'เอ็นที' ปั้น 'ท่อร้อยสาย' สู่รายได้ใหม่ ดันสู่ 'อินฟราฯแชร์ริ่ง' ดิจิทัล
เอ็นที กางแผนจัดระเบียบสายสื่อสารลงท่อร้อยสาย พร้อมพัฒนาเป็นโอเปอเรเตอร์กลางเข้าถึงลาสไมล์ทุกพื้นที่ มุ่งต่อยอดโอกาสในธุรกิจสร้างมูลค่าเพิ่ม รองรับการให้บริการบรอดแบนด์-ดาต้า เซอร์วิสหวังดันสู่อินฟราฯแชร์ริ่งอย่างเป็นรูปธรรม
นายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เปิดเผยว่า ด้วยศักยภาพความพร้อมของท่อร้อยสายใต้ดินของเอ็นทีที่มีอยู่แล้ว 4,450 กิโลเมตร แบ่งเป็นท่อร้อยสายในพื้นที่นครหลวง 3,600 กิโลเมตร และภูมิภาค 850 กิโลเมตร จึงทำให้เอ็นทีเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรุงเทพมหานคร เทศบาล และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
โดยเอ็นทีให้บริการให้เช่าใช้ท่อร้อยสายใต้ดินกับหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการโทรคมนาคม แทนการพาดสายสื่อสัญญาณต่างๆ ผ่านเสาไฟฟ้าของ กฟน. และ กฟภ. พร้อมกับเอ็นทีมีแนวทางพัฒนาบทบาทเป็นกลางด้านผู้ให้บริการ (Neutral Operator) และจะจัดระเบียบสายสื่อสารแบบการใช้โครงข่ายปลายทางร่วมกัน (Single Last Mile) รองรับการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ บรอดแบนด์ และดาต้า เซอร์วิสโดยตอนนี้คิดค่าบริการอยู่ที่ 90-120 บาทต่อเดือนเพื่อให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือมาเช่าใช้
ซึ่งแผนการดังกล่าวจะเป็นการลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และมีการใช้ทรัพยากรของรัฐที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยแผนการดำเนินงานนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสายใต้ดินในปี 2566 จะสอดคล้องกับแผนงานของ กสทช. กฟน. กฟภ. กทม. เทศบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดระเบียบสายสื่อสารเพื่อปรับสภาพภูมิทัศน์ของบ้านเมืองให้มีสภาพเรียบร้อยสวยงาม เพิ่มศักยภาพและความปลอดภัยของโครงข่ายสื่อสารจากอุบัติเหตุ โดยได้นำร่องไปที่พัทยาแล้วและในอนาคตจะให้บริการในพื้นที่เยาวราช
เขา กล่าว่า แผนงานโครงการปรับเปลี่ยนสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครอาเซียน จำนวน 39 เส้นทาง ระยะทาง ประมาณ 127 กม. โดยมีแผนที่จะดำเนินการในปี 2566 เช่น ถนนอังรีดูนังต์ ถนนหลังสวน ถนนวิทยุ ถนนพระราม 4 ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนลาดพร้าว ถนนพหลโยธิน ถนนรามคำแหง ถนนศรีนครินทร์ แผนงานโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน และตามนโยบายสำนักงาน กสทช. โดยมีแผนในปี 2566 เช่น ถนนมหาราช ถนนอโศก ถนนรัชดาภิเษก ถนนอิสรภาพ แผนงานโครงการร่วมกับ กทม. เส้นทางปรับปรุงทางเท้า 13 เส้นทาง เช่น ถนนเยาวราช ถนนสุทธิสาร (อินทามระ) ถนนพระราม 4 แผนงานโครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดินของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เช่น นครราชสีมา เชียงใหม่ เชียงราย ระนอง หนองคาย ชลบุรี ภูเก็ต พัทยา และ หาดใหญ่
"ตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมาเรามีการจัดระเบียบสายสื่อสารไปแล้วหลายเส้นทาง เพื่อผลักดันให้มีการจัดระเบียบสายสื่อใช้โครงข่ายปลายทางร่วมกัน เพื่อลดจำนวนการพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า และเข้าสู่บ้านเพื่อให้บริการลูกค้าทั้งแบบแขวนอากาศและแบบอยู่ใต้ดิน ลดการลงทุนซ้ำซ้อนของผู้ให้บริการ ตอบโจทย์ความมั่นคง และมีเสถียรภาพทางการสื่อสารและโทรคมนาคม สามารถใช้ทรัพยากรของประเทศร่วมกัน (อินฟราสตรัคเจอร์ แชร์ริ่ง)