ย้อนภาพจำ!!! 'พันธุ์ทิพย์' ห้างในตำนาน ขวัญใจมนุษย์ไอทียุค 90s
ก่อนจะโบกมือลาไปตลอดกาลกับตำนาน “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” ห้างที่เคยเป็นศูนย์รวมของสินค้าไอทีใหญ่ที่สุดของไทย ย้อนดูกันว่า “พันธุ์ทิพย์” เคยมีอะไร ทำไมคอไอทีต้องไปรวมตัวกันที่นี่
ช่วงปลายยุค 80s เข้าสู่ยุค 90s หรือในช่วงปี 2530 ห้างพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ได้กลายมาเป็นห้างไอทีที่ใหญ่สุดในไทย หลังจากเปิดและปรับโฉมมาได้เพียง 3 ปี (2527) นับจากนั้นมาจนผ่านยุค 90s พ้นยุค Y2K พันธุ์ทิพย์ ยังคงทำหน้าที่ศูนย์กลางของชาวไอทีเสมอมา
จนถึงวันที่บทบาทของห้างสรรพสินค้าเปลี่ยนแปลงไป พฤติกรรมผู้บริโภคไม่เหมือนเดิม การชอปปิงออนไลน์เข้ามาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอย่างหนึ่งของทุกธุรกิจ จากห้างไอทีที่คึกคักที่สุดกลับกลายเป็นเงียบเหงา และในที่สุดก็ต้านทานไม่ไหว พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ยุติบทบาทของตัวเองลงในฐานะอดีตห้างไอที No.1 ของไทย
พันธุ์ทิพย์ในอดีต (ภาพจากวิกิพีเดีย)
ก่อนที่ภาพลักษณ์ของ “พันธุ์ทิพย์” จะเปลี่ยนเป็น ศูนย์กลางการค้าส่งนานาชาติครบวงจรของภูมิภาค (AEC Trade Center Pantip Pratunum) โดยสิ้นเชิง นับตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา ห้างพันธุ์ทิพย์ในความทรงจำของชาวไอทีหลายเจเนอเรชันยังมีอะไรน่าหวนนึกถึงเสมอ
KT Review กรุงเทพธุรกิจไอที จะพาย้อนวันวานไปสู่ยุครุ่งเรืองของ “พันธุ์ทิพย์” อีกครั้ง ว่าตลอด 36 ปี ห้างนี้มีอะไรดี ถึงทำให้ชาวไอทีจากทุกสารทิศต้องมาจบที่ห้างนี้
ประกอบคอม ซ่อมคอมต้องมาที่นี่
คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะหรือ Computer Desktop ในอดีตแม้จะมีสเปกเทียบกับยุคนี้ไม่ได้ แต่ก็เคยเป็นสินค้าไอทีราคาแพงที่กว่าจะได้มาใช้สักเครื่องต้องหาความรู้กันพอสมควร และที่สำคัญคือต้องหาร้านประกอบคอมด้วย แน่นอนว่าที่ “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” คือศูนย์รวมร้านประกอบคอมพิวเตอร์ และร้านซ่อมคอม ทั้งร้านใหญ่ร้านย่อยพร้อมต้อนรับลูกค้า หลายคนอาจจำความรู้สึกของการไปยืนเลือกสเปก เลือกฮาร์ดแวร์แต่ละชิ้นกันได้ การจดใส่กระดาษ เลือกของทีละชิ้นในยุคนั้นมีเสน่ห์มากๆ
ยุคนี้ก็เช่นกัน การประกอบคอมพิวเตอร์ยังมีอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่จริงจังกับสเปก ไม่ว่าจะเพื่อเล่นเกม เพื่อสตรีมมิง หรือเพื่อการทำงาน ร้านประกอบคอมยังคงทำหน้าที่นี้เหมือนเดิม แตกต่างตรงที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องไปรวมตัวกันที่พันธุ์ทิพย์แล้ว
