‘สมาร์ทซิตี้’ โจทย์ท้าทาย 'ชีวิตวิถีใหม่ - การพัฒนาเมือง'
การขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง กำลังส่งผลทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาด้านการสัญจรมากขึ้น การสร้างพลังงานไฟฟ้าที่ยั่งยืนเป็นแกนหลักของเมืองอัจฉริยะและกลยุทธ์การเดินทางในอนาคต
ข้อมูลในรายงานของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (หรือ UNESCAP) ระบุไว้ว่า อัตราการขยายตัวของเมือง (Urbanization) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงถึง 49% ในปี .2561 และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 56% ในปี 2573
ขณะที่ ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่าภายในกลางศตวรรษนี้จะมีประชากรทั่วโลกถึง 70% อาศัยอยู่ในเขตเมือง เช่นเดียวกับประเทศไทย ข้อมูลจาก Statista ระบุในปี 2564 มีประชากรในเขตเมืองเกินครึ่งที่ 52.16%
ก้าวไปสู่ ‘ความยั่งยืน’
อิค ฮอค อึง ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจบริการสาธารณะและเมือง ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใต้ แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ เผยว่า ผลลัพธ์อันไม่พึงประสงค์จากการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วคือ การจราจรติดขัด ซึ่งส่งผลเสียต่อทั้งภาคเศรษฐกิจ ผลผลิตลดลง สร้างมลพิษทางอากาศ และคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองถดถอย
อย่างไรก็ดี ความท้าทายมากมายของเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อให้เกิดกระแสการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) รวมถึงการนำโซลูชั่นการเดินทางในอนาคต (Future Mobility Solutions) มาปรับใช้อย่างเร่งด่วน
เนื่องจากโซลูชันด้านสมาร์ทซิตี้จะทำให้เมืองในอนาคตสามารถก้าวไปสู่ความยั่งยืนและยืดหยุ่นยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันรับมือกับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มมากขึ้น
พลังงานไฟฟ้า = แกนหลัก
ข้อมูลระบุว่า ทางเลือกการเดินทางในอนาคตรูปแบบใหม่ๆ ล้วนพึงพาการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า อาทิ รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) รถยนต์ไร้คนขับ (AV) และยานพาหนะที่บินขึ้น-ลงได้ในแนวดิ่ง (EVTOL)
โดยเมืองในอนาคตเป็นเมืองที่ไม่ใช่แค่การสร้างพลังงานไฟฟ้าที่ยั่งยืนเพื่อรองรับการใช้งานของรถยนต์ EV และปรับไปสู่รูปแบบการเดินทางใหม่ๆ เท่านั้น แต่ต้องช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และป้องกันไฟฟ้าดับด้วย
“การสร้างพลังงานไฟฟ้าที่ยั่งยืนเป็นแกนหลักของเมืองอัจฉริยะและกลยุทธ์การเดินทางในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้ควรเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกของรัฐบาลประเทศต่างๆ ในการสร้างความยืดหยุ่นและพัฒนาเป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้นในวันหน้า”
อนาคต ‘การเดินทาง’
แดสสอลท์ระบุว่า รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไร้คนขับ เป็นโซลูชั่นการเดินทางในอนาคต ประเมินขณะนี้นับว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ภาครัฐและภาคธุรกิจต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จของเมือง เพื่อขจัดความลังเลของผู้บริโภคในการเปลี่ยนใจมาใช้งาน
ขณะที่ รถยนต์ไร้คนขับ เป็นอีกกุญแจสำคัญของการพัฒนาการเดินทางในอนาคตแบบผสมผสาน แต่ทั้งนี้ในปัจจุบันสภาพแวดล้อมในเมืองยังไม่อัจฉริยะพอที่จะใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ เมืองอัจฉริยะในอนาคตจะมีสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ เสาไฟอัจฉริยะ และป้ายรถเมล์อัจฉริยะที่ติดตั้งตัวปล่อยสัญญาณเพื่อสื่อสารกับรถยนต์ไร้คนขับ
อนาคตหากเทคโนโลยีเหล่านี้พัฒนาไปมากขึ้น จะกลายเป็นสุดยอดนวัตกรรมที่ช่วยขจัดปัญหาการจราจรติดขัด ปรับปรุงความปลอดภัยบนท้องถนน และเพิ่มคุณภาพการใช้ชีวิตในเมือง
‘เวอร์ชวล ทวิน’ เพิ่มโอกาส
อนาคตอันใกล้นี้เริ่มมีความคาดหวังไปถึง ยานพาหนะไฟฟ้าที่บินได้ โดยที่จะได้เห็นเป็นอันดับแรกๆ น่าจะเป็นในรูปแบบขึ้น-ลงได้ในแนวดิ่ง (หรือ Electric Vehicle Take-Off and Landing หรือ EVTOL)
แต่ทั้งนี้ นวัตกรรมนี้จะเพิ่มความซับซ้อนด้านการจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้แก่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของเมือง โดยหน่วยงานที่ดูแลเมืองจำเป็นต้องพิจารณาบริเวณจุดขึ้น-ลง (Vertiport) รวมถึงเส้นทางการบินเพื่อลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและมลพิษทางเสียงที่เพิ่มขึ้น
สำหรับเทคโนโลยีที่จะช่วยให้การพัฒนาเมืองอัจอริยะรวมถึงการเดินทางรูปแบบใหม่ๆ เป็นไปได้มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ แพลตฟอร์ม “เวอร์ชวล ทวิน (Virtual Twin)” เพื่อรองรับการทดสอบเสมือนจริง การจำลองจะทดสอบข้อมูลจำนวนมากที่มาจากเซ็นเซอร์และกล้องไอโอทีในสถานการณ์ต่างๆ
อาทิ การโต้ตอบระหว่างรถกับรถ ระหว่างคนกับรถ การวางแผนด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับจุดขึ้นบินและลงจอด การออกแบบและผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพการขับเคลื่อนและการใช้พลังงาน ฯลฯ ครอบคลุมตั้งแต่การวางแผน ออกแบบ วิเคราะห์ เพื่อการนำไปใช้จริงในอนาคต