ส่องกองขุมทรัพย์ 'เอ็นที' มีดี (พอ) พาองค์กรโตได้ยั่งยืน?
การมุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัลเต็มรูปแบบ เอ็นทีจะใช้จุดแข็งจากการบูรณาการสินทรัพย์เป็นโครงข่ายพื้นฐานที่ครอบคลุมและเข้าถึงประชาชนทั่วประเทศ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่แข็งแกร่ง
หลังการควบรวมระหว่างสองรัฐวิสาหกิจโทรคมนาคมไทยอย่าง ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม เข้าสู่ปีที่ 3 เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที แม้เส้นทางที่ผ่านมาอาจยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่โดดเด่นมากนัก แต่ด้วยสินทรัพย์กองมรดกที่มีนับแสนล้านบาท น่าจะเป็นเครื่องการันตีได้ในส่วนนึงว่า การเติบโตขององค์กรรัฐวิสาหกิจไทย จะต้องยืนอยู่ให้ได้ด้วยตัวเองท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดของอุตสาหกรรมและดิจิทัล ดิสรัปชันที่ยังคงทวีความรุนแรงอย่างไม่เสื่อมคลาย
ในปี 2565 ที่ผ่านมา เอ็นที มีผลประกอบการมีรายได้รวม 91,528 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 90,209 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,319 ล้านบาท
โดยมีรายได้จากกลุ่มธุรกิจมือถือ 50,820 ล้านบาท ธุรกิจ Fixed Line &Broadband และ Sattellite รวม 19,930 ล้านบาท ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและเสาโทรคมนาคม 9,486 ล้านบาท ธุรกิจ International 2,178 ล้านบาท ธุรกิจ Digital และ IDC & Cloud รวม 3,902 ล้านบาท และะรายได้อื่น 5,212 ล้านบาท หรือ 6%
ส่วนรายได้ปีนี้ ผู้บริหารระดับสูงยอมรับอาจต้องปาดเหงื่อเพราะมีค่าใช้จ่ายการเออรี่ รีไทร์ ของพนักงานซึ่งอาจจะทำให้ Botton line แล้วงบทางบัญชีขาดทุนแน่นอน
ปรับเปลี่ยนองค์กรเป็น Tech Company
พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ ซีอีโอ เอ็นที กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจบริษัทในปี 2566 มีแผนปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่เน้นโฟกัสที่ธุรกิจด้านดิจิทัลเป็นหลัก โดยพิจารณาปัจจัยต่างๆ และแนวโน้มที่ประเทศไทยจะมีการลงทุนของธุรกิจต่างชาติเพิ่มขึ้นใน 1-2 ปีข้างหน้า
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล เราคาดว่าความต้องการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมจะเพิ่มสูงขึ้น และเป็นโอกาสของที่จะขยายธุรกิจจากโครงการเคเบิลใต้น้ำเส้นใหม่ ASIA DIRECT CABLE ที่จะเปิดใช้งานในปีนี้ รวมถึงผลักดันการเติบโตของกลุ่มธุรกิจบริการดิจิทัลมากขึ้น โดยมีเป้าหมายระยะยาวคือปรับเปลี่ยนองค์กรสู่การเป็นเทคคัมพานี
ที่ผ่านมา บริษัทได้พัฒนาธุรกิจบริการดิจิทัลอย่างต่อเนื่องในทั้งสององค์กรตั้งแต่ก่อนการควบรวม โดยเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการทรานสฟอร์มองค์กรดังกล่าว ซึ่งมีแนวโน้มในทางที่ดี โดยในปีที่ผ่านมากลุ่มบริการดิจิทัลสร้างรายได้และการเติบโตที่ดี และปีนี้ เอ็นที จึงเตรียม spin off ธุรกิจกลุ่มบริการดิจิทัล 1-2 บริษัท ด้าน Cloud และ IT Security เพื่อการดำเนินธุรกิจที่แข่งขันได้และสร้างผลกำไรมากกว่าโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิม
"ต่อไปเอ็นทีจะมีสถานะเป็นบริษัทโฮลดิ้ง ที่มีเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเป็นหลัก ทั้งโครงสร้างพื้นฐานกลุ่มเดิมคือเสา สาย ท่อร้อยสาย ซึ่งจะเป็นรูปแบบการใช้ประโยชน์ในลักษณะที่ยังคงอยู่ภายใต้รูปแบบรัฐวิสาหกิจ เช่น กองทุน Infra fund หรือ กองทุน REIT ให้เช่าระยะยาว"
มือถือ-บรอดแบนด์ยังแข่งดุเดือด
สำหรับธุรกิจหลักปัจจุบันคือกลุ่ม ธุรกิจมือถือ และบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต เนื่องจากบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตมีต้นทุนสูงและการแข่งขันที่สูงในด้านบริการเสริม เราจึงเน้นที่คุณภาพบริการเพื่อรักษาฐานลูกค้า ขณะที่กลุ่มธุรกิจไร้สายมีแผนพัฒนาคลื่นความถี่ 700 MHz และ 26 GHz โดยคลื่น 700 MHz เป็นการลงทุนติดตั้งโครงข่าย 4G ใช้ทดแทนคลื่น 850 MHz เพื่อดูแลลูกค้าที่มีในระบบเดิมกว่า 2 ล้านเลขหมาย
หลังจากที่เอ็นทีชนะการประมูลคลื่น 700 MHz มาจาก กสทช. เป็นจำนวน 10 MHz ด้วยราคา 34,306 ล้านบาท ล่าสุดมีการรายงานออกมาว่า NT ได้ตัดสินใจเลือกให้ เอไอเอส เป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจแล้ว ตามสัญญาระบุว่า NT จะแบ่งคลื่น 700 MHz ให้ AIS ครึ่งหนึ่งหรือเป็นจำนวน 5 MHz ตามที่บริษัทเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่น 700 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต ในย่านความถี่ 738-748 MHz คู่กับ 793-803 MHz ด้วยราคา 34,306 ล้านบาท จาก กสทช.
โฟกัสอินฟราฯดิจิทัลเต็มรูปแบบ
พ.อ.สรรพชัยย์ กล่าวว่า จากสินทรัพย์ของ เอ็นที มุ่งต่อยอดโอกาสในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน จากจุดแข็งที่ บูรณาการสินทรัพย์เดิมของสององค์กรเป็นโครงข่ายพื้นฐานที่ครอบคลุมและเข้าถึงประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งแม้ผลตอบแทนน้อยแต่มีความสำคัญในการรองรับการพัฒนาประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่แข็งแกร่ง
โดยแนวทางการใช้ประโยชน์สูงสุดจากสินทรัพย์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ ได้แก่
- เสาโทรคมนาคมจำนวนกว่า 25,00 เสา ยุบรวมเสาโทรคมนาคมในบริเวณเดียวกันเพื่อลดต้นทุนในการให้บริการ และการขยายเสาโทรคมนาคมในพื้นที่เฉพาะต่างๆ เช่น อุทยานฯ, ป่าไม้ , สปก., พื้นที่ของหน่วยงานรัฐ ฯลฯ
- ท่อร้อยสายใต้ดิน ความยาวมากกว่า 46,000 กิโลเมตร มีแผนดำเนินการอย่างต่อเนื่องร่วมกับการไฟฟ้าตามนโยบาย กสทช. พร้อมกับมีแนวทางพัฒนาบทบาทเป็น Neutral Operator และ Neutral Last Mile Provider เพื่อผู้ให้บริการสามารถใช้โครงสร้างร่วมกันได้ทั้งเสาโทรคมนาคม และ สายสื่อสาร Core Fiber โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม
-สายเคเบิลใยแก้วนำแสง ความยาวมากกว่า 4 ล้านคอร์กิโลเมตร ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่บริการบรอดแบนด์ผู้ให้บริการไม่จำเป็นต้องลงทุนสายทั้งหมด แต่ใช้โครงข่ายกลางและลากเฉพาะสาย last mile เข้าสู่บ้านเพื่อให้บริการลูกค้าได้ ซึ่งลดต้นทุนของผู้ให้บริการในภาพรวม