เส้นทางสตาร์ตอัป ‘Job Passcard’ เชื่อมธุรกิจ เพิ่มโอกาส ‘คนไอที’

เส้นทางสตาร์ตอัป ‘Job Passcard’  เชื่อมธุรกิจ เพิ่มโอกาส ‘คนไอที’

แม้ว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมาสถานการณ์ของ “สตาร์ตอัปไทย” ยังคงน่าเป็นห่วง ทว่ามีหลายรายที่จุดยืนแข็งแกร่ง โมเดลธุรกิจน่าสนใจ ซึ่งน่าจับตามองว่าพวกเขาจะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคและก้าวไปข้างหน้าได้ไกลมากน้อยแต่ไหน...

“กรุงเทพธุรกิจ” มีโอกาสได้พูดคุยกับ “เปรมชัย บุญเสริมวิชา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) Job Passcard เทคสตาร์ตอัปสัญชาติไทย ผู้ให้บริการเครื่องมือสำหรับ Recruiter ยุคใหม่

คนรุ่นใหม่ที่กล้าจะลองมองหาโอกาส ลงมือทำในสิ่งที่แตกต่าง และพร้อมทำงานหนักเพื่อเดินทางไปสู่ความสำเร็จที่ตั้งใจไว้

เปรมชัย เผยว่า พันธกิจของ Job Passcard ต้องการทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงโอกาสได้มากขึ้น โดยให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้สมัครงานและผู้ประกอบการ

ช่วยคัดกรองและทดสอบทักษะผู้สมัครงานที่เคยยุ่งยากและเสียเวลา ให้กลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ที่สำคัญตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจโดยใช้เวลาน้อยลงอย่างมาก

ปัจจุบัน ตำแหน่งงานที่เริ่มให้บริการแล้วคือ งานสายเทคโนโลยี เช่น การเขียนโค้ด โปรแกรมเมอร์ ผู้ดูแลระบบไอที วิศวกรซอฟต์แวร์ ฯลฯ พร้อมออกประกาศนียบัตรรับรอง “Standard Skill Certification” ที่มีมาตรฐาน ผ่านการทดสอบที่มาจากการปฏิบัติจริง ตรวจสอบด้วยระบบอัตโนมัติที่มีความน่าเชื่อถือ

ทั้งนี้ หลังจากเปิดให้บริการไปเมื่อช่วงต้นปีนับว่าได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ขณะนี้มีธุรกิจระดับกลางถึงบนใช้บริการแล้ว 60 ราย ผู้สมัครงานสนใจเข้าใช้งานกว่า 1,500 คน ทั้งนิสิตนักศึกษาจบใหม่รวมถึงผู้ที่เริ่มต้นทำงาน

แก้ ‘Pain Point’ หา ‘คนที่ใช่’

เปรมชัยเปิดมุมมองว่า ที่ผ่านมาทั้งผู้สมัครงานและธุรกิจต่างมี “Pain Point” ในเรื่องนี้ แม้จะมีการแย่งคน ยอมจ้าง ยอมจ่ายเงินเดือนที่สูงแต่ก็ใช่ว่าจะสามารถหาคนที่เหมาะสมมาได้ง่ายๆ

ดังนั้นแพลตฟอร์มนี้จึงตอบโจทย์อย่างมากในการหา “คนที่ใช่” ซึ่งมีทักษะความรู้ความสามารถตรงกับความต้องการ อีกทางหนึ่งเพิ่มโอกาสให้กับคนหางานให้สามารถเข้าถึงงานที่ตนเองต้องการ หรือหากคุณสมบัติยังไม่เพียงพอสามารถหาความรู้เพิ่มเติมและเสริมทักษะได้ตรงจุด ทุกวันนี้การเรียนรู้สามารถทำได้จากทุกที่ทุกเวลา ไม่ถูกจำกัดเพียงแค่ในห้องเรียน

สำหรับโมเดลรายได้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ “บีทูซี” จากการสอบประกาศนียบัตร และ “บีทูบี” จากบริษัทที่เข้ามาใช้แพลตฟอร์ม บริการทดสอบ ช่วยหาคน โดยจะมีทั้งแบบพรีเมียมและฟรีเมียม 

ปีนี้ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีบริษัทให้ความสนใจเป็นพันธมิตรและใช้บริการ 300 ราย ผู้สมัครงานเข้ามาใช้งานไม่น้อยกว่า 3 หมื่นคน และคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ได้ภายในปี 2567

‘เข้าใจ’ ปูทาง ‘ความสำเร็จ’ 

ซีอีโอ Job Passcard เผยถึงความท้าทายของธุรกิจว่า หลักๆ เป็นเรื่องของการสร้างความน่าเชื่อถือและการสร้างแบรนด์ ซึ่งเรื่องนี้หากต้องการจะไปต่อต้องผลักดันให้มีการใช้งานและเกิดการบอกต่อ ด้านกลุ่มเป้าหมายหลักเบื่องต้นเน้นบริษัทที่มีดีมานด์สูง และที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมต่างๆ

“วันนี้ผมว่าเราสามารถปลดล็อกเรื่องนี้ได้แล้ว ที่เหลือคือการเพิ่มพันธมิตร ดึงให้บริษัทและผู้ใช้งานเข้ามาในแพลตฟอร์มให้ได้มากขึ้น เชื่อว่าหากสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง ธุรกิจจะเดินหน้าต่อได้เอง ส่วนของการระดมทุนเพิ่มขณะนี้ยังไม่มีแผน Looloo Technology ที่เป็นบริษัทแม่ มั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการได้”

ด้านปัจจัยความเร็จ ที่สำคัญจะมาจากการมีความเข้าใจถึงความต้องการของภาคธุรกิจ ตลาดแรงงาน สถาบันการศึกษา และคนหางาน ขณะเดียวกันมีการพัฒนายกระดับความสามารถของแพลตฟอร์มและการบริการให้ทันสมัยตลอดเวลา

สำหรับปีหน้ายังคงเน้นเพิ่มพันธมิตรและผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด ส่วนเฟสต่อๆ ไประยะ 3 - 5 ปีมีโอกาสที่จะขยายฐานไปยังงานด้านอื่นๆ มากขึ้น ทั้งกำลังมองโอกาสที่จะขยายฐานตลาดไปต่างประเทศด้วย

เมื่อพูดถึงสตาร์ตอัปเข้าใจว่า มีความเสี่ยงจากหลายปัจจัยแต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรม และ Pain Point ที่มีอยู่ อีกทางหนึ่งด้วยเป็นหน้าใหม่จำต้องให้การศึกษาตลาดอย่างมาก แต่หากว่าสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาสร้างฐานธุรกิจ 7 ปีแรกได้แล้ว โอกาสอยู่รอดก็มีสูงมาก

ลุยไปพร้อมกับทีม

หากพูดถึงสไตล์การบริหารงาน เปรมชัย บอกว่า เป็นคนที่พร้อมที่จะเรียนรู้ ปรับตัว รับฟังความคิดเห็นของทีม ลูกค้าผู้ใช้งาน และเป็นคนที่ชอบที่จะลงไปทำงานกับทีมด้วยตัวเอง โดยมีมุมมองว่า “หากเราทำเยอะ ทีมก็จะทำงานได้ง่ายขึ้น”

เปรมชัย เป็นหนึ่งในผู้เข้าอบรมหลักสูตร Wealth Of Wisdom : WOW ซึ่งจัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” และ “ฐานเศรษฐกิจ” จากการได้รับคำแนะนำจากคนรู้จัก

การเข้าร่วมหลักสูตรนี้เขาพบได้พบว่า เป็นหลักสูตรที่มีความน่าสนใจ ได้รับฟังและเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้คนที่หลากหลาย จากทั้งที่ประสบความสำเร็จด้วยตนเอง บางคนต้องรับผิดชอบบริหารธุรกิจของครอบครัว ซึ่งเหมือนได้มองเห็นตนเองในอนาคต