ชัยวุฒิ ลั่น ‘ซิมม้า’ โทษหนัก คุกสูงสุด 5 ปี
ดีอีเอส ดึงผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม True, DTAC, AWN และ NT รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงาน กสทช. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถกปัญหา ปราบ 'ซิมม้า' และแก๊ง call center
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เร่งดำเนินการตาม พ.ร.ก. ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยมอบหมายให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการตาม พ.ร.ก. ปราบซิมม้า และแก๊ง call center
วานนี้ (11 เมษายน 2566) ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้เป็นประธานการประชุม “การติดตามการดำเนินการตาม พ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566” โดยได้เชิญผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม อาทิ True, DTAC, AWN และ NT รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงาน กสทช. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการประชุมได้มีการหารือประเด็นสำคัญดังนี้
1. พ.ร.ก. มุ่งป้องกัน ปราบปราม อาชญากรรมทางเทคโนโลยี และมีบทลงโทษ สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับ “ซิมม้า” (หรือหมายเลขหมายเลขโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์มือถือ ที่ให้ผู้อื่นนำไปใช้กระทำความผิดทางเทคโนโลยี) ดังนี้
กรณีผู้ใดยินยอมให้ผู้อื่นใช้ หรือ ยืมหมายเลขหมายเลขโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์มือถือ ที่ควรรู้ได้ว่าจะถูกนำไปใช้กระทำความผิดทางเทคโนโลยี โทษสูงสุด จำคุก 3 ปี ค่าปรับ 300,000 บาท และผู้ใดหากเป็นธุระจัดหา โฆษณา เพื่อให้ มีการซื้อขายหมายเลขโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ลงทะเบียนแล้ว แต่ไม่สามารถระบุผู้ใช้บริการได้ โทษจำคุก 2 – 5 ปี ปรับ 200,000-500,000 บาท (ตามมาตรา 9 และมาตรา 11 ใน พ.ร.ก.)
2. ตาม พ.ร.ก. เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม หรือระงับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ ในกรณีมีเหตุอันพึงสงสัยว่า มีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และมีความจำเป็นต้องทราบข้อมูลการลงทะเบียนผู้ใช้งาน ให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคม หรือผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำนั้น “มีหน้าที่” ส่งข้อมูลให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) หรือ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ตามที่ร้องขอ และให้มีระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวจะเปิดเผยให้บุคคลอื่นที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องมิได้ (ตามมาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 12 ใน พ.ร.ก.)
ทั้งนี้ ผู้แทนสำนักงาน กสทช. กล่าวว่า ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง การลงทะเบียนและจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2562 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 กำหนดให้ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ต้องจัดการให้มีการลงทะเบียนผู้ใช้บริการ และพิสูจน์ยืนยันตัวตนให้ถูกต้อง ไม่ว่าบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล
ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่า ได้เร่งจัดการบัญชีม้า ซิมม้าอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้ ได้ระดมกำลัง เร่งปราบปราม ขบวนการขายบัญชีม้า ซิมม้า
รัฐมนตรีชัยวุฒิ กล่าวว่า “วันนี้ พ.ร.ก. ปราบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีผลบังคับใช้แล้ว เชื่อมั่นว่า อาชญากรรมออนไลน์จะลดลง โดย พ.ร.ก. กำหนดให้ เจ้าของซิมม้า หรือผู้ขายซิมม้ามีความผิด โทษจำคุกสูงสุด 5 ปี และก็ขอให้ผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีซิมม้า รีบยกเลิก หรือรีบติดต่อผู้เอาซิมไปใช้ ให้ลงทะเบียนให้ถูกต้อง และอย่าให้ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือผู้ไม่ลงทะเบียนนำซิมไปใช้ เพราะอาจจะมีความผิดตาม พ.ร.ก. ได้”