ร้าวไม่หยุด! บอร์ดกสทช.วงแตก ประธานฯ ชิงปิดประชุมกะทันหัน
ประธาน กสทช.ยังอุ้มไตรรัตน์รักษาการเลขาธิการ กสทช.ต่อเนื่อง หลังบอร์ดเสียงข้างมากทวงถามให้ทำตามมติ ก่อนชิงปิดประชุมกะทันหันเพื่อเลี่ยงโหวตผ่านวาระปรับโครงสร้างสำนักงาน กสทช.
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า ในวันพุธที่ 9 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมาระหว่างการประชุมบอร์ด กสทช. ครั้งที่ 16/2566 กสทช.4 คนอันประกอบด้วย พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ (ด้านกระจายเสียง), นางสาวพิรงรอง รามสูต (ด้านโทรทัศน์), นายศุภัช ศุภชลาศัย (ด้านเศรษฐศาสตร์) และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ (ด้านกิจการโทรคมนาคม)
ได้ทวงถามประธาน กสทช. นายสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เรื่องการเปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการตามมติบอร์ดเสียงข้างมากครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มิ.ย. 2566 ที่ให้ “นายภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ” รองเลขาธิการด้านกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ ปฏิบัติหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. แทน นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล แต่ประธาน กสทช.ยืนยันว่าจะยังไม่เซ็นคำสั่งตามมติที่ประชุมโดยอ้างว่าเป็นอำนาจของประธาน
มติเปลี่ยนตัวรักษาการเลขาฯรับรองแล้ว
มติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9มิถุนายน 2566 เห็นชอบให้เปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการ จากนายไตรรัตน์ รองเลขาธิการสายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร เป็นนายภูมิศิษฐ์ รองเลขาธิการ สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สืบเนื่องจากการที่นายไตรรัตน์ถูกคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 4 ใน 6 เสียงตัดสินว่าอาจจะมีความผิดจากกรณีอนุมัติเงินสนับสนุน ฟุตบอลโลก 600 ล้านบาท และไม่ปฏิบัติตามกฎมัสต์แคร์รี่ (Must Carry ) จึงควรมีการสอบสวนทางวินัยและหยุดปฏิบัติหน้าที่ในช่วงระหว่างนั้นระหว่างการประชุมได้มีการหยิบยกบันทึกข้อความจากนายภูมิศิษฐ์ ที่ขอให้ที่ประชุม กสทช. วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นดังกล่าวเนื่องจากยังไม่มีการดำเนินการตามมติ
และนายไตรรัตน์ยังคงปฏิบัติหน้าที่บริหารจัดการและลงนามในหนังสือ คำสั่งและประกาศสำคัญต่างๆ ในฐานะรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2566 จนถึงปัจจุบัน แม้ว่ามติให้เปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการฯ ดังกล่าวจะได้ผ่านการรับรองในการรับรองรายงานการประชุมเรียบร้อยแล้วก็ตาม
ประธาน กสทช.ไม่ยอมสลับวาระขึ้นมาพิจารณา
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้อ้างถึง ระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการรักษาการแทน การปฏิบัติการแทน และการปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนในตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. และพนักงานของสำนักงาน กสทช. พ.ศ. 2555 ข้อ 16ที่ระบุว่า “ในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้เลขาธิการ กสทช.เสนอ บอร์ดกสทช. เพื่อพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยของ กสทช. ให้เป็นที่สุด” แต่ ประธาน กสทช.ได้ปฏิเสธที่จะให้ที่ประชุมพิจารณาลงมติโดยอ้างว่าไม่มีการบรรจุวาระนี้ในการประชุมครั้งนี้ แม้ที่ประชุมจะแย้งว่าเป็นวาระติดตามการดำเนินการตามมติบอร์ดกสทช. ประธานกสทช.ก็ไม่ยินยอม และระบุว่าวาระติดตามมติจะต้องเป็นวาระที่พิจารณาในช่วงท้ายของการประชุมหลังวาระเสนอเพื่อพิจารณาอื่นๆทั้งหมดจบหมดแล้ว ทางบอร์ฺดคนอื่นจึงขอให้สลับวาระขี้นมาพิจารณาก่อนก็ไม่ยินยอม อ้างว่าเป็นอำนาจของประธานเท่านั้นในการสลับวาระอื่นขึ้นมาพิจารณา
วาระปรับโครงสร้างภายในค้าง 2 เดือนโดนเบี้ยว
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมดำเนินไปประมาณ 4 ชั่วโมง เวลาประมาณ 13.30 น. เมื่อถึงการลงมติเรื่องการปรับโครงสร้างสำนักงานกสทช.ตามวาระที่ 4.43 (ร่าง) โครงสร้างของสำนักงาน กสทช. ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงอัตราตำแหน่งของบุคลากรและงบประมาณของสำนักงาน กสทช. นั้น ประธาน กสทช. กลับขอให้มีการไปทบทวนมติของ กสทช. ในเรื่องเดียวกันเมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นสมัยของบอร์ดชุดที่แล้วก่อน โดยย้ำว่าจะต้องใช้เสียงกรรมการไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 เพื่อพิจารณาใหม่ตามข้อ 45 ระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555ซึ่งในประเด็นนี้ได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง
โดยพลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ประธานคณะทำงานการปรับปรุงโครงสร้างสำนักงาน กสทช. ได้พยายามอธิบายความหมายของการทบทวนมติและการพิจารณาใหม่ว่าไม่เข้ากับในกรณีนี้ และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การปรับปรุงโครงสร