ความแม่นยำ ‘ผลโพลเลือกตั้ง’ เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น
ช่วงนี้ผมเห็นผลโพลเลือกตั้งออกมามากมายจากหลายสำนัก บ้างก็เป็นศูนย์วิจัยที่เคยทำโพลต่างๆ เป็นประจำ บ้างก็เป็นหน่วยงานใหม่รวมถึงสื่อมวลชนที่มาทำโพลการเลือกตั้งครั้งนี้โดยเฉพาะ วิธีการทำโพลแต่ละสำนัก มีความแตกต่างกัน บางโพลสำรวจโดยใช้ตัวอย่างจำนวนหลักพันคน
บางโพลเลือกทำแบบสำรวจออนไลน์ได้ข้อมูลจำนวนเป็นหมื่นๆ คน หลายโพลอาจมีผลที่คล้ายกันในบางด้าน แต่ผลการสำรวจบางโพลก็แตกต่างกันอย่างมาก คนที่เห็นผลสำรวจอาจสงสัยว่า ควรเชื่อถือโพลสำนักใดดี บางโพลอาจเห็นได้ชัดว่าโน้มเอียงไปตามหน่วยงานหรือสื่อที่สำรวจ ทั้งนี้ อาจเพราะผู้ตอบแบบสำรวจคือกลุ่มคนที่ติดตามสื่อนั้นๆ จึงได้ผลคนที่มีความคิดเห็นที่มีทิศทางเดียวกันมาตอบ
จริงๆ แล้วผมเคยเขียนบทความ “ว่าด้วยเรื่องผล “โพลออนไลน์” น่าเชื่อถือเพียงใด?” และชี้ให้เห็นว่าจากการศึกษาของ Pew Research Center พบว่า ออนไลน์โพลในสหรัฐอเมริกาจะมีผู้ปลอมมาตอบแบบสอบถามในทุกโพลอยู่ในช่วง 4-7% รวมถึงพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนหนึ่งมาตอบเพียงเพราะต้องการของที่ระลึกหรือรางวัลที่ผู้สำรวจอาจจะมอบให้ ซึ่งก็ทำให้ผลการสำรวจคาดเคลื่อนไปได้
ที่สำคัญอย่างยิ่งการสำรวจที่จัดทำโดยกลุ่มคนเพื่อหวังประโยชน์ให้กับตัวเอง หรือต้องการให้ผลโพลเป็นตามทัศนคติของตัวเอง ก็จะมีลักษณะที่ทำให้กลุ่มของตัวเองและพวกพ้องมาตอบแบบสอบถามมากกว่า แม้จะมีการโพสต์แบบสอบถามทางโซเชียลมีเดีย แต่ด้วย ระบบเอไอ ของ โซเชียลมีเดีย ก็มีแนวโน้มทำให้ผู้คนที่มีทัศนคติคล้ายกันเห็นข้อมูลที่จะนำไปสู่การชักจูงในการตอบแบบสอบถามมากยิ่งขึ้น จึงทำให้ไม่แปลกใจที่ผลโพลลักษณะนี้จะโน้มเอียงไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งอย่างมาก โดยคะแนนอาจโน้มเอียงขึ้นไปด้านตัวเองมากกว่า 90% ก็เป็นได้
ในสหรัฐอเมริกา มีเว็บไซต์ที่ชื่อ FiveThirtyEight ที่ทำการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของสำนักโพลต่างๆ โดยวัดจากโพลการเลือกตั้งเมื่อเทียบกับผลเลือกตั้งจริง ที่เก็บสถิติย้อนหลังมาหลายปี แล้วนำมาจัดเกรดตั้งแต่ A ถึง D สำนักโพลชื่อดังหลายแห่งก็ได้รับการจัดอันดับอยู่เกรด A+ ดังเช่น Siena College/The New York Times Upshot หรือ ABC News/The Washington Post ทั้งนี้สำนักโพลทั้งสองยังใช้วิธีการสำรวจโดยการโทรศัพท์เจาะจงไปยังกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเมื่อเทียบกับการสำรวจที่ใช้แบบสำรวจออนไลน์อย่าง SurveyMoney กลับพบว่า ได้เกรดเพียงระดับ C
การทำโพลที่ดีควรต้องใช้หลักการทางสถิติ เช่น วิธีสุ่มตัวอย่าง ควรมีกลุ่มตัวอย่างที่เหมาะสมเช่น อายุ ภูมิภาค อาชีพ และฐานะทางเศรษฐกิจ การเลือกตัวอย่าง การที่เอียงเอนก็อาจทำให้ผลสำรวจผิดเพี้ยนได้ นอกจากนี้การสำรวจความคิดเห็นมักจะมีค่าความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้น ซึ่งผลสำรวจที่ดีควรจะบอกวิธีการสำรวจที่ชัดเจนและประมาณการความคาดเคลื่อนของการสำรวจ
ในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์ และเทคโนโลยีเอไอ ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว กลับจะทำให้มีความแม่นยำต่ำลง ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น การสำรวจโดยใช้เทคโนโลยีอาจไม่สามารถได้กลุ่มตัวอย่างที่ดีในการเป็นตัวแทนของผู้คนทั้งหมด และอาจจะกระจุกอยู่ในกลุ่มคนบางกลุ่ม เพราะประชากรจำนวนหนึ่งไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตหรือสื่อสังคมออนไลน์
ยิ่งแบบสอบถามออนไลน์อาจมาจากที่ไหนก็ได้ แม้แต่คนต่างชาติหรือโปรแกรมบอต และเราไม่สามารถทราบตัวตนที่แท้จริงของเขา จึงอาจทำให้มีผู้ตอบแบบสำรวจที่ให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น อายุ อาชีพ จังหวัดที่อยู่ ที่เป็นเท็จได้
บางสำนักโพลอ้างว่ามีการใช้ เทคโนโลยีเอไอ ในการสำรวจความคิดเห็นการเลือกตั้ง จริงๆ แล้วการใช้เทคโนโลยีเอไอบางครั้งอาจส่งผลให้เกิดความโน้มเอียง (Bias) ในขณะที่เอไอสามารถดึงข้อมูลมาจากหลายแหล่ง และวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากในเวลาอันสั้น แต่ความคลุมเครือของข้อมูลที่สะสมอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูล
แม้วันนี้โลกเทคโนโลยีกำลังเข้ามาแพร่หลายมากขึ้น แต่เรื่องของการทำโพลอาจจะต้องเลือกใช้เทคโนโลยีเท่าที่จำเป็น และอาจต้องใช้วิธีสำรวจแบบเดิมๆ และมีการเปิดเผยข้อมูลและกระบวนการทำงาน เพื่อให้ผู้คนทั่วไปสามารถตรวจสอบความเป็นกลางและความถูกต้องของข้อมูลที่ได้ ทั้งต้องให้ความสำคัญสำรวจข้อมูลที่หลากหลาย และตั้งคำถามที่ออกแบบมาเพื่อให้ความคิดเห็นอย่างเปิดกว้าง รวมถึงการวิเคราะห์ความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างที่หลากหลาย
และที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาความเป็นกลางของผู้ทำโพลที่ต้องไม่มีเจตนาในการชี้นำผลเลือกตั้ง และควรให้มีการตรวจสอบและวิเคราะห์ผลสำรวจโดยทีมงานที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงมีการตรวจสอบความถูกต้องของผลโพลย้อนหลังเมื่อทราบผลการเลือกตั้งแล้ว เพื่อเป็นข้อมูลให้ทราบถึงความแม่นยำในการสำรวจเหมือนกับเว็บไซต์ FiveThirtyEight
สรุปแล้ว ความน่าเชื่อถือของผลโพลยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น ยังคงมีข้อสงสัยเสมอ ดังนั้นเมื่อเราเห็นการนำเสนอผลโพล คงต้องพิจารณาทั้งวิธีสำรวจ ความเป็นกลางผู้ทำโพล ตรวจสอบและตั้งคำถามถึงความถูกต้องของผลโพลเสมอ ต้องคิดวิเคราะห์อย่างคนที่มีทักษะทางด้านข้อมูล ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในโลกยุคปัจจุบัน