที่ไปโลดแล่นในวงการธุรกิจการลงทุน สตาร์ทอัพโลก จบเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาโทสาขาเดียวกันที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน มีประสบการณ์ในเวิลด์แบงก์ หน่วยงานที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลก เคยทำงานในบริษัทอินเทล ยักษ์ใหญ่ของโลกผู้ผลิตชิป

ปัจจุบัน จี๊ป ไคลน์ เป็นอาจารย์สอน MBA ในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (Professional Faculty at UC Berkeley) สหรัฐ และ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกองทุนวีซีใน ซิลิคอน วัลเลย์ สนับสนุนเงินทุนผู้ประกอบการ หรือสตาร์ทอัพที่ตอบโจทย์เป้าหมายของกองทุนที่เธอเรียกว่า Impact venture capital

ทำงานใน ‘เวิลด์แบงก์’ ​และ’อินเทล’

ย้อนภาพกลับไปที่ เวิลด์แบงก์ ที่นั่นเธอพบและเรียนรู้เรื่องต่างๆ จากนักเศรษฐศาสตร์คนเก่งๆ มากมาย และได้รับโอกาสจากที่นี่ไปร่วมทำงานกับกระทรวงต่างๆ ในแอฟริกา ทั้งประเทศ แทนซาเนีย รวันดา และยูกานดา

ครบ 3 ปี จี๊ปตัดสินใจลาออกธนาคารโลกแล้วย้ายไปทำงานที่ ซิลิคอน วัลเลย์ ระหว่างนั้นมีโอกาสเรียนต่อสาขาบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในเมืองเบิร์กลีย์  และได้พบกับ “พอล โอเทลลินี” ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานบริหารบริษัทอินเทล ยักษ์ใหญ่ชิปโลก มาบรรยายที่มหาวิทยาลัย

 

ทันทีที่จบการศึกษา อินเทล ดึงตัวจี๊ปไปทำงาน สมัยนั้นอินเทลมีโครงการผู้นำ โดยจะรับสมัครคนเข้าร่วมโครงการแค่ 15 คน จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้ง 5 แห่งของโลก ซึ่งเธอ คือ ผู้โชคดีและเป็นคนไทยคนเดียวที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ ได้เรียนรู้จากผู้นำในตำแหน่งต่างๆ ในบริษัทอินเทลว่า ไม่ได้มีบทบาทผู้นำแค่ในบริษัทเท่านั้น แต่เป็นผู้นำของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และทำให้เรียนรู้อีกว่า การจะเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จ ต้องมีคุณสมบัติ 3 อย่าง ได้แก่ Skill Knowledge และ Network (ทักษะ ความรู้ และเครือข่าย)

หลังจากทำงานในอินเทล มีคนมาทาบทาม จี๊ป ให้ช่วยบริหารพอร์ตลงทุนของบริษัทแห่งหนึ่ง ทำให้รู้จักกับธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือ VC ได้รู้จุดอ่อนจุดแข็งของบริษัทลงทุนและบริษัทสตาร์ตอัป เริ่มแรกเป็นที่ปรึกษา จากนั้นจึงออกมาก่อตั้งธุรกิจเงินร่วมลงทุนด้วยตนเอง เน้นลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่ แถบละตินอเมริกา และกองทุนเป็นประเภท Impact venture funds หมายความว่า ผลตอบแทนของกองทุนจะต้องมี 2 รูปแบบ 1.ผลตอบแทนในรูปแบบเงิน 2.ต้องมี Impact return 

เส้นทางท้าทายของวีซีระดับโลก

จี๊ป ขยายความต่อว่า Impact venture capital ที่ใครหลายคนคิดว่า คือ การลงทุนแบบไม่แสวงหากำไร  แต่จริงๆ แล้ว คือ การลงทุนหนึ่งที่ได้ผลตอบแทนทางการเงินแน่นอน แต่ไม่พอ ต้องมี Impact Return ด้วย คือ ผลตอบแทนทางด้านสังคม  หรือผลตอบแทนทางด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น Impact VC  หรือ Impact investing  ในมุมมองของวีซี คือ การลงทุนที่มีผลตอบแทนทั้งด้านการเงิน และทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม

ระหว่างที่บริหารกองทุนไปได้ด้วยดี มีโอกาสเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาปริญญาโทบริหารธุรกิจเกี่ยวกับ Impact venture funds ทั้งยังได้รับเชิญเป็นคณะกรรมการบริหารหลายบริษัท ทั้งบริษัทด้านเอไอในไต้หวันและไทย, บริษัททุนด้านเทคโนโลยีเพื่อสภาพอากาศของสิงคโปร์ ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 200 ล้านดอลลาร์ เป็นบริษัทที่แก้ไขปัญหาพลาสติกในทะเล และบริษัทสตาร์ทอัพของไทย

จี๊ป ยังเล่าถึงผลกระทบจากความเสี่ยงเรื่องธนาคาร SVB ต่อการลงทุนในสตาร์ทอัพ  ไม่น่าจะมีมากนักเพราะ กองทุนส่วนใหญ่ได้ปรับตัวไว้ก่อนที่จะมีปัญหาแล้ว ยกตัวอย่างเช่นอย่างกองทุนกองทุนที่บริหารอยู่ ได้ถอนออกมาก่อนที่ เอสวีบี จะล้ม

“ปีนี้และปีก่อนเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในระยะกลางกับระยะเติบโต มีอุปสรรคหลายอย่าง เพราะเงินทุนจากวีซีน้อยลง ทำให้การแข่งขันขอเงินทุนสูงขึ้น หรือเรียกว่า ความต้องการเงินทุนมากขึ้นหรืออาจเท่าเดิม แต่เงินทุนกลับมีน้อยลง บวกกับเศรษฐกิจชะลอตัว มูลค่าบริษัทจึงลดลง”

เธอ เล่าว่า  SVB เป็นแบงก์ที่วีซี และสตาร์ทอัพใช้บริการค่อนข้างเยอะ และไม่ว่าบริษัทจะเล็กหรือใหญ่ต่างมีความเสี่ยงเหมือนกัน เมื่อ SVB ล้มทำให้ไม่สามารถโอนย้ายเงินได้ ซึ่งเป็นช่วงที่สตาร์ทอัพต้อง run payroll และธุรกิจเงินร่วมลงทุนของเธอใช้ทุนจาก SVB 100% แต่ก่อนเกิด แบงก์รัน เธอเห็นว่าสถานการณ์ SVB เริ่มไม่ดี จึงถอนทุนออกมาก่อนแล้ว กองทุนจึงมีความปลอดภัย 100%

แนะสตาร์ทอัพไทย ต้องมี ‘Global Mindset’

สำหรับเป้าหมายของกองทุนฯของ จี๊ป จะเน้นลงทุนสตาร์ทอัพ emerging market เช่นในละตินอเมริกาเป็นหลัก ควบคู่กับการลงทุนบริษัทอื่นๆใน silicon valley โดยที่จะ เลือกผู้ประกอบการที่สร้างธุรกิจที่มี Impact ต่อสังคม มีผลกระทบเชิงบวกต่อประเทศ  ในขณะเดียวกันก็มีลักษณะการเติบโตและ scale ได้มาก

การเป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้อยู่แค่ที่การเป็นยูนิคอร์น หรือการมุ่งเน้นแต่ขนาดของบริษัท แต่ธุรกิจนั้นต้อง Create Impact ได้ สตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ ต้องไปถึงขึ้น M&A หรือการได้ทำ IPO  เราไม่ได้มองความสำเร็จของสตาร์ทอัพในเชิงมูลค่าเท่านั้น แต่เรามองรวมถึงคุณภาพและการสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม

“การประสบความสำเร็จของสตาร์ทอัพไม่ได้อยู่ที่การเป็นยูนิคอร์น แต่อยู่ที่การได้รับการยอมรับก่อนเติบโตเป็นบริษัทขนาดใหญ่มูลค่าระดับพันล้าน หรือขึ้นอยู่กับใครนิยามมากกว่า ที่สำคัญคือ ต้องสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมในระหว่างดำเนินธุรกิจด้วย การวัดความสำเร็จของ VC ส่วนใหญ่ แบ่งเป็น 2 ทาง ได้แก่ การควบคุมกิจการและบริษัทเติบโตจนเข้าตลาดหุ้นได้ แต่หากบริษัทโตแล้วมีคนมาซื้อต่อ แม้ไม่ได้เป็นยูนิคอร์นก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว”

จี๊ป บอกว่า สตาร์ทอัพที่อยู่ในเรดาห์ของผู้ลงทุน ต้องมีโกลบอล มายด์เช็ต (Global Mindset) หรือการตั้งเป้าหมายว่าสตาร์ตอัปต้องสามารถสเกลเกินระดับประเทศได้ ต่อมา คือ ต้องระวังเรื่องการประเมินมูลค่าบริษัท (Valuation) ที่สูงเกินไป ทั้งที่ยังไม่มีกำไร

สำหรับหลักการในการลงทุนในประเทศที่กำลังพัฒนา นักลงทุนที่ไปลงทุนกับสตาร์ทอัพในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนใหญ่เป็นเพราะมีข้อได้เปรียบด้านค่าใช้จ่ายในส่วนของ โอเปอเรชั่นที่ต่ำกว่าสตาร์ทอัพใน ซิลิคอน วัลเลย์ แต่ถ้าประเมินออกมาแล้ว สตาร์ทอัพในประเทศเหล่านี้ มีมูลค่าสูงกว่าในซิลิคอน วัลเลย์ ก็ไม่มีนักลงทุนคนไหนกล้าเสี่ยงเข้าไปลงทุน ทั้งนี้ต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น สตาร์ทอัพนั้นๆต้องมีความสามารถในการแข่งขันที่ได้เปรียบและเหมาะกับลักษณะของประเทศนั้นๆ

สำหรับในธุรกิจที่มีความซับซ้อนขึ้น จี๊ป บอกว่า ในส่วนของวีซีที่ดูแลอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาจะไม่เน้นลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ยา ไบโอเทค เพราะต้องมีเรื่องไอพี เข้ามาเกี่ยวข้อง และจะไม่เน้นลงทุนในธุรกิจที่ยังไม่สามารถทำเป็นคอมเมอร์เชียลได้ทันที เช่น  ควอนตัม คอมพิวติ้ง

"สิ่งที่วีซีจะเน้นเข้าไปลงทุน คือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับ การศึกษา (Ed Tech) ฟินเทค ฟู้ดเทค บีทูบี เอ็นเตอร์ไพร์ส ธุรกิจด้านการเกษตร (agriculture)" เป็นต้น

ส่วนปัจจัยที่ทำให้ วีซี ไม่อยากลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ จี๊ป บอกว่า ขึ้นอยู่กับว่า วีซี สามารถปกป้องเงินทุนได้มากเพียงใด เพราะการลงทุนกับสตาร์ทอัพ วีซี มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว วีซีจะไม่รับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงด้านกฎหมาย

"การลงทุนในเทคโนโลยี คือ การพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ เพราะตลอดการทำงานในวงการเทคโนโลยีและการลงทุนมา 20 ปี พบว่า คนที่เข้าถึงเทคโนโลยีจะประสบความสำเร็จ เราเชื่อว่า ผู้ประกอบการที่มีความสามารถ คือผู้ประกอบการที่สามารถหาวิธีการแก้ไขปัญหาได้ ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องเรียนจบสูงหรืออาจจะเรียนไม่จบก็ได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าหาโอกาสที่ถูกต้องได้หรือไม่ ทั้งยังต้องหากองทุนที่เหมาะสมและเห็นโอกาสของธุรกิจด้วย”

หากมีคำถามว่า ช่วงที่สถานการณ์ทางการเงินลำบาก ใครควรออกมาช่วยเหลือสตาร์ทอัพ จี๊ป บอกว่า ถ้ามองในมุมวีซี กองทุนจะบอกว่า สตาร์ทอัพยังไม่น่าสนใจ ถ้ามองในมุมสตาร์ทอัพ อาจคิดว่าวีซียังมีไม่เพียงพอ

“ดังนั้น วีซีควรใช้ทฤษฎี Leapfrog  หรือทฤษฎีกบกระโดด เป็นแนวคิดที่ผลักดันให้ธุรกิจเดินนำหน้าคู่แข่งให้ได้ วีซี ไม่จำเป็นต้องคิดค้นอย่างเดียว แต่สามารถลงทุนในกองทุนท้องถิ่น เพื่อเรียนรู้และเข้าใจในระบบธุรกิจ สร้างเครือข่ายและสร้างสัมพันธ์ตลอดการดูงาน เพราะถ้าไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศธุรกิจใดๆ จะไม่มีความรู้และเครือข่ายเลย อาจไม่สามารถดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุน หรือช่วยเหลือสตาร์ทอัพได้”

ดังนั้น เมื่อไปดู วีซี ที่ประสบความสำเร็จจะพบว่า ผลลัพธ์มาจากผู้จัดการกองทุน ซึ่งผู้จัดการกองทุนต้องมีประสบการณ์และความรูในธุรกิจที่ลงทุนด้วย ส่วนด้านสตาร์ทอัพต้องมีความพร้อม เช่น เข้ามาหาประสบการณ์ทางธุรกิจ ประกอบกับได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนให้ความรู้และช่วยแนะนำ จึงจะทำให้ธุรกิจผ่านอุปสรรคไปได้ ที่สำคัญ ทั้งสองฝ่ายควรมีความเข้าใจในธุรกิจของกันและกัน ต้องทำงานร่วมกันในฐานะพาร์ทเนอร์ที่ดี

กลับมาเยือนไทยเพื่อเป็น “สะพาน”

เมื่อไม่นานมานี้ จี๊ป ไคลน์ กลับมาเมืองไทย ไม่กี่วัน เธอเล่าว่า กลับมาเพราะอยากเป็น “สะพาน” จากที่เธอทำงานในซิลิคอน วัลเลย์ มาเป็น 10 ปี อยู่ที่อเมริกามาประมาณ 20 ปี ได้เห็น และเห็นประสบการณ์​ในด้าน เวนเจอร์แคปปิตอล ฟันด์ ที่ลงทุน และประสบความสำเร็จ  ได้เห็นประสบการณ์ของผู้ก่อตั้ง สตาร์ทอัพ ฟาวเดอร์ ซีอีโอ ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จนั้นเป็นอย่างไร

“อยากกลับมาเป็นสะพานให้คนไทย อย่างน้อย ได้มาเห็นในสิ่งที่เราได้เห็น เอาความรู้ และประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาถ่ายทอดว่าการลงทุนวีซี มีจุดประสงค์อะไร มีการคาดหวังอะไร เวลาที่ลงทุน ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จอย่างไร ทั้งในด้านเทคโนโลยี ทีม หรือว่าอะไรก็ตาม หวังว่าวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการคุย  แต่ยังมีโอกาสหน้า ซึ่งอยากจะมีโอกาสที่จะลงลึก เพื่อที่ได้จะให้คนไทยได้มาเห็น สิ่งที่ตัวเราได้เห็นใน ซิลิคอน วัลเลย์”