ส่อง 3 โปรเจกต์ "มรดกลุงตู่" วัดใจรมว.ดีอีเอสชอปต่อหรือรอเช็คบิล
เน็ตประชารัฐ กิจการอวกาศ จัดระเบียบสายไฟ งานหนักอึ้งวัดใจเจ้ากระทรวงดีอีเอสคนใหม่เข้ามา "รื้อ" หรือ "สานต่อ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากพิจารณาโครงการหรือโปรเจกต์ที่ยังรอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เข้ามาสรุปว่าจะเดินหน้าไปทางไหน เพราะแม้จะมีการเริ่มตั้งไข่แล้วแต่ยังรอเข้าคิวอนุมัติจากดีอีเอส ซึ่งหลักๆแม้จะดูเป็น "มรดก" จากรัฐบาลลุงตู่แต่โครงการเน็ตประชารัฐที่สร้างโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อให้เข้าถึงกว่า 70,000 หมู่บ้านในไทย การส่งเสริมกิจการอวกาศให้ไทยเป็นฮับในการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมรวมถึงจรวด และการเดินหน้าจัดระเบียบสายสื่อสารลงดิน เพื่อทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นมหานครแห่งใหม่ของอาเซียน
ต่างก็ล้วนแต่สำคัญและหากปรับหลักเกณฑ์ฯให้สอดรับกับบริบทใหม่ของเทคโนโลยีและวิสัยทัศน์ใหม่ๆจากรมว.ดีอีเอสดูเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยและรอดูท่าทีว่ามีทิศทางอย่างไร
เน็ตประชารัฐค้างค่าเช่ามหาศาล
โครงการเน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้าน ของรัฐบาลโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส มอบหมายให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เป็นผู้ดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2560 นั้น ขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของสดช.โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้โอนโครงการแต่เดิมซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานปลัดดีอีเอส มาให้ สดช.ดูแลตั้งแต่เดือน ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา
ทำให้ปีนี้สดช.ต้องรับผิดชอบโครงการเป็นระยะเวลาเพียง 7 เดือน (เม.ย.-ต.ค.2566) เนื่องจากไม่สามารถของบประมาณปี 2566 ทัน จึงได้ของบประมาณจากกองทุนดีอีจำนวนกว่า 500 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจ่ายค่าไฟค่าเล่าอุปกรณ์และค่าบำรุงรักษา
สำหรับปีงบประมาณ 2567 อาจต้องทำเรื่องของบประมาณจากสำนักงบประมาณปีละ 900 ล้านบาท แต่หากไม่ได้ก็ได้ทำเรื่องของบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กองทุนยูโซ่ จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไว้แล้วตั้งแต่เดือน เม.ย. 2565 แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา
แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ผ่านมา 5 ปี เอ็นทีทำโครงการเน็ตประชารัฐให้ดีอีเอส ไม่เคยได้รับงบประมาณในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆแต่อย่างใด จากสำนักงานปลัด เนื่องจากไม่มีงบประมาณและครม.เพิ่งอนุมัติให้ทยอยจ่ายย้อนหลังปีละ 1,000 ล้านบาท
กิจการอวกาศฝันใหญ่เกินตัว?
ดีอีเอสได้ริเริ่ม พรบ.กิจการอวกาศแห่งชาติ พ.ศ. .... และ ร่างแผนแม่บทกิจการอวกาศแห่งชาติ (พ.ศ. 2566- 2580) โดยมอบหมายให้สดช.เป็นเจ้าภาพในการร่างนโยบายด้านกิจการอวกาศของประเทศ เพราะได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมระบบนิเวศของเศรษฐกิจอวกาศที่ครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมอวกาศ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับกิจการและกิจกรรมอวกาศ เช่น ดาวเทียม สถานีภาคพื้นดิน ศูนย์การเรียนรู้ วิจัย และพัฒนานวัตกรรม เป็นต้น
สำหรับกิจการอวกาศของประเทศไทย ซึ่งอยู่ในระยะเริ่มแรกหลังจากการเปลี่ยนผ่านจากระบบการให้สัมปทานเป็นระบบการอนุญาต จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดนโยบายหรือทิศทางในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจการหรือกิจกรรมอวกาศให้มีความชัดเจน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจอวกาศที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ และผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการแข่งขันด้านอวกาศของตลาดโลกได้
ทั้งนี้ ภายในปี 2566 นี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศจะต้องเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งสำนักงานกิจการอวกาศที่มีสถานะเป็นองค์การมหาชน และรวมเอาสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ให้อยู่ภายใต้ร่มเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนการทำงานในลักษณะเอกชนและมีความเป็นเอกภาพ และเตรียมเสนอรัฐบาลชุดใหม่เร็วที่สุด
หารายได้จากสายไฟพะรุงพะรัง
สาเหตุที่ประเทศไทยยังคงมีปัญหาสายสื่อสารรกรุงรัง นอกจากส่งผลต่อทัศนียภาพของประเทศแล้ว ยังเกิดอันตรายต่อผู้คน ทั้งอุบัติเหตุจากสายสื่อสารขาด ระโยงระยางขวางเส้นทางจราจรทำให้ประชาชนได้รับความบาดเจ็บ จนไปถึงการเกิดเหตุไฟไหม้สายสื่อสารที่เห็นอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากสายสื่อสารต้องพาดอยู่บนเสาไฟฟ้า
ดังนั้น การแก้ปัญหาคือ การไฟฟ้าต้องมีโครงการล้มเสาไฟฟ้า และสร้างท่อสำหรับร้อยสายไฟฟ้าลงดิน ทำให้สายสื่อสารมีสภาพบังคับต้องลงใต้ดินไปด้วย ทว่าปัญหาคือ ใช้งบประมาณมหาศาล รวมถึงต้องใช้เวลาในการขุดสร้างท่อ และไม่สามารถเข้าได้ในทุกพื้นที่
ที่ผ่านมาดีอีเอสได้มอบหมายให้เอ็นทีมีท่อสายสื่อสารอยู่เกือบ 5,000 กิโลเมตร ทั่วประเทศให้เร่งดำเนินการจูงใจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการโทรคมนาคมมาเช่าใช้ แทนการพาดสายสื่อสัญญาณต่างๆ ผ่านเสาไฟฟ้าของ กฟน. และ กฟภ. เพราะเอ็นทีมีท่อร้อยสายใต้ดินอยู่แล้ว 4,450 กิโลเมตร แบ่งเป็นท่อร้อยสายในพื้นที่นครหลวง 3,600 กิโลเมตร และภูมิภาค 850 กิโลเมตร
โดยเอ็นทีให้บริการให้เช่าใช้ท่อร้อยสายใต้ดินกับหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการโทรคมนาคม แทนการพาดสายสื่อสัญญาณต่างๆ ผ่านเสาไฟฟ้าของ กฟน. และ กฟภ. พร้อมกับ เอ็นทีมีแนวทางพัฒนาบทบาทเป็น Neutral Operator และ Neutral Last Mile Provider รองรับการให้บริการ Broadband และ Data Service สำหรับผู้ประกอบการโทรคมนาคม เพื่อให้มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน เป็นการลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และมีการใช้ทรัพยากรของรัฐที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด