เทียบฟอร์ม! ‘เอไอเอส - ทรู’ อัดกลยุทธ์สู้กันต่อ โชว์ผลงาน 3 เดือนแรก ไม่เลว!
‘เอไอเอส ทรูดีแทค’ ไตรมาสแรกโชว์ฟอร์มไม่เลว ‘เอไอเอส’ โตทุกเซกเมนต์ คนใช้ 5G โตทะลุ 7.2 ล้านราย 'สมชัย' ซีอีโอมองตลาดกลับมาแล้ว ใช้งบ 3 หมื่นล้าน สานเป้าสู่องค์กรโทรคมนาคมเทคอัจฉริยะ 'ทรูดีแทค' รวมกัน 5จี เร็วขึ้น ลูกค้าเพิ่ม ARPU ลดลง เร่งเปิดเกมรุกชู 5 สิ่งที่ดีกว่าสู้
Key Points :
- 'เอไอเอส’ โตทุกเซกเมนต์ กำไร 6.7 พันล้าน คนใช้ 5G โตทะลุ 7.2 ล้านราย นักวิเคราะห์ชี้ 5G เร็วสุด สานเป้า องค์กรโทรคมนาคมเทคโนโลยีอัจฉริยะ
- ‘ทรูดีแทค’ ได้เรทติ้ง A+ จากการจัดอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่จากการควบกิจการ นักวิเคราะ ชี้ ทรูดีแทค รวมกัน 5จี เร็วขึ้น 3 เท่า ชู 5 สิ่งที่ดีกว่าสู้
‘เอไอเอส-ทรู’ โชว์ฟอร์ม ไตรมาสแรก ‘เอไอเอส’ โตทุกเซกเมนต์ กำไร 6.7 พันล้าน คนใช้ 5G โตทะลุ 7.2 ล้านราย จากเดิม 2.8 ล้านราย สมชัย ซีอีโอ มองตลาดกลับมาแล้ว เร่งใช้งบ 3 หมื่นล้าน ยกระดับเครือข่ายต่อเนื่อง สานเป้าสู่องค์กรโทรคมนาคมเทคโนโลยีอัจฉริยะ
ด้าน ‘ทรู’ ได้เรทติ้ง A+ จากการจัดอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่จากการควบกิจการ นักวิเคราะอวย ทรูดีแทค รวมกัน 5จี เร็วขึ้น 3 เท่า แม้ยอดใช้บริการเฉลี่ยต่อเลขหมาย หรือ ARPU จะลดลง จากการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นก็ตาม
เอไอเอส โตทุกมิติ
เอไอเอส โชว์ตัวเลขรายได้ไตรมาสแรกปี 2023 รายได้รวม 46,712 ล้านบาท โต 3.2% กำไรสุทธิที่ 6,757 ล้านบาท โตขึ้น 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยรวมๆ เติบโตทุกเซกเม้นท์ EBITDA 22,636 ล้านบาท แต่ก็ยังโต 1 % เมื่อเทียบกับปีก่อน ความสามารถทำกำไร EBITDA margin 48.5%
ลงลึกแต่ละกลุ่มธุรกิจ ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีรายได้จากการให้บริการเติบโตขึ้น 1.4% เทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน จำนวนลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมที่ 46.1 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 108,000 ราย มีผู้ใช้งาน 5G อยู่ที่กว่า 7.2 ล้านราย เติบโตขึ้นจาก 2.8 ล้านราย ในช่วงไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเอไอเอสให้บริการ 5G ครอบคลุม 87% ของพื้นที่ประชากรไทยแล้ว
ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รายได้โตกว่า 11% จากไตรมาส 1 ปีก่อน และเติบโตต่อเนื่อง 4.3% จากไตรมาสก่อน AIS Fibre มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 99,000 รายต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน และมีฐานลูกค้ารวมกว่า 2.3 ล้านราย
ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรและธุรกิจอื่น โดย AIS Business ทำรายได้โต 5.2% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน เอไอเอส เน้นดึงขีดความสามารถของโครงข่ายมา เพิ่มความคล่องตัวทางธุรกิจ เช่น AIS PARAGON (Next Generation Orchestration Platform) เป็นเสมือน 5G One Stop Platform ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมบริหารจัดการทรัพยากรผ่าน Cloud และ Edge Computing ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่อย่าง Green Data Center
‘สมชัย เลิศสุทธิวงค์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS บอกว่า เอไอเอส เริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาของกำลังซื้อของผู้บริโภค และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจภาพรวม โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศถึง 6.5 ล้านคน ในขณะที่ผู้คนในประเทศก็เริ่มออกมาเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ
“ปีนี้ AIS ยังลงทุนอย่างต่อเนื่องด้วยงบประมาณ 27,000-30,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับโครงข่ายและการให้บริการ สู่การเป็นองค์กรโทรคมนาคมเทคโนโลยีอัจฉริยะ”
ก่อนหน้านี้ Opensignal บริษัทวิเคราะห์ด้านเครือข่ายสื่อสาร ยกให้ ผู้ใช้เครือข่าย เอไอเอส ได้รับประสบการณ์การเชื่อมต่อ 5G ด้วยความเร็วเฉลี่ยสูงสุดด้วยคลื่นความถี่ 42.7 MHz เป็นเครือข่ายที่มีความเร็วในการดาวน์โหลดสูงสุด
ทรู ปลื้ม ได้เรทติ้ง A+ หลังควบรวม
ด้าน ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ เปิดรายได้ไตรมาส 1 ปี 66 อยู่ที่ 51,463 ล้านบาท กำไรติดลบ 492.46 ล้านบาท
ทั้งนี้ ทรู ได้เรทติ้ง A+ จากการจัดอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่จากการควบรวมกิจการ
‘มนัสส์ มานะวุฒิเวช’ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2566 เป็นหมุดหมายของความสำเร็จครั้งสำคัญของบริษัท จากการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
โดยบริษัทที่ควบรวมใหม่ในนาม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มุ่งสู่การเป็นผู้นำของบริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี และยึดมั่นในมาตรฐานสูงสุดของบรรษัทภิบาล ในการขับเคลื่อนระบบนิเวศดิจิทัลครอบคลุมสำหรับทุกคน
“การรวมกันทำให้ลูกค้าทั้งแบรนด์ดีแทคและทรูได้รับประโยชน์จากคุณภาพเครือข่ายที่ดีขึ้น และสามารถเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยบริการ 5G บนคลื่น 2600 MHz และความครอบคลุมของเครือข่าย 4G/5G ที่ดีขึ้นบนคลื่น 700 MHz ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ”
นอกจากนี้ ลูกค้าทรู ดีแทค ยังเพลิดเพลินกับผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายยิ่งขึ้น ตลอดจนสิทธิพิเศษต่างๆ ของทั้งสองแบรนด์ ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวเนื่อง (cross-selling) และการเพิ่มยอดขาย (upselling)
“นับตั้งแต่การควบรวมเสร็จสมบูรณ์ ทรู คอร์ปอเรชั่นเราประสบความสำเร็จในการกำหนดโครงสร้างองค์กรและการทำงานที่รวมเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถดำเนินการตามแผนบูรณาการและบรรลุผลตามแผนระยะสั้นในการทำงานร่วมกัน”
ทรู ดิจิทัล โซลูชัน มีรายได้เพิ่มขึ้น 92% (YoY) จากธุรกิจนวัตกรรมอัจฉริยะ (Smart Solutions) และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สามารถขยายไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจดิจิทัล เฮลท์ ยังสร้างรายได้เติบโต 62% (YoY) นำไปสู่การเติบโตอย่างรวดเร็วและเสริมความแข็งแกร่งด้วยการสร้างระบบนิเวศร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มผู้ประกอบการประกันภัยและผู้ให้บริการด้านสุขภาพ รวมถึงความร่วมมือกับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ง่ายและสะดวกขึ้น
การฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนพลังงานทำให้เกิดแรงกดดันด้านต้นทุนต่อทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค การแข่งขันในอุตสาหกรรมมีการปรับตัวไปในทิศทางที่ขึ้นเล็กน้อยจากการที่ผู้ประกอบการมุ่งเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น การรวมบริการ และไลฟ์สไตล์โซลูชันสำหรับลูกค้า แม้จะมีความท้าทายต่างๆ แต่ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังยึดมั่นในการให้ความสำคัญตามแผนกลยุทธ์ การดำเนินการตามแผนบูรณาการ และการบรรลุผลประโยชน์จากการทำงานร่วมกัน
ไตรมาส 1 ยอดลูกค้าเพิ่ม 6.7 แสนเลขหมาย
ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ทรู ผู้ใช้บริการมือถือเพิ่มขึ้น 676,000 เลขหมาย ไปอยู่ที่ระดับ 50.5 ล้านเลขหมาย หรือเพิ่มขึ้น 1.4% จากไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ผู้ใช้บริการ 5G มีจำนวนถึง 6.3 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) โดยมีปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้น และ 5G มีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) ที่เพิ่มขึ้น 10-15% ผู้ใช้งานดิจิทัลรายเดือน (MAU) สูงถึง 35.8 ล้านราย เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งได้แรงหนุนอย่างต่อเนื่องจากแคมเปญชีวิตดีกว่า เมื่อมีกันและกัน หรือ Better Together หลังจากการควบรวมกิจการเสร็จสิ้น
ARPU ลดลงจากการแข่งขันดุเดือด
นกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "รายได้จากการให้บริการของเรายังอยู่ภายใต้ภาวะ ARPU ที่ลดลงจากผลกระทบการแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรก รายได้รวมลดลง 2.0% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เนื่องจากการลดลงในส่วนของการให้บริการมือถือและออนไลน์
รายได้จากการให้บริการมือถือลดลง 2.5% (YoY) เนื่องจาก ARPU ลดลงแม้ว่าจำนวนผู้ใช้บริการจะเพิ่มขึ้น รายได้จากบริการออนไลน์ลดลง 2.3 % (YoY) จากยอดขายบรอดแบนด์ของลูกค้าที่ลดลงท่ามกลางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งชดเชยด้วยการเติบโตของยอดขายองค์กรภาคธุรกิจ รายได้จากการขายสินค้าลดลง 28.9 % (YoY) เนื่องจากปริมาณการขายเครื่องโทรศัพท์มือถือที่ลดลง และการเปิดตัว iPhone ที่เร็วขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2565”
อย่างไรก็ตาม ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับการเพิ่มเรทติ้งใหม่เป็น "A+" คาดว่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลงจากการที่หนี้เก่าครบกำหนดและรีไฟแนนซ์ภายใต้อันดับเครดิตองค์กรใหม่"
กลยุทธ์ของ ทรู นับจากนี้ ยังคงมุ่งหน้าเร่งสร้างการผนึกกำลังรายได้ โดยใช้โอกาสการเสนอขายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับความต้องการของลูกค้าทั้งแบบ cross selling และ upselling พร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพในเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
ชู 5 สิ่งที่ดีกว่าสู้ศึกครึ่งปีหลัง
นอกจาก จะเปิดตัว พรีเซ็นเตอร์ อย่าง 'นาย-ใบเฟิร์น' ตอกย้ำแบรนด์เป็นกันเอง ทรู ยังมุ่งเน้นกลยุทธ์ เป็น Your Everyday Living – Tech ที่มุ่งนำเทคโนโลยีเข้าถึงทุกคนและทำให้ชีวิตดียิ่งขึ้นในทุกวัน ด้วยการชูกลยุทธ์รุกตลาดไตรมาส 2 ด้วย 5 สิ่งที่ดีกว่า คือ 1. เครือข่ายที่ดีกว่า 2. แพ็กเกจที่คุ้มกว่า 3.ความบันเทิงที่เต็มอิ่มกว่า 4. สิทธิพิเศษที่เหนือกว่า 5. คุณภาพบริการที่ล้ำกว่า