'ทรูมันนี่' เท 100 ล้าน ยกระดับซีเคียวริตี สกัดภัย 'แอปดูดเงิน'
'ทรูมันนี่' ยกระดับการปกป้องบัญชีลูกค้า เปิดเทคโนโลยีใหม่ป้องกันการดูดเงิน 3 ชั้น 'ตรวจ - จับ - หยุด' ธุรกรรมแปลกปลอม เพิ่มความมั่นใจสมาชิกทรูมันนี่ทั้ง 26 ล้านราย เผยที่ผ่านมา ลงทุนระบบซีเคียวริตีเฉลี่ย 100 ล้านบาทต่อปี คุมทรานเซคชั่นเงินไหลเข้า - ออกปีละกว่า 5 แสนล้าน
นางสาวมนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด กล่าวว่า นอกเหนือจากความมุ่งมั่นในการมอบบริการทางการเงิน ที่ใช้งานง่าย และช่วยเพิ่มคุณค่าในทุกการใช้งานให้ผู้ใช้แล้ว ทรูมันนี่ ยังให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีที่มอบความปลอดภัย ให้ความมั่นใจผู้ใช้ในทุกการใช้งาน
ล่าสุด เปิดตัวระบบป้องกันการดูดเงิน 3 ชั้น ‘TrueMoney 3 x Protection’ ที่พัฒนาโดยบริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ร่วมกับผู้ให้บริการระบบความปลอดภัยชั้นนำของโลก อาทิ ‘ชิลด์’ (SHIELD) ซึ่งเป็นบริษัทดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับโลก และ ‘โซลอส’ ผู้เชี่ยวชาญด้านโซลูชัน และเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนแบบไบโอเมตริกซ์ระดับโลก
เปิดตัวระบบป้องกันการดูดเงิน 3 ชั้น
ทั้งนี้ ระบบป้องกันการดูดเงิน 3 ชั้น ‘TrueMoney 3 x Protection’ ได้นำความชาญฉลาดของเอไอ มาทำงานร่วมกับเทคโนโลยีวิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อรวบรวม จำแนก และจดจำ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้ พร้อมตรวจจับ และสั่งการหากมีอะไรผิดปกติ และให้การปกป้องบัญชีผู้ใช้ถึง 3 ชั้น ได้แก่
ชั้นที่ 1 - ตรวจ : ว่าเป็นคุณตัวจริงที่เข้าใช้งานบัญชี ตรวจ เพื่อยืนยันเข้าใช้งานบัญชีด้วยระบบยืนยันตัวตนหลากหลายรูปแบบ เช่น การเรียกสแกนหน้าเพื่อตรวจสอบข้อมูลชีวมิติ ถึงมีมิจฉาชีพที่ล่อลวงจนรู้ OTP หรือ Pin Code แต่ก็ไม่สามารถล็อกอินบัญชีคุณได้ เพราะถูกระบบสแกนตรวจใบหน้าป้องกันไว้
นอกจากนี้ ระบบ ‘TrueMoney 3 x Protection’ ยังสามารถตรวจจับค่า IP address หรือ Location หากมีการเข้าใช้งานจากอุปกรณ์ใช้งานที่แตกต่างไปจากที่ผู้ใช้เจ้าของบัญชีได้ลงทะเบียนหรือใช้งาน
ชั้นที่ 2 - จับ - มัลแวร์หรือแอปต้องสงสัย แอปดูดเงิน และแอปแปลกปลอมที่ไม่ปลอดภัย หากติดตั้งบนอุปกรณ์ที่ใช้งานทรูมันนี่ และปฏิเสธการอนุญาตเข้าใช้งาน
และชั้นที่ 3 - หยุด - การทำธุรกรรมที่ผิดปกติ หากมีการทำรายการที่ผิดปกติ ระบบเอไอจะจำแนก และกำหนดค่าความเสี่ยง เพื่อตรวจสอบความผิดปกติจากประวัติการทำรายการย้อนหลัง และให้ลูกค้าทำการยืนยันตัวตนหลากหลายรูปแบบ หรือหยุดยั้งรายการที่มีความผิดปกติ เพื่อป้องกันการถูกดูดเงินออก
ทุ่ม 100 ล้าน สกัดดูดเงิน
"ปัจจุบันทรูมันนี่มีลูกค้าราว 26 ล้านราย คิดเป็นบัญชีที่มีการใช้งานจริง 17 ล้านบัญชี มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 35% ต่อปี ซึ่งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นใจเราลงทุนด้วยระบบซีเคียวริตีด้วยวิศวกร การบริหารจัดการเพื่อป้องกันภัยคุกคามทั้งหมดที่จะเข้ามากระทบกับลูกค้า ซึ่งได้ลงทุน 100 ล้านบาทต่อปีมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเรามีการใช้เดลี่เพย์เมนต์ทรานเซคชั่นเม็ดเงินไหลเข้า-ออก ค่าเฉลี่ยต่อเดือนราว 40,000 ล้านบาท ทั้งปี 500,000 ล้านบาท"
ขณะที่ ข้อมูลล่าสุดเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาภัยออนไลน์แจ้งมายังเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกว่า 247,753 เรื่อง ผลการอายัดบัญชีที่มีคำร้องทั้งหมด 74,129 บัญชี มีการขออายัด 54,017 บัญชี ยอดเงิน 6.9 พันล้านบาท และอายัดได้ทัน 449 ล้านบาท หรือเพียง 6.4% ของยอดเงินที่มีการร้องขออายัด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงถึง 32,083 ล้านบาท
ไม่เพียงเท่านั้นสมาคมธนาคารไทย ยังพบอีกว่า ช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีการล่อลวงติดตั้งแอปเพื่อเข้ามาดูดข้อมูล รวมถึงปลอมเป็นแอปการเงิน เพื่อเข้ามาควบคุมอุปกรณ์ และแอปการเงินของผู้เสียหายเพื่อดูดเงินจากบัญชี ส่งผลให้มีผู้เสียหายจากการตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 500 ล้านบาท
นางสาวมนสินี กล่าวว่า ทรูมันนี่ เป็นผู้ให้บริการรายแรกๆ ที่เดินหน้าพัฒนาการระบบเทคโนโลยีเพื่อปกป้องบัญชีของลูกค้า ที่ผ่านมาทรูมันนี่ ได้กำหนดให้มีสแกนใบหน้ายืนยันตัวตนก่อนโอน และถอนเงินตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป ตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา และสำหรับการเปิดตัวระบบป้องกันการดูดเงิน 3 ชั้น ‘TrueMoney 3 x Protection’ ถือว่าเป็นระบบเดียวที่มีในตลาดขณะนี้ที่สามารถ ตรวจ-จับ-หยุด ธุรกรรมแปลกปลอมได้ครบวงจร
"ทรูมันนี่ ตระหนักดีว่า ถึงเราจะสร้างแอปการเงินที่มีเทคโนโลยีความปลอดภัยในระดับสูง แต่มิจฉาชีพก็อาจล่อลวงให้ผู้ใช้ตกเป็นเหยื่อ และเผลอให้ข้อมูลสำคัญที่ทำให้มิจฉาชีพเข้าถึงบัญชีได้ ดังนั้นการสร้างระบบที่สามารถผสานข้อมูล และระบบความปลอดภัยให้ทำงานร่วมกันอย่างชาญฉลาดจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยปกป้องผู้ใช้ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการทำธุรกรรม พร้อมช่วยผู้ใช้จำกัด และหยุดความเสียหายแม้พลาดตกเป็นเหยื่อ"
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์