ตั้งบ. Single Last Mile ล้อมคอกปม "สายสื่อสาร"

ตั้งบ. Single Last Mile ล้อมคอกปม "สายสื่อสาร"

สมาคมโทรคมฯเล็งตั้งบ. Single Last Mile บริหารจัดการสายสื่อสารเข้าบ้านเป็นสายเดียวกัน ล้อมคอกแก้ปัญหาสายรกรุงรัง ด้านกสทช.เตรียมศึกษาออกใบอนุญาตก่อนเสนอบอร์ดเร็วที่สุด

นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และตัวแทนจากสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยหลังหารือกับนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาเรื่องการจัดระเบียบสาย โดยได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า สมาคมโทรคมฯมีแนวคิดในการร่วมทุนตั้งบริษัทเกี่ยวกับ Single Last Mile หรือ การใช้สายเดียวร่วมกัน เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการสายสื่อสารให้ผู้ให้บริการทุกค่ายใช้สายสื่อสารร่วมกันสายเดียว ไม่ว่าลูกค้าจะต้องการเปลี่ยนใช้บริการของค่ายไหนก็ตาม

โดยขอให้ กทม. อำนวยความสะดวกเรื่องการให้สิทธิ์ในการใช้พื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์กล่องสวิตซ์สำหรับเปลี่ยนระบบ และขอให้กสทช.ออกใบอนุญาตการประกอบกิจการด้านนี้ให้

นอกจากนี้ กทม.ยังได้หารือ เรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกันในภาพใหญ่ด้วย โดยการจัดระเบียบสายสื่อสารแบ่งออกเป็น การจัดระเบียบการพาดสาย ด้วยการตัดสายตายทิ้ง และจัดระเบียบรัดสายสื่อสารให้เรียบร้อย กับ การจัดระเบียบด้วยการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่มีโครงการหักเสาไฟ เพื่อนำสายไฟฟ้าลงดินอยู่แล้ว ทำให้สายสื่อสารต้องกลายเป็นสภาพบังคับให้นำเอาสายสื่อสารลงใต้ดินตามแผนของ กฟน.อยู่แล้ว
 

ด้านนายสมภพ บอร์ดกสทช. กล่าวว่า การหารือในการขอใบอนุญาตสำหรับแนวคิดของสมาคมโทรคมฯในการจัดตั้งบริษัทเพื่อบริหารจัดการสายสื่อสารแบบ Single Last Mile นั้น ต้องให้คณะทำงานด้านกฎหมายไปศึกษาก่อนว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ จากเดิมที่มีการกำหนดการให้อนุญาตอยู่ 3 ประเภท คือ แบบที่ 1,2 และ 3 ซึ่งการขอใบอนุญาตดังกล่าวคาดว่าจะอยู่ในขอบเขตที่เพิ่มเติมเนื้อหาการขอใบอนุญาตแบบที่ 3 ได้ คาดว่าภายในไม่เกิน 1 เดือน จะสามารถหาข้อสรุปและเสนอให้บอร์ดพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ตนยังให้มีข้อเสนอต่อสมาคมโทรคมฯในการจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุจากสายสื่อสารรก รุงรัง ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาได้ทันท่วงทีกว่าที่ประชาชนจะมาประสานผ่านคอลเซ็นเตอร์ของกสทช.เอง เมื่อมีการเยียวยาประชาชนแล้ว สมาคมโทรคมฯ ก็ค่อยเริ่มกระบวนการสืบหาสาเหตุว่ามาจากสายสื่อสารของค่ายไหนทีหลัง จะเป็นการแก้ปัญหาที่ดีและรวดเร็วกว่า

ขณะที่นายวิศณุ กล่าวเสริมว่า ในส่วนของ กทม.ก็มีการนำสายสื่อสารลงดินตามแผนโครงการปรับทางเท้า เช่นกัน โดยปีงบประมาณ 2566 จากแผนปรับทางเท้า 17 เส้นทาง จะมี 5 เส้นทางที่ปรับทางเท้าพร้อมกับนำสายสื่อสารลงดิน ได้แก่ ถนนพระราม 4 จำนวน 2 เส้นทาง,ถนนราชปรารภ,เยาวราช และ สุทธิสาร ซึ่งจะทำให้ค่ายผู้ให้บริการได้รับค่าเช่าที่ถูกลง เนื่องจากผู้ดำเนินการคือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ไม่มีต้นทุนเรื่องการขุดท่อ เปิดทางเท้าใหม่ เพราะทำงานร่วมกับกทม.จากเดิมที่ผู้ให้บริการต้องจ่ายค่าเช่ากับเอ็นทีเดือนละประมาณ 4,000 บาทต่อกิโล