ภาพจาก : www.thaimobilecenter.com
ศูนย์รวมโทรศัพท์มือถือ
พอพูดถึงศูนย์รวมโทรศัพท์มือถือในยุค 90s มาจนถึงปัจจุบัน หลายคนนึกถึงห้างมาบุญครอง (MBK Center) เพราะจนถึงปัจจุบัน MBK ก็ยังคึกคักด้วยร้านมือถือไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการของแบรนด์โดยตรงหรือร้านตู้กระจกที่อัดแน่นอยู่ในนั้น แต่ยุคหนึ่ง “ห้างพันธุ์ทิพย์” ก็เป็นศูนย์รวมโทรศัพท์มือถือเช่นกัน ยุคทองที่สุดคือช่วงโทรศัพท์มือถือยังไม่เข้าสู่ยุคสมาร์ทโฟนเต็มที่นัก เรียกได้ว่าโทรศัพท์มือถือสมัยจอขาวดำไล่มาจนเป็นจอสี ผ่านช่วงโทรศัพท์ที่เรียกว่าblackberry นี่คือยุคทองสุดๆ ที่วงการโทรศัพท์มือถือในพันธุ์ทิพย์คึกคักมาก
อันที่จริง รอยต่อช่วงที่สมาร์ทโฟนกำลังเริ่มได้รับความนิยม "พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า" ยังถือเป็นแหล่งซื้อ-ขายมือถือแห่งสำคัญ แต่ก็เป็นเพียงช่วงปลายๆ เท่านั้น เพราะรูปแบบการซื้อรวมถึงโปรโมชั่นต่างๆ ได้กระจายกลุ่มลูกค้าไปยังที่อื่นด้วยนั่นเอง
ศูนย์กลางงานไอที
ทั้งงานลดราคาสินค้า ทั้งงานอีเวนต์เกี่ยวกับไอที ไปจนถึงงานเกม ล้วนเคยใช้บริเวณลานตรงกลางห้างเพื่อเป็นสถานที่จัดงาน แต่เมื่อบทบาทของ “พันธุ์ทิพย์” ไม่เหมือนเดิม จากห้างดังกลายเป็นซบเซา ไม่เพียงแต่ร้านรวงที่ย้ายออกไปเกือบหมด ลานตรงกลางห้างก็ไม่ได้มีอีเวนต์มาจัดนานมากแล้ว
ศูนย์รวมของศูนย์คอม
ไม่ได้มีแต่ร้านยิบร้านย่อยหรือร้านตัวแทนจำหน่ายเท่านั้น ที่ “ห้างพันธุ์ทิพย์” มีศูนย์บริการของแบรนด์คอมพิวเตอร์ แบรนด์ผลิตภัณฑ์ไอที แทบจะครบทุกแบรนด์ สำหรับคนที่ต้องนำอุปกรณ์ซึ่งยังอยู่ในการรับประกันก็มาที่นี่จบครบในที่เดียว
ขวัญใจนักฟังเพลง (เถื่อน)
ช่วงที่สตรีมมิงยังไม่เกิด แต่เทคโนโลยีการฟังเพลงก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลพอสมควรแล้ว แต่เครื่องมือที่ใช้ฟังเพลง (รวมถึงดูหนัง) ยังต้องผ่านตัวกลางอย่างแผ่นซีดี นั่นทำให้การปั๊มแผ่นเพลงที่เรียกกันติดปากว่า MP3 แพร่หลายมาก แน่นอนว่าที่ "พันธุ์ทิพย์" คือแหล่งจำหน่ายแผ่นเพลงเถื่อนเหล่านี้ ซึ่งแต่ละแผ่นจะจัดเต็มด้วยเพลงนับร้อยๆ เพลง ชนิดที่ว่าเปิดแผ่นเดียวฟังจากกรุงเทพฯถึงเชียงใหม่ก็อาจจะไม่ซ้ำเพลงเลยทีเดียว
เรื่องแผ่นเพลงเถื่อนนี้อาจนับรวมไปถึงแผ่นหนังเถื่อน และแผ่นโปรแกรมเถื่อนด้วยก็ได้ ถ้าใครเกิดทันน่าจะคุ้นๆ กับการซื้อแผ่นซอฟแวร์มาแล้วต้องใส่รหัส Crack เพื่อลงโปรแกรมเถื่อนบนอุปกรณ์ของตัวเองได้ ด้านมืดเหล่านี้ก็มีจนแทบจะเป็นเรื่องปกติในพันธุ์ทิพย์ รวมถึงห้างไอทีอื่นๆ ด้วย
พันธุ์ทิพย์ในอดีต (ภาพจากวิกิพีเดีย)
โป๊ไหมครับ?
