ผ่าบทบาท 'AI' ปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะ ตรวจพิสูจน์ 'คดีความผิดทางเพศ'
กทปส. หนุน ม.มหิดล นำ “เอไอ” AI ตรวจพิสูจน์ “คดีความผิดทางเพศ” ช่วยทำงานเร็วกว่าคนถึง 5.7 เท่า พร้อมลดการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ด้านนิติพยาธิแพทย์
Key Points :
- กองทุน กทปส. หนุน ม.มหิดล นำ “เอไอ” ตรวจพิสูจน์ “คดีความผิดทางเพศ”
- เอไอ หนุนการทำงานเร็วกว่าคนถึง 5.7 เท่า แม่นยำสูงถึง 97.2%
- เตรียมนำร่องใช้งานที่โรงพยาบาลศิริราช
กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดย สำนักงาน กสทช. สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาโครงการยกระดับการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์คดีความผิดทางเพศ ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์
เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้นิติพยาธิแพทย์ ซึ่งเป็นสาขาที่ขาดแคลน ลดเวลาการทำงานตรวจพิสูจน์ผู้กระทำความผิด ชี้เอไอรวดเร็วกว่าเดิม 5.7 เท่า และแม่นยำสูงถึง 97.2% เตรียมนำร่องใช้งานที่โรงพยาบาลศิริราช ตั้งเป้าเติมความรู้เอไอเพื่อพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
ดึงเทคฯ อัจฉริยะ AI ลดคดีทางเพศ
กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2560 -2564 พบว่า ประเทศไทยมีสถิติการเกิดคดีข่มขืนกระทำชำเรามากถึง 8,997 คดี สอดคล้องกับสถิติจากมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์กรสาธารณประโยชน์) ที่พบว่าใน 4 เดือนแรกของปี 2565 มีผู้ถูกข่มขืนกระทำชำเราถึง 289 ราย หรือคิดเป็น 2.5 รายต่อวัน ซึ่งสถิติดังกล่าวถือว่ามากกว่าปี 2564 ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
ทั้งนี้ การที่เหยื่อจะแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้นั้น จำเป็นต้องใช้หลักฐานทางนิติเวช ช่วยพิสูจน์ข้อเท็จจริง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์และนิติพยาธิแพทย์ เป็นสาขาที่ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์อย่างมากในปัจจุบัน “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ” จึงนับเป็นหนึ่งโซลูชั่นที่จะเข้ามาช่วยลดช่องว่างของปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับนักวิทยาศาสตร์และนิติพยาธิแพทย์ได้
ผศ. ดร.นริศ หนูหอม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการยกระดับการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์คดีความผิดทางเพศ ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ กล่าวว่า คดีการล่วงละเมิดทางเพศในไทยเป็นหนึ่งปัญหาที่มีอัตราการก่อเหตุเพิ่มขึ้นทุกปี สวนทางกับจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ด้านนักวิทยาศาสตร์ และนิติพยาธิแพทย์ ที่ยังคงขาดแคลนอย่างมากในปัจจุบัน
ภาระงานที่มากเกินกำลังอาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติงาน เพราะบุคลากรเกิดความเหนื่อยล้า ขั้นตอนการตรวจพิสูจน์หลักฐานจากผู้กระทำความผิดใช้เวลานาน เนื่องจากต้องใช้นักวิทยาศาสตร์และนิติพยาธิแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ส่งผลถึงรูปคดี รวมถึงสภาพจิตใจของผู้ถูกกระทำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบาง
ชี้ AI หนุนการตรวจพิสูจน์เร็วขึ้น
ดังนั้น จึงมีโครงการยกระดับการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์คดีความผิดทางเพศ ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการปฏิบัติงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และช่วยให้กระบวนการตรวจพิสูจน์ทำได้เร็วขึ้น จากเดิมขีดความสามารถของบุคลากรสามารถทำการตรวจหาเชื้อได้อยู่ที่ประมาณ 28 เคสต่อวัน หรือใช้เวลาในการตรวจพิสูจน์โดยเฉลี่ยอยู่ที่เคสละ 17 นาทีแล้วแต่ความยากของแต่ละเคส
แต่เมื่อนำระบบเอไอเข้ามาช่วยตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ ก็พบว่าสามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์คดีความผิดทางเพศได้ถึง 160 เคสต่อวัน หรือสามารถร่นระยะเวลาการตรวจวิเคราะห์เหลือเพียง 3 นาทีต่อเคสเท่านั้น
AI ตรวจสอบได้แม่นยำถูกต้อง 97.2%
ทั้งนี้ จากการดำเนินงานวิจัยจะมีการวัดประสิทธิภาพใน 2 เรื่องหลัก คือ ความรวดเร็วและความถูกต้อง ซึ่งจากการดำเนินการทดสอบพบว่า เอไอ สามารถช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ ด้านนักวิทยาศาสตร์ และนิติพยาธิแพทย์ ทำงานได้เร็วกกว่าเดิมถึง 5.7 เท่า ส่วนด้านความถูกต้องระบบเอไอสามารถตรวจพิสูจน์เชื้ออสุจิได้อย่างแม่นยำสูงถึง 97.2%
โดยข้อมูลที่ใช้ฝึกสอนโมเดลเอไอก็คือข้อมูลที่ได้จากนักวิทยาศาสตร์ และนิติพยาธิแพทย์ ยิ่งมีข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสามารถสร้าง AI ที่ฉลาดขึ้นได้มาก ซึ่งหมายถึงการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ จะมีความถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง
“คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมทดลองนำร่องนำระบบการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์คดีความผิดทางเพศ ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ไปใช้งานที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นที่แรก ส่วนในอนาคตมีแผนที่จะขยายผลการใช้งานโดยทำการติดตั้งระบบตรวจหาเชื้ออสุจิด้วยเอไอให้กับสถาบันนิติเวชวิทยา และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อนำผลงานวิจัยนี้ไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ในการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ในคดีความผิดทางเพศ
พร้อมตั้งเป้าที่จะพัฒนาระบบให้มีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งยังคงใช้องค์ความรู้จากนิติพยาธิแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ โดยจะเป็นข้อมูล Feedback ผลการประเมินของเอไอที่ยังไม่แม่นยำ หรือเพิ่มเคสการตรวจยากหรือมีความซับซ้อนมากขึ้น เสมือนเป็นการเติมความรู้ให้เอไอใช้ในการเรียนรู้เพื่อปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นการใช้เงินทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดย สำนักงาน กสทช. ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม” ผศ. ดร.นริศ กล่าวทิ้งท้าย