ทำความเข้าใจ ChatGPT และ เอไอ เมกะเทรนด์เทคโนโลยีพลิกโลก
เวลานี้คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ChatGPT” กำลังเป็นหัวข้อมาแรงที่ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ “เอไอ” มากขึ้น
อีกทั้งยังเป็นประเด็นถกเถียงถึงข้อดีและความเสี่ยงของการที่เอไอจะ “เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิต” ในการทำงานร่วมกับเครื่องจักร (machines) และการสื่อสารระหว่างกัน
พิณนรี ธีร์มกร อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า AI คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อให้มีความคล้ายคลึงกับความสามารถและพฤติกรรมของมนุษย์
ถึงแม้ว่าเอไอจะถูกคิดค้นขึ้นตั้งแต่ปี 2485 แต่กลับเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในปี 2565 จากที่ระบบคอมพิวเตอร์สามารถกักเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยในปัจจุบัน เอไอ นั้นมีความสามารถในการเรียนรู้ วิเคราะห์ และคาดการณ์ ความสนใจของมนุษย์ได้อย่างน่าทึ่ง อย่างที่เห็นได้ชัดบนแพลตฟอร์มต่างๆ
อาทิ Netflix, Meta (Facebook) และ Instagram เป็นต้น นอกจากนั้น เอไอ ยังเป็นเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายอุตสาหกรรม อย่างที่เรารู้จักกันในชื่อ "ChatGPT""
รู้จักกับคอนเซ็ปต์หลักของ เอไอ
พิณนรี ระบุว่า machine learning, deep learning และ data science คือ 3 คอนเซ็ปต์หลักของ เอไอ สำหรับ “machine learning” นั้นถือเป็น เอไอ ประเภทหนึ่ง ที่ระบบสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากข้อมูลตัวอย่างที่ได้รับก่อนหน้าโดยไม่จำเป็นใช้โปรแกรมในการป้อนคำสั่งทุกครั้ง
อย่างไรก็ตาม การจัดเตรียมข้อมูลยังจำเป็นต้องใช้ feature engineering ในการช่วยป้อนรายละเอียดเชิงลึกและเพื่อให้แน่ใจว่าชุดข้อมูลสามารถเข้ากันได้กับอัลกอริธึม machine learning อย่างมีประสิทธิภาพ และ machine learning ประเภทหนึ่ง คือ “deep learning” ที่มีการเลียนแบบระบบประสาทของมนุษย์ผ่านเครือข่ายประสาท (neural network) ที่เชื่อมกันอยู่เป็นจำนวนมาก
โดยสามารถป้อนข้อมูลดิบ (raw data) เข้าสู่ระบบได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ feature engineering เข้ามาช่วย อีกทั้งคำตอบที่ได้รับยังมีความถูกต้องกว่า machine learning ธรรมดาอีกด้วย
อันดับสุดท้าย “data science” เป็นการดึงเอาข้อมูลความรู้และความเข้าใจมาประยุกต์ใช้กับเทคนิคสถิติพื้นฐาน machine learning หรือ deep learning เพื่อให้ได้ผลลัพท์ที่เจาะลึกของdata science
ทำความเข้าใจ ChatGPT
ChatGPT หนึ่งเอไอที่ได้แทรกซึมเข้าสู่ทุกวงการธุรกิจ ขณะนี้คือ โมเดลภาษาปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย Open AI ผ่านการป้อนข้อมูลจำนวนมหาศาลจากโลกอินเตอร์เน็ตเข้าไป ซึ่งสามารถให้คำตอบตามที่เราต้องการได้ภายในเวลาอันสั้นไม่กี่นาที
อย่างไรก็ตาม ยังคงจำเป็นต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นโดย ChatGPT อยู่เสมอ เนื่องจากอาจเกิดการเข้าใจผิดและอคติของคำตอบที่เกิดจากการป้อนข้อมูลในตอนต้นได้
ถึงแม้ว่า เอไอ และ ChatGPT จะถูกพัฒนาประสิทธิภาพและแทรกซึมเข้าสู่ภาคธุรกิจและการศึกษาในทิศทางที่ดี แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี้กลับส่งผลให้ผู้คนบางส่วนรู้สึกกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในด้านการจ้างงานและระบบการศึกษา
ประเด็นนี้จำเป็นต้องมีการทำความเข้าใจ เจาะลึก และถกกันให้มากขึ้น ถึงมุมมองของความแตกต่างเพื่อให้มั่นใจว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกนำไปใช้อย่างถูกวิธี
เอไอจะมาแทนที่คนไหม?
สำหรับข้อสงสัยที่ว่า "คน" จะถูกแทนที่การทำงานด้วย เอไอ จริงหรือ? การแทนที่การทำงานของคน การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน และทักษะเพิ่มเติมที่จำเป็นต้องมีเพื่อความอยู่รอดในยุคสมัยใหม่ของเอไอ ล้วนเป็นความกังวลหลักของผู้คนจำนวนมากในช่วงเวลาที่ เอไอ ได้แทรกซึมเข้าสู่ภาคธุรกิจและการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
แอน เฉิง ประธานบริษัท Supercharge Lab จำกัด กล่าวว่า การผสมผสาน เอไอ เข้ากับการทำงานของคนจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวก
ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงาน แต่ยังส่งเสริมความมั่นใจและความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มความน่าสนใจในการทำงานและช่วยลดขั้นตอนการทำงานได้
ขณะที่ เชาวลิต รัตนกรไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) กล่าวเสริมว่า เอไอ จะเข้ามาเป็นเพียงผู้ช่วย (co-pilot) ให้กับคน ซึ่งคนยังเป็นส่วนสำคัญหลักในการป้อนคำสั่งหรือความรู้แก่ เอไอ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ต้องการ
ดังนั้น องค์กรควรให้ความสำคัญในการเลือกใช้เทคโนโลยีหรือ เอไอ เพื่อการพัฒนาบริการ ต่อยอดด้านธุรกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน
รณพงศ์ คำนวณทิพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มายด์ เอไอ เซาท์อีสเอเซีย จำกัด เสริมว่า อาชีพใหม่ที่จะเกิดขึ้นคือ “Prompt engineers” ผู้เชี่ยวชาญที่มาพร้อมความรู้และทักษะในการป้อนคำสั่งให้ เอไอ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
ท้ายที่สุด เอไอ จะยังคงถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นสังคมจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับแรงกระทบนี้และเพิ่มพูนทักษะต่างๆ ที่สำคัญ อีกทั้งเสริมสร้างนโยบายต่างๆ เพื่อต่อยอดศักยภาพและลดความเสี่ยงด้านต่างๆ ให้น้อยลง