'ไมโครซอฟท์' ชี้ 'เอไอ' จุดเปลี่ยนธุรกิจ แนะ ‘ซีอีโอ’ ใช้ประโยชน์รับโอกาส
ไมโครซอฟท์ หนุน ‘ปัญญาประดิษฐ์’ จุดเปลี่ยนการทำงานยุคใหม่ เร่งดันศักยภาพ 'เอไอ' ผสานในทุกกลุ่มโปรดักส์ เปิดข้อมูลเชิงลึก 66% ของพนักงานในไทยกลัวถูกเอไอแย่งงาน ขณะที่ 86% พร้อมให้เอไอทำงานแทน แนะซีอีโอธุรกิจเร่งใช้ประโยชน์ หาโอกาสจากเอไอรับโลกยุคอนาคต
Key Points :
- ปลุกศักยภาพ 'เอไอ' ผสานในทุกกลุ่มโปรดักส์
- 86% พร้อมให้เอไอทำงานแทน แนะซีอีโอธุรกิจเร่งใช้ประโยชน์ หาโอกาสจากเอไอรับโลกยุคอนาคต
- ดัน Microsoft 365 Copilot ขยายให้ลูกค้าทั่วโลก รวมถึงในไทยทดลองใช้งาน
หลังเปิดบริการ ไมโครซอฟท์ 365 โคไพลอต (Microsoft 365 Copilot) ไปเมื่อต้นปี โดยนำจุดแข็งความอัจฉริยะของ เอไอ มาเสริมศักยภาพของ แอปพลิเคชัน ที่มีผู้ใช้หลายล้านคนในทุกวันอย่าง ไมโครซอฟท์ เวิร์ด เอ็กเซล พาวเวอร์พ้อยต์ เอ้าท์ลุค ไมโครซอฟท์ ทีมส์และอื่นๆ
ล่าสุด ไมโครซอฟท์ ประกาศเดินหน้าขยายให้ลูกค้าทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยมีทดลองใช้งาน ไมโครซอฟท์ 365 โคไพลอต มากขึ้น พร้อมเปิดข้อมูลเชิงลึกจากงานวิจัย Work Trend Index ปี 2023 ถึงมุมมองความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในชีวิตการทำงานยุคเอไอ
นางสาวสุภาณี อนุวงศ์วรเวทย์ รองกรรมการผู้จัดการสายงานการตลาด และปฏิบัติการ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทยกล่าวว่า การมาถึงของ เอไอ ส่งผลให้วิธีการทำงานต้องเปลี่ยนไปในทุกด้าน จากเดิมที่มีระบบอัตโนมัติทั่วไปในการทำงาน มาเป็นระบบผู้ช่วยที่ทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างชาญฉลาด ทำให้พนักงานหลุดพ้นจากสิ่งที่เรียกว่า ‘Digital Debt’ หรือภาระงานที่เกิดจากการโต้ตอบกันทางอีเมล แชท และประชุม จนไม่สามารถไปคิดค้นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาได้
“เมื่อการทำงานเปลี่ยนไปเพราะเอไอ คนทำงานก็ต้องพัฒนาตนเองให้เท่าทันเช่นกัน พนักงานส่วนใหญ่ในประเทศไทยมองว่าเอไอเป็นสิ่งที่ดีสำหรับพวกเขา จากรายงาน Work Trend Index 2023 ระบุว่า พนักงานไทยถึง 86% ยินดีที่จะมอบหมายให้เอไอ ทำงานแทนให้ได้มากที่สุด เพื่อลดภาระงานลง ดังนั้น ผู้บริหารในยุคนี้ จึงมีทั้งโอกาส และแรงผลักดันให้ต้องเร่งทำความเข้าใจวิธีใช้ประโยชน์จากเอไอ เพื่อลดความจำเจในการทำงาน ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และยกระดับความเชี่ยวชาญด้านเอไอไปพร้อมๆ กัน”
ดันเอไอครอบคลุมทุกกลุ่มโปรดักส์
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ไมโครซอฟท์ มีความพยายามที่จะดัน เอไอ เข้าไปปลั๊กอินในกลุ่มโปรดักส์ต่างๆ ของไมโครซอฟท์ทั้งหมด เพื่อให้ผู้ใช้ได้มีประสบการณ์ใช้งาน และเกิดความคุ้นชินที่มีเอไอเข้ามาเป็นผู้ช่วยการทำงานมากขึ้น
ไมโครซอฟท์ ได้เผยรายงานเชิงลึก Work Trend Index 2023 ชี้ให้ผู้นำธุรกิจเห็นถึงข้อสรุปที่สำคัญ 3 เรื่องใหญ่เพื่อทำความเข้าใจและนำเอไอมาใช้ในองค์กรอย่างถูกต้องเหมาะสม ได้แก่ 1.Digital Debt หรือการยับยั้งการสร้างนวัตกรรมใหม่ ไมโครซอฟท์ มองว่า ปัจจุบันพนักงานทุกคนล้วนมีภาระในโลกดิจิทัลของที่ทำงาน มีข้อมูล อีเมล และแชทปริมาณมหาศาลตลอดวัน จนไม่สามารถรับรู้หรือเข้าใจได้ในทุกส่วน
ดังนั้น การนำเอไอเข้าไปประยุกต์ใช้ จึงเป็นโอกาสในการทำให้การสื่อสารมีประสิทธิผลมากขึ้น เพราะยิ่งเสียเวลาไปกับภาระ digital debt เหล่านี้มากเท่าไร ยิ่งทำให้พนักงานไม่มีเวลาใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นเท่านั้น มีข้อมูลเวลาทำงานในไมโครซอฟท์ 365 ชี้ว่าโดยเฉลี่ยพนักงานใช้เวลาทำงาน 57% ไปกับการติดต่อประสานงาน และเพียง 43% ในการสร้างสรรค์ชิ้นงานขึ้นมา ส่วนอุปสรรคอันดับหนึ่งที่ขัดขวางประสิทธิผลในการทำงาน คือ การประชุมที่ไร้ประสิทธิภาพ
เรื่องที่สอง เอไอ พร้อมเป็นพันธมิตรคู่ใจคนทำงาน ไมโครซอฟท์ มองว่า พนักงานส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับบทบาทของเอไอ ในการแบ่งเบาภาระงานมากกว่า ที่จะกังวลว่าตนเองจะถูกแทนที่จนตกงาน ส่วนผู้บริหารส่วนใหญ่มีความตั้งใจที่จะนำเอไอมา สนับสนุนพนักงานให้ทำงานได้ดีขึ้นแทนที่จะนำมาทำงานแทนมนุษย์
86% ของพนักงานพร้อมให้เอไอช่วย
"สำหรับในไทยเราพบว่า 66% ของพนักงานที่เข้าร่วมการสำรวจยังมีความกังวลว่าจะถูก เอไอ แย่งงาน แต่ก็มีถึง 86% ที่พร้อมจะแบ่งงานให้เอไอช่วยให้ได้มากที่สุด เพื่อแบ่งเบาภาระงาน ขณะที่ พนักงานไทยราว 9 ใน 10 คน มั่นใจว่าพร้อมแบ่งงานที่ซับซ้อน เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลหรือสร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่ๆ ให้เอไอเข้ามาช่วยทำ ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่งานเอกสารหรือธุรการทั่วไป ส่วนระดับผู้บริหาร พบว่า มีกลุ่มที่สนใจนำเอไอ มาใช้เสริมประสิทธิภาพในที่ทำงานเป็นจำนวนที่สูงกว่า กลุ่มที่มุ่งลดจำนวนพนักงานด้วยเอไอราวหนึ่งในสาม"
เรื่องที่สาม คือ พนักงานทุกคนต้องเชี่ยวชาญเอไอ เรียนรู้ความสามารถในด้านใหม่ๆ เช่น การวางโครงสร้างและเขียนคำสั่งสำหรับเอไอ (prompt engineering) แทนที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเอไอเท่านั้น ข้อมูลเชิงลึกชี้ว่า ผู้บริหารในไทยกว่า 90% คาดว่า พนักงานจะต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ในยุคเอไอ
ทักษะด้านเอไอตลาดแรงงานใหญ่
ขณะที่ พนักงานไทย 86% ระบุว่า พวกเขายังขาดความสามารถที่เหมาะสมในการทำงานให้สำเร็จ ดังนั้น จึงคาดการณ์ได้ว่าทักษะใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญด้านเอไอ จะเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงาน พร้อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้างนับตั้งแต่แนวทางการเขียนเรซูเม่ ไปจนถึงประกาศรับสมัครงาน
นางสาวสุภาณี กล่าวว่า ไมโครซอฟท์ได้ประกาศโครงการ ไมโครซอฟท์ 365 โคไพลอต เออรี่ แอคเซส เพื่อให้ลูกค้าในกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ 600 รายทั่วโลกได้มีโอกาสใช้งานเอไอในภาคธุรกิจ โดยเพิ่มความสามารถใหม่ๆ เข้าไป เช่น โคไพลอตในไวท์บอร์ด จะช่วยให้การประชุม และระดมความคิดผ่าน ไมโครซอฟท์ ทีมส์ เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ใช้งานสามารถถาม โคไพลอต ให้ช่วยเสนอแนวคิด จัดระบบไอเดียต่างๆให้เป็นกลุ่มชัดเจน สร้างสรรค์ งานออกแบบที่สะท้อนถึงแนวคิดนั้นๆ และสรุปเนื้อหาที่เขียนลงในไวท์บอร์ด หรือในพาวเวอร์พ้อยต์ผู้ใช้สามารถขอให้ โคไพลอต สร้างสรรค์ภาพใหม่ๆ ขึ้นมาประกอบกับเนื้อหาในหน้าสไลด์ ส่วนในเอาท์ลุค โคไพลอต พร้อมคำแนะนำในการเขียนอีเมลให้มีเนื้อหาชัดเจนพร้อมด้วยน้ำเสียงและอารมณ์ที่เหมาะสม
"โคไพลอต ซึ่งเป็นผู้ช่วยที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ จะสามารถสร้างเอกสาร อีเมล และสไลด์ทั้งหมดได้จากความรู้ที่ได้รับจากการสแกนไฟล์ของบริษัท และรับฟังการประชุม"
เอไอช่วยสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยม
นายสัตยา นาเดลลา ซีอีโอ ของบริษัทไมโครซอฟท์ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เทคโนโลยีใหม่นี้ จะช่วยให้ผู้คนสร้าง คอนเทนต์ที่ยอดเยี่ยม เอกสารที่ยอดเยี่ยม พาวเวอร์พอยต์ที่ยอดเยี่ยม และงานศิลปะ รวมถึงทำการวิเคราะห์ขั้นสูงโดยใช้ข้อความค้นหาที่เป็นภาษาธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทจำนวนมากที่เพิ่มฟีเจอร์แชตบอตเอไอเข้ากับเทคโนโลยีของตนเอง โดยโอเพ่นเอไอซึ่งได้รับการสนับสนุนจากไมโครซอฟท์ ได้ออกมาสร้างความตื่นเต้นอย่างมากด้วย “แชทจีพีที” (ChatGPT) ซึ่งเป็นที่นิยมในเวลาเพียงไม่กี่เดือน และแสดงให้เห็นถึงพลังและจุดอ่อนที่อาจเกิดขึ้นของเทคโนโลยีแชตบอต แต่หลังจากนั้นไม่นาน โอเพ่นเอไอก็เปิดตัว ‘จีพีที-4’ ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์รุ่นล่าสุดออกมา