นอกจากสินค้าไอทีทุกรูปแบบแล้ว “พันธุ์ทิพย์” ยังมีมุมมืดที่หลายคนมองเห็นและรับรู้อยู่ว่ามี คือก่อนจะเป็นยุคที่ใครต่อใครก็เข้าถึงหนังผู้ใหญ่หรือเรียกง่ายๆ ว่าหนังโป๊ได้เพียงปลายนิ้ว เราได้ผ่านยุคที่การเสพสื่อประเภทนี้อยู่ในรูปแบบวิดีโอ แผ่นวีซีดี และแผ่นดีวีดี มาตามลำดับ และที่พันธุ์ทิพย์ก็คือแหล่งรวมแผ่นหนังโป๊ที่ใหญ่สุดแห่งหนึ่ง หากใครทันยุคนั้นแล้วบังเอิญเดินผ่านร้านที่ขายโดยเฉพาะบริเวณชั้น M จะได้ยินวลีติดหู “โป๊ไหมครับ?”
มาถึงยุคนี้ ยังมีวลีตกค้างที่ยังผ่านหูผ่านตาหลายคน แต่บริบทเมื่อนำมาใช้อาจเปลี่ยนแปลงไปคือ “ไม่ตรงปก” นี่ก็คือหนึ่งในวลีอันมีที่มาจากวงการหนังสือแล้วตกทอดมาถึงยุคทองของหนังแผ่น เพราะมีไม่น้อยที่หน้าปกกับดีเทลในเรื่องไม่ค่อยจะเหมือนกัน เช่น หน้าตาของนักแสดงนำ เป็นต้น
ช่วงที่พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ยังมีหนังโป๊ขายอยู่ หลายคนจะรู้สึกตื่นเต้นกับการได้เดินเลียบๆ เคียงๆ ร้านแบบนี้ โดยเฉพาะวัยรุ่นละอ่อนน้อย ก็มักจะขวยเขินเมื่อโดนถาม แต่จะไปจบที่เลือกแผ่นหนังหรือไม่ก็แล้วแต่คน
พันธุ์ทิพย์ในอดีต (ภาพจากวิกิพีเดีย)
ไม่มีพันธุ์ทิพย์ให้ไป แล้วชาวไอทีจะไปไหน?
ถึงเสก โลโซจะเคยร้องเพลง “จะไม่ไปพันธุ์ทิพย์” ถึงวันนี้ ถึงจะอยากไปก็ไม่มีพันธุ์ทิพย์ให้ชาวไอทีไปแล้ว หลังจากซบเซาและเปลี่ยนโฉมเป็น AEC Trade Center คนที่อยากซื้อสินค้าไอทีหรือจะประกอบคอมสักเครื่อง ยกคอมไปซ่อมที่ร้าน คงต้องมองหาห้างไอทีแห่งอื่นๆ ที่ตอนนี้ยังคึกคักอยู่ก็มี ห้างฟอร์จูนฯ รัชดา ที่ตีคู่กันมากับพันธุ์ทิพย์ยุคทอง ทว่ายังคึกคักอยู่จนถึงตอนนี้, เซียร์ รังสิต นี่ก็เป็นอีกหนึ่งห้างที่มีสินค้าไอทีหลากหลาย และยังเป็นที่พึ่งของคนไอทีฝั่งรังสิต-ดอนเมืองได้, ห้างเดอะพาลาเดียม เวิลด์ ชอปปิง ที่มีโซนพาลาเดียม ไอที เป็นศูนย์รวมสินค้าไอทีครบวงจรใจกลางกรุงเทพฯ ฯลฯ
ส่วนคนที่ไม่ซีเรียสว่าก่อนซื้อของต้องเห็นของจริง การช้อปออนไลน์ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดี และอาจจะได้โปรโมชันหรือส่วนลดพิเศษต่างๆ มากกว่าการไปซื้อที่หน้าร้านอีกด้วย