21 ส.ค. ดีเดย์กฎหมายจดแจ้งแพลตฟอร์มดิจิทัล
ชี้ช่วยลดการฉ้อโกงออนไลน์ พร้อมยืดเวลาจดแจ้งภายใน 90 วัน คาดมีผู้ให้บริการจดแจ้งกว่า 1,000 ราย ย้ำแม่ค้าออนไลน์-อินฟลูเลนเซอร์ บนแพลตฟอร์มดิจิทัลไม่กระทบ แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการขายที่ถูกต้องตามหลักปฏิบัติของเจ้าของแพลตฟอร์ม
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส กล่าวว่า พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือ กฎหมาย DPS (Digital Platform Services) ที่ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2565 และจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 21 ส.ค. 2566
ทำให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องมาดำเนินการจดแจ้งข้อมูลแพลตฟอร์มกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้าภายใน 90 วัน นับจากวันที่มีผลบังคับใช้ หากไม่ดำเนินการมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เข้าข่ายต้องมาจดแจ้งตามกฎหมายดังกล่าว คาดว่าจะมีประมาณ 1,000 ราย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ TikTok พันทิพย์ เป็นต้น และกลุ่ม อี-คอมเมิร์ซ ที่เป็นลักษณะ อี-มาร์เก็ตเพลส เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า มาร์เก็ตเพลสขายรถมือสอง และบ้านมือสอง เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต้องมีรายได้ 3 ลักษณะ คือ 1.มีผู้ใช้บริการในระบบมากกว่า 5,000 รายต่อเดือน 2.สำหรับนิติบุคคลมีรายได้เกิน 50 ล้านบาทต่อปี และ 3.สำหรับบุคคลธรรมดามีรายได้ 1.8 ล้านบาทต่อปี
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า หากบริษัทที่มีการค้าขายอยู่แล้ว แต่มีการเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ ไม่ถือว่าเข้าข่ายต้องจดทะเบียน รวมถึงอินฟลูเลนเซอร์ หรือ ประชาชนที่มีเพจขายของในโซเชียลมีเดียต่างๆด้วย เพราะผู้ที่ลงทะเบียนค้าขายกับเจ้าของแพลตฟอร์มต้องดำเนินการตามระเบียบของเจ้าของแพลตฟอร์มที่มีการจดแจ้งอยู่แล้ว ดังนั้นประชาชนที่ค้าขายออนไลน์ไม่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้
สำหรับกฎหมายฉบับดังกล่าวเหลือกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะครั้งสุดท้ายวันที่ 26 มิ.ย.เรื่องมาตรฐานการยืนยันตัวตน ซึ่งปัจจุบันมีรูปแบบในการยืนยันตัวตนหลายรูปแบบ อาทิ อีเมล ,เบอร์โทรศัพท์,บัตรประชาชน และ ดิจิทัลไอดี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการยืนยันผู้ใช้งาน ว่ามีตัวตนหรือไม่ สามารถหาตัวเจอได้ หากมีการกระทำผิด
อย่างไรก็ตาม ดีอีเอส ได้หารือร่วมกับ Pantip และ Blockdit เพื่อนำข้อมูลที่ได้ประกอบการรับฟังความคิดเก็นสาธารณะ ในวันที่ 26 มิ.ย. ด้วย เนื่องจากผู้ให้บริการดังกล่าวเป็นโซเชียลมีเดีย ที่มีการใช้กลไกการลงทะเบียนของผู้ใช้บริการ หรือ User ID ที่ดีมาอย่างต่อเนื่องและมีบัญชีผู้ใช้บริการที่ยังใช้งานอยู่ในระบบจำนวนมาก
จากพูดคุยพบว่า ทั้ง 2 ผู้ให้บริการได้มีการกำหนดวิธีการลงทะเบียนเข้าใช้งานของผู้ใช้บริการที่ค่อนข้างชัดเจน คือมีการกำหนดระดับความน่าเชื่อถือ ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนก่อนเข้าใช้งานตามความเสี่ยงของการใช้งาน เช่น ถ้าเป็นการใช้งานขั้นพื้นฐานทั่วไปที่มีความเสี่ยงน้อย ก็จะเน้นลงทะเบียนยืนยันตัวตนด้วย ชื่อ-สกุล อีเมล หรือ เบอร์โทรศัพท์
แต่ถ้าหากเป็นการใช้งานที่มีความเสี่ยงมากๆ เช่น ขายสินค้า ก็จะต้องมีการยืนยันตัวตนด้วยชื่อ ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ หรือยืนยันตัวตนด้วย ดิจิทัล ไอดี ที่น่าเชื่อถือ อย่าง ดิจิทัล ไอดี ที่ออกโดยแอปพลิเคชัน ThaiD ของกรมการปกครอง