เสียวหมี่ ขึ้น 'ท็อป 50' บริษัทที่มีนวัตกรรมมากสุด มี พนง.ทักษะ AI ทะลุ 1,200 คน
เสียวหมี่ ขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 29 บริษัทที่มีนวัตกรรมมากที่สุดของโลก จากการจัดอันดับ “50 บริษัทที่มีนวัตกรรมมากที่สุดแห่งปี 2023” ขยับสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วสองอันดับ เสียวหมี่ ตั้งทีมต้นแบบ AI Lab Foundation ขึ้น และมีพนักงานที่เกี่ยวข้องกับ AI แล้ว กว่า 1,200 คน
เหล่ย จุน (Lei Jun) หนึ่งในบิ๊กซีอีโอชาว จีน ที่พาสินค้าไฮเทคจีนครองโลก เขาคือผู้ก่อตั้ง เสียวหมี่ Xiaomi ที่ล่าสุด ถูกจัดอันดับบริษัทที่มีนวัตกรรมมากที่สุดในปีนี้ โดยปีนขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 29 จากการจัดอันดับ “50 บริษัทที่มีนวัตกรรมมากที่สุดแห่งปี 2023” (50 Most Innovative Companies of 2023) ซึ่งขยับสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วสองอันดับ
การจัดอันดับโดย บริษัท Boston Consulting Group (BCG) ชี้ว่า ที่ผ่านมาเสียวหมี่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม โดยมีการทุ่มงบการลงทุนรวมถึงการใช้ผู้มีความรู้ความสามารถจำนวนมาก และได้เปลี่ยนการลงทุนนี้ให้เป็นผลลัพธ์อันน่าทึ่ง ในไตรมาสแรกของปีนี้ ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของเสียวหมี่เพิ่มขึ้น 17.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 4.1 พันล้านหยวน
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 เสียวหมี่ มีจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนานั้นมีมากกว่า 16,500 คน ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่า 50% ของพนักงานเสียวหมี่ทั้งหมด ความพยายามในการวิจัยและพัฒนาของเสียวหมี่นั้นทำให้บริษัทมีสิทธิบัตรกว่า 32,000 ฉบับทั่วโลก ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 โดยคาดการณ์ว่างบการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาทั้งหมดในปี 2566 จะเกิน 2 หมื่นล้านหยวน
เสียวหมี่นั้นเปิดรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างยิ่งยวด ซึ่งรวมไปถึง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) บริษัทได้ก่อตั้งทีมต้นแบบ AI Lab Foundation (AI Lab Foundation Model team) อย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน และมีพนักงานที่เกี่ยวข้องกับ AI มากกว่า 1,200 คน บริษัทจะยังคงขยายโอกาสและสถานการณ์ให้ผู้ใช้งานได้ใช้งานเทคโนโลยี AI ได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังจะเพิ่มความสามารถทางเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้งและมองหาโอกาสในการร่วมมือกับพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง
การจัดอันดับบริษัทที่มีนวัตกรรมมากที่สุดของ BCG (BCG’s Most Innovative Companies Ranking) อ้างอิงจากการสำรวจผู้บริหารด้านนวัตกรรมระดับโลกมากกว่า 1,000 คน ซึ่งได้ทำการสำรวจความคิดเห็นในเดือนธันวาคม 2565 และมกราคม 2566 การสำรวจนี้ได้ทำการประเมินประสิทธิภาพของบริษัทในสี่ประเภท ได้แก่
- การแบ่งปันความคิดอย่างเป็นสากล (global mindshare)
- มุมมองจากอุตสาหกรรมเดียวกัน (industry peer view)
- การปฏิรูปอุตสาหกรรม (industry disruption)
- การสร้างมูลค่า (value creation)
BCG มีการเผยแพร่รายงานนวัตกรรมประจำปีตั้งแต่ปี 2546 บริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในรายชื่อในปี 2566 ได้แก่ Amazon, Alphabet, Microsoft, Siemens, Pfizer, SpaceX, Nike, IBM เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เสียวหมี่ ถือว่าปี 2566 เป็นปีที่สำคัญในการเร่งการเติบโตของเสียวหมี่เป็นอย่างมาก บริษัทยังคงมุ่งมั่นในการเดินหน้าไปสู่กลยุทธ์ใหม่ทางธุรกิจ มุ่งเน้นที่การพัฒนาที่มีคุณภาพสูง ควบคู่ไปกับการแสวงหาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้ง และพันธกิจเพื่อให้ทุกคนในโลกมีชีวิตที่ดีขึ้นผ่านนวัตกรรมเทคโนโลยี
เสียวหมี่ ก่อตั้งขึ้นในเดือนเมษายน 2010 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Main Board of the Hong Kong Stock Exchange ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2018 (1810.HK) เป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตที่มีสมาร์ทโฟนและสมาร์ทฮาร์ดแวร์อัจฉริยะที่เชื่อมต่อด้วยแพลตฟอร์ม Internet of Things (IoT) เป็นแกนหลัก
เสียวหมี่ คือหนึ่งในบริษัทสมาร์ทโฟนชั้นนำของโลก ตามรายงานจาก Canalys ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทในการจัดส่งสมาร์ทโฟน นั้นอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลกในปี 2565 ในเดือนธันวาคม 2565 MAU ของ MIUI นั้นสูงถึงประมาณ 582 ล้านคนทั่วโลก
นอกจากนี้ เสียวหมี่ ยังเป็นผู้นำด้านการก่อตั้งแพลตฟอร์ม AIoT (AI+IoT) ของโลกโดยมีสินค้าอัจฉริยะเชื่อมต่อกับแพลทฟอร์มกว่า 589 ล้านเครื่อง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยยังไม่รวมสมาร์ทโฟน แล็ปท็อปและแท็บเล็ต ผลิตภัณฑ์ของเสียวหมี่มีวางจำหน่ายกว่า 100 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก และในเดือนสิงหาคม 2565 เสียวหมี่ยังติดอันดับที่ 266 บน Fortune Global 500 นับเป็นการติดอันดับครั้งที่สี่ติดต่อกัน และไต่อันดับขึ้นมาถึง 72 อันดับเมื่อเทียบกับปี 2564