อย่าล้อเล่นเรื่องหัวใจ! ใช้ "Apple Watch" อย่างไรให้หัวใจแข็งแรง
เผยเคล็ดไม่ลับเทคนิคการใช้ "Apple Watch" ให้คุ้มค่าคุ้มราคา โดยเฉพาะคนที่อยากมีสุขภาพกายและหัวใจที่แข็งแรง
ถึงหลายคนจะมี Apple Watch อยู่บนข้อมือ แต่ใช่ว่าทุกคนจะใช้ Apple Watch ได้คุ้มค่าตัว ถึงฟีเจอร์ทั่วไปจะครอบคลุมการใช้งานหลักๆ แล้ว ทว่าจะดีกว่าไหมถ้านาฬิกาสุดล้ำของ Apple เรือนนี้จะช่วยให้ทุกคนมีสุขภาพดีขึ้น มีชีวิตดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการดูแลรักษาหัวใจ
KT Review กรุงเทพธุรกิจไอที เจาะลึกการใช้งานที่มากกว่าดูเวลา ด้วยแอปพลิเคชันเกี่ยวกับสุขภาพที่จำเป็นสำหรับคนหัวใจอ่อนแอ หรือคนที่อยากมีหัวใจแข็งแกร่ง เพียงไม่กี่ขั้นตอนแต่คุณจะกลับมามีสุขภาพดีอย่างเหลือเชื่อ
หัวใจเต้นเท่าไร ต้องรู้
แอปพลิเคชัน Heart Rate หรือแอปอัตราการเต้นของหัวใจ เป็นฟีเจอร์ลำดับต้นๆ ที่ผู้ใช้ "Apple Watch" น่าจะคุ้นเคยอย่างดี เพราะนี่คือฟีเจอร์หลักที่หลายคนใช้ต้องเคยลองใช้ เพราะทั้งง่าย และเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าร่างกายกำลังเป็นอย่างไรแบบเรียลไทม์
การใช้งานแอป Heart Rate เพียงเปิดแอป แล้วรอให้ Apple Watch วัดอัตราการเต้นของหัวใจของเรา ที่สำคัญยังดูอัตราการเต้นของหัวใจขณะพัก เดิน หายใจ ออกกำลังกาย และขณะฟื้นตัวตลอดทั้งวันได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังเปิดการแจ้งเตือนอัตราการเต้นของหัวใจได้ด้วย เพื่อให้รู้ว่าเรามีอัตราการเต้นของหัวใจสูงหรือต่ำกว่าอัตราการเต้นต่อนาที (BPM) ที่เลือกไว้ หรือเพื่อตรวจสอบเป็นครั้งคราวว่าจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติหรือไม่ แต่การแจ้งเตือนจังหวะการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอมีเฉพาะใน watchOS 5.1.2 หรือใหม่กว่าเท่านั้น และการแจ้งเตือนนี้จะต้องมีให้บริการในประเทศหรือภูมิภาคและต้องอยู่ในประเทศหรือภูมิภาคที่ซื้ออุปกรณ์ จึงจะเปิดใช้งานการแจ้งเตือนจังหวะการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอได้ ซึ่งไทยเราก็อยู่ในนั้นเรียบร้อยแล้ว
แล้วสงสัยไหมว่าฟีเจอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจทำงานอย่างไร?
ใน "Apple Watch" จะมีเทคโนโลยีหนึ่งเรียกว่า Photoplethysmography เป็นเทคโนโลยีที่ใช้หลักการว่า เลือดมีสีแดงเพราะจะสะท้อนแสงสีแดง และดูดซับแสงสีเขียวเอาไว้ Apple Watch จะใช้ไฟ LED สีเขียวคู่กับโฟโต้ไดโอดที่ไวต่อแสงเพื่อตรวจวัดปริมาณของเลือดที่ไหลเวียนผ่านผิวหนัง หรือที่เรียกว่าการกำซาบผิว โดยตรวจวัดบริเวณข้อมือ ณ เวลาหนึ่งๆ เมื่อหัวใจของเราเต้น การไหลเวียนของเลือดในข้อมือและการดูดกลืนแสงสีเขียวก็จะมากขึ้นด้วย
ในระหว่างจังหวะหัวใจ อัตราดังกล่าวก็จะลดลง Apple Watch ใช้ไฟ LED ที่กะพริบนับร้อยครั้งต่อวินาทีเพื่อคำนวณจำนวนครั้งที่หัวใจเต้นในแต่ละนาที ซึ่งก็คืออัตราการเต้นของหัวใจนั่นเอง เซ็นเซอร์วัดหัวใจแบบออปติคัลรองรับช่วงอัตราการเต้น 30–210 ครั้งต่อนาที
แต่เพื่อความแม่นยำ มีเทคนิคอีกนิดหน่อยในการใช้งาน Apple Watch คือ
- ต้องเลือกขนาดตัวเรือนและขนาดสายที่พอดี เพื่อการสวมใส่ที่ไม่แน่นเกิน ไม่หลวมเกินไป มีช่องว่างให้ผิวได้หายใจ และต้องปรับสายให้กระชับขึ้นเพื่อออกกำลังกายเพื่อให้เซ็นเซอร์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- Apple Watch จะทำงานได้แม่นยำที่สุดในการเคลื่อนไหวเป็นจังหวะ เช่น การวิ่ง การเดิน การขี่จักรยาน เป็นต้น และให้ผลลัพธ์ที่ด้อยกว่าเล็กน้อยในกิจกรรมที่เคลื่อนไหวไม่เป็นจังหวะหรือไม่ปกติ เช่น การชกมวย การตีแบดมินตัน การตีเทนนิส เป็นต้น
- รอยสักบางประเภท มีผลต่อประสิทธิภาพการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ เนื่องจากลวดลายหรือความเข้มของรอยสักอาจปิดกั้นแสงจากเซ็นเซอร์ได้
- อุณหภูมิก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย เพราะ Apple Watch วัดอัตราการเต้นของหัวใจผ่านการกำซาบผิว ซึ่งความหนาวเย็นจะทำให้การกำซาบผิวน้อยลงจนอาจวัดค่าไม่ได้หรือไม่แม่นยำนั่นเอง
หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ อีกภัยร้ายที่ต้องรู้
หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ หรือ AFib เป็นจังหวะการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอแบบหนึ่ง โดยหัวใจห้องบนเต้นเป็นจังหวะที่ไม่สัมพันธ์กับหัวใจห้องล่าง ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ ของบุคคลผู้มีอายุต่ำกว่า 65 ปี และ 9 เปอร์เซ็นต์ ของบุคคลผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมี AFib เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นก็จะยิ่งพบเห็นอาการจังหวะการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอได้บ่อยขึ้น ผู้ที่มี AFib บางรายอาจไม่พบอาการใดๆ แต่บางรายจะมีอาการต่างๆ เช่น หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น อ่อนเพลีย หรือหายใจลำบาก
"Apple Watch" จะดูการเต้นของหัวใจเป็นครั้งคราวเพื่อตรวจหาจังหวะการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอซึ่งอาจเป็น AFib ได้ โดยมักจะตรวจขณะที่เราอยู่นิ่งๆ เพื่อให้แน่ใจว่าอ่านค่าได้แม่นยำยิ่งขึ้น จำนวนครั้งของการอ่านค่าที่เก็บรวบรวมในแต่ละวันและการเว้นระยะเวลาระหว่างการอ่านค่าแต่ละครั้งจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวร่างกาย
สำหรับการใช้งานการแจ้งเตือนจังหวะการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอ ทำได้ง่ายๆ ดังนี้
- เปิดแอป Health ใน iPhone
- แตะแท็บ Browse > Heart > Irregular Rhythm Notifications แล้วเปิดใช้งาน
- เลือกเปิดหรือปิดการแจ้งเตือนได้ที่แอป Apple Watch บน iPhone
เมื่อเปิดการแจ้งเตือน และถ้าพบว่ามีภาวะจังหวัการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ ควรรีบเข้าไปพบแพทย์
ECG ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ที่ข้อมือ
การวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG หรือ EKG) คือการทดสอบที่จะบันทึกระยะเวลาและกำลังของสัญญาณไฟฟ้าที่ทำให้หัวใจเต้น เมื่อดูที่ ค่า ECG แพทย์จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับจังหวะการเต้นของหัวใจและตรวจสอบหาความผิดปกติต่างๆ ได้
สำหรับแอป ECG นั้นบันทึกการเต้นและจังหวะการเต้นของหัวใจได้โดยใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับการเต้นของหัวใจด้วยไฟฟ้า แล้วตรวจสอบค่าบันทึกเพื่อหาภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (AFib) ซึ่งเป็นการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติรูปแบบหนึ่ง
แอป ECG จะบันทึกค่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจซึ่งแสดงคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ทำให้หัวใจเต้น แอป ECG จะตรวจสอบคลื่นไฟฟ้าเหล่านี้เพื่อให้ทราบอัตราการเต้นของหัวใจและดูว่าหัวใจห้องบนและห้องล่างเต้นถูกจังหวะหรือไม่ หากหัวใจเต้นผิดจังหวะ นั่นอาจหมายถึง AFib
แล้วแอป ECG ใช้งานอย่างไร?
เป็นเรื่องง่ายมากที่จะติดตั้งและตั้งค่าแอป ECG เพียงทำตามขั้นตอนดังนี้
- เปิดแอป Health ใน iPhone
- แตะแท็บ Browse > Heart > Electrocardiograms (ECG) > เข้าไปตั้งค่าแอป ECG
- เวลาใช้งานให้เปิดแอป ECG ใน Apple Watch
- วางแขนบนโต๊ะหรือบนหน้าตัก
- วางนิ้วมือข้างที่ไม่ได้สวมนาฬิกาค้างไว้บน Digital Crown โดยไม่ต้องกด Digital Crown ระหว่างช่วงนี้
- รอ การบันทึกใช้เวลา 30 วินาที เมื่อการบันทึกค่าเสร็จสิ้น เราจะได้รับการจัดประเภท มีตั้งแต่จังหวะไซนัส คือหัวใจเต้นสม่ำเสมอ, ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (AFib) ซึ่งเป็นจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติที่พบมากที่สุด, อัตราการเต้นของหัวใจต่ำหรือสูง, ไม่สามารถสรุปผลได้ แปลว่าจัดประเภทข้อมูลที่บันทึกไม่ได้ อาจเป็นผลมาจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง เช่น มีเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ หรือสภาพทางสรีระบางประเภท เป็นต้น และประเภทสุดท้ายคือ การบันทึกไม่ดี อาจต้องลองวัดค่าใหม่อีกครั้งด้วยท่าทางและวิธีที่ถูกต้อง
- จากนั้นให้แตะเพิ่มอาการ แล้วเลือกอาการ
- แตะบันทึกเพื่อบันทึกอาการ แล้วแตะเสร็จสิ้น (Done)
ติดตามการนอนหลับ เคล็ดไม่ลับหัวใจแข็งแรง
รู้กันดีว่าการนอนหลับให้เพียงพอและมีคุณภาพส่งผลดีต่อสุขภาพ แอป Heath บน iPhone ก็ช่วยให้ตั้งเป้าหมายการนอนหลับและติดตามการนอนหลับได้อย่างละเอียด
ยกตัวอย่าง แอป Sleep บน iPhone จะติดตามและทำแผนภูมิเวลาที่ใช้บนเตียงตามการใช้งาน iPhone ในเวลากลางคืน หากต้องการรับข้อมูลการนอนหลับจาก "Apple Watch" จะต้องเปิดใช้งานการติดตามการนอนหลับอย่างน้อย 4 ชั่วโมงในแต่ละคืน
หากต้องการดูประวัติการนอนหลับ ให้เปิดแอป Health บน iPhone จากนั้นแตะการนอนหลับ หากเราบันทึกโหมดการนอนหลับไว้เป็นรายการโปรดไว้ จะเข้าถึงได้จากหน้าสรุปในแอป Health
เลือกหมวดหมู่เพื่อดูรายละเอียดการนอนหลับเพิ่มเติมได้ดังนี้
ระยะ: ดูเวลาและเปอร์เซ็นต์ที่ใช้ในระยะตื่นหรือในระยะหลับฝัน, ระยะหลับจริง หรือระยะหลับลึก
จํานวน: ดูรายละเอียดระยะเวลาการนอนหลับ เช่น เวลาบนเตียงนอนโดยเฉลี่ยและเวลานอนหลับโดยเฉลี่ย
การเปรียบเทียบ: ดูอัตราการเต้นของหัวใจและอัตราการหายใจที่เกี่ยวข้องกับเวลาที่นอนหลับ หากมี Apple Watch Series 8 หรือ Apple Watch Ultra ยังเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลอุณหภูมิข้อมือในตอนกลางคืนได้อีกด้วย
นอกจากนี้ "Apple Watch" ยังดูอัตราการหายใจขณะนอนหลับได้ด้วย โดย Apple Watch Series 3 หรือใหม่กว่าที่ใช้ watchOS 8 จะวัดและติดตามอัตราการหายใจของเราได้ เมื่อเปิดติดตามการนอนหลับด้วย Apple Watch ไว้ หากสวม Apple Watch เข้านอน นาฬิกาจะวัดและบันทึกจำนวนครั้งที่เราหายใจในหนึ่งนาที