บอร์ดกสทช.เสียงข้างมากย้ำ ปลด "ไตรรัตน์" ถูกกฎหมาย

บอร์ดกสทช.เสียงข้างมากย้ำ ปลด "ไตรรัตน์" ถูกกฎหมาย

เปิดความเห็น 4 กสทช. เสียงข้างมาก ระบุชัด 'ประธานกสทช.' ไม่ปฎิบัติตามมติบอร์ด ปลด 'ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล' จากตำแหน่ง 'รักษาการเลขาธิการกสทช.' กรณีพิษบอลโลก ยืนยันอำนาจประธานต้องมาจากเสียงของบอร์ด การไม่ปฎิบัติตามมติที่ประชุมเข้าข่ายผิดมาตรา 157

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า 4 กสทช.เสียงข้างมาก ประกอบด้วย พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ  (ด้านกระจายเสียง),นางสาวพิรงรอง รามสูตร  (ด้านโทรทัศน์),นายศุภัช ศุภชลาศัย (ด้านเศรษฐศาสตร์) และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ (ด้านกิจการโทรคมนาคม)

ได้ลงนามร่วมกันในการส่งความเห็นประกอบรายงานการประชุม กสทช. ครั้งที่ 14/2566 เมื่อวันจันทร์ที่ 26 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา ว่าเมื่อวันศุกร์ที่ 9 มิ.ย. 2566 มติที่ประชุมเห็นชอบให้เปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการ “ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล” เป็น “ภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ” แทน จนกว่าจะมีการสอบสวนกรณีอนุมัติเงินสนับสนุนบอลโลก 600 ล้านบาท และไม่ปฎิบัติตามกฎมัสต์แคร์รี่ ( Must Carry ) ของนายไตรรัตน์เสร็จสิ้น 

แต่กลับพบว่าประธานกสทช. “ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์” ไม่เซ็นคำสั่งตามมติที่ประชุมโดยอ้างว่าเป็นอำนาจของประธานนั้น ถือว่าผิดกฎหมายและอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 157

เปิดความเห็น 4 กสทช.เสียงข้างมาก 

สำหรับเนื้อหาในความเห็นประกอบรายงานการประชุม ขอให้สำนักงานกสทช.บันทึกไว้ในหมายเหตุของมติที่ประชุมในวันที่ 26 มิ.ย.2566 ด้วย โดยมีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้

1.ประเด็นความชอบด้วยกฎหมายและการไม่ปฏิบัติตามมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 โดย 4 กสทช.ขอยืนยันว่า มติที่ประชุม กสทช. เห็นชอบให้มีการเปลี่ยนตัวรองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. (นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล) จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น และเห็นชอบให้แต่งตั้งรองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (นายภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ) เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.

ตลอดจนเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2565 นั้น เป็นมติที่ประชุมที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เป็นไปตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 27 ประกอบระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2555

และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ระเบียบการประชุมฯ)และระเบียบ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการรักษาการแทน การปฏิบัติการแทน และการปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนในตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. และพนักงานของสำนักงาน กสทช. พ.ศ. 2555

โดยในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นกรณีที่กรรมการ กสทช.มีความเห็นไม่สอดคล้องกันย่อมต้องมีการลงมติและได้ปรากฎเป็นมติที่ประชุมเสียงข้างมาก ซึ่งเป็นหลักการที่ถือปฏิบัติโดยทั่วไปของคณะกรรมการที่เป็นรูปแบบขององค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

นอกจากนี้ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่ามีกรรมการ กสทช. ท่านใดทักท้วงหรือคัดค้านในขณะนั้นว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้ง ประธาน กสทช. ก็ได้ร่วมพิจารณาลงมติเห็นชอบให้แต่งตั้งรองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (นายภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ) เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการกสทช. อีกด้วย

ชี้ปธ.กสทช. ต้องเคารพมติเสียงข้างมาก

และเมื่อปรากฎมติที่ประชุมเป็นเสียงข้างมาก ประธาน กสทช. ในฐานะประธานขององค์กรกลุ่มที่เป็นผู้แทนและมีหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินการให้มติที่ประชุมนั้น มีผลในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ โดยจะต้องเคารพในมติที่ประชุมเสียงข้างมากและต้องถือปฏิบัติตามมติที่ประชุม กสทช. ดังกล่าวตามอำนาจและหน้าที่ที่กฎหมาย ระเบียบ หรือประกาศ ที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ ในกรณีมีบุคคลที่ได้รับผลกระทบเสียหาย

จากมติผู้ใดไม่เห็นด้วยกับมติผู้นั้นย่อมสามารถใช้สิทธิดำเนินการทางกฎหมายตามที่เห็นควรได้ หาใช่เป็นกรณีที่กรรมการ กสทช. คนใดคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับมติจะใช้วิธีการโต้แย้งคัดค้านมติโดยการ ไม่ปฏิบัติตามมติที่ประชุมและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเสียเอง

ทั้งนี้ หากประธาน กสทช. ยังคงกระทำการที่ไม่เคารพเสียงข้างมาก และไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ในรูปแบบคณะกรรมการและกระทบต่อการบริหารงานภาครัฐ อันจะส่งผลให้การทำงานของคณะกรรมการไม่ประสบความสำเร็จในรูปแบบตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และยังถือเป็นการไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการอันจะส่งผลทำให้เสียหายแก่ทางราชการอีกด้วย

1.1 ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 25 บัญญัติให้กรรมการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

เข้าข่ายเป็นการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ดังนั้น การที่ประธาน กสทช. ยังคงไม่ปฏิบัติตามมติที่ประชุม กสทช. นอกจากจะเป็นกรณีที่ กสทช. ไม่ปฏิบัติตามมติเสียเองแล้วยังเป็นการไม่ปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และแก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบการประชุมฯ และยังเข้าข่ายจะมีลักษณะเป็นการไม่ปฏิบัติตนเพื่อรักษาจริยธรรมของ กสทช. ตามประกาศกสทช. เรื่อง ประมวลจริยธรรมของสำนักงาน กสทช. ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 24 มีนาคม 2566 และเข้าข่ายเป็นการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อีกด้วย กรณีนี้ สำนักงานกสทช. ควรต้องดำเนินการตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

2.ประเด็นการปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.โดยที่ตามข้อ 9 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๕ ได้กำหนดว่า เลขาธิการ มีหน้าที่รับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงาน กสทช. ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หลักเกณฑ์ คำสั่ง และมติของ กสทช. ดังนั้น เมื่อมติที่ประชุมตามที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น ชอบด้วยกฎหมาย และได้มีการรับรอง

มติที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว ถือว่ามติที่ประชุมนั้นได้ก่อให้เกิดอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายที่บุคคลที่มีอำนาจและหน้าที่นั้น ๆ จะต้องประพฤติปฏิบัติตาม ทั้งนี้ โดยนัยของมติที่ประชุมดังกล่าว นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุลจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. และสำนักงาน กสทช. จะต้องดำเนินการตามมติที่ประชุม กสทช. ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และแก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบการประชุมฯ โดยจะต้องจัดทำคำสั่งแต่งตั้งให้รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (นายภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ) เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.

และเสนอต่อประธาน กสทช. ออกแต่งตั้งตามมาตรา 27(24) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯพ.ศ. 2553 และแก้ไขเพิ่มเติม และข้อ 6 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการรักษาการแทน การปฏิบัติการแทนและการปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทน ในตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. และพนักงานของสำนักงาน กสทช.พ.ศ. 2555

ทั้งต้องจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล เพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรมในแก่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ได้ใช้สิทธิโต้แย้ง คัดค้าน และแสดงพยานหลักฐานของตนเองต่อไป ซึ่งเป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกฯเสนอ

กสทช.ทั้ง 4 ไม่ขอร่วมรับผิด 

แต่เมื่อได้ปรากฎข้อเท็จจริงว่า สำนักงาน กสทช. นำเสนอคำสั่งดังกล่าวต่อประธาน กสทช. เรียบร้อยแล้วแต่ประธาน กสทช. ไม่ลงนามในคำสั่ง จึงเป็นเหตุให้นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. อยู่ในปัจจุบัน โดยอ้างว่าประธาน กสทช. ยังไม่ลงนามในคำสั่ง

กรณีนี้การปฏิบัติหน้าที่ของนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายและมีผลผูกพันต่อคู่กรณีหรือไม่นั้นกสทช. ทั้ง 4 คนจะไม่ขอยอมรับในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว และหากในภายภาคหน้าเกิดข้อโต้แย้งในเรื่องนี้ขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ก็จะไม่ขอร่วมรับผิดชอบในผลแห่งการกระทำนั้น ๆ และจะขอดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายต่อไป

อนึ่ง ขอเรียนเพิ่มเติมว่า การที่กฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งรักษาการเลขาธิการ กสทช. กำหนดให้ประธาน กสทช. โดยความเห็นชอบของ กสทช. แต่งตั้ง นั้น ย่อมเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนแต่งตั้งที่ถือเป็นสาระสำคัญที่มิได้กำหนดให้อำนาจเสร็จเด็ดขาดอยู่ที่ประธาน กสทช. เพียงผู้เดียว

แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจาก กสทช. ซึ่งมีความหมายถึงการพิจารณาอนุมัติ ยินยอม หรืออนุญาต จากกสทช. ด้วย และหาก กสทช. ไม่เห็นชอบ ประธาน กสทช. ย่อมที่จะดำเนินการแต่งตั้งแต่เพียงผู้เดียวมิได้ มิใช่เป็นกรณีที่ประธานกล่าวว่า "กสทช. แต่งตั้ง โดยความเห็นชอบของประธาน กสทช."

ยันการแต่งตั้ง ไม่ใช่อำนาจ ปธ.แต่เพียงผู้เดียว

ดังนั้น การแต่งตั้งดังกล่าวจึงมิใช่อำนาจของประธาน กสทช. แต่เพียงผู้เดียวตามที่ประธาน กสทช. ได้กล่าวมาโดยตลอด แต่การแต่งตั้งโดยการออกคำสั่งเป็นหนังสือหรือเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นเป็นเพียงการจัดทำเอกสารในทางธุรการเพื่อให้การออกคำสั่งทางปกครองมีความชัดเจนเท่านั้น

อย่างไรก็ดีได้ปรากฏมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 598/2557 สรุปได้ว่า ถ้าปรากฎข้อเท็จจริงว่าผู้มีอำนาจได้เคยมีการออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรมอบหมายหน้าที่ในเรื่องเดียวกันนั้นแก่เจ้าหน้าที่ไว้แล้ว และต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงโดยการออกคำสั่งด้วยวาจาให้เจ้าหน้าที่คนใหม่เป็นผู้ทำหน้าที่แทน ย่อมมีผลทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรพ้นจากทั้งหน้าที่และความรับผิดชอบ

ซึ่งกรณีนี้ได้ปรากฎข้อเท็จจริงว่า ประธานกสทช. ได้ลงมติเห็นชอบให้แต่งตั้งรองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (นายภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ) เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ด้วย ย่อมถือว่ามีเจตนาที่จะผูกพันในสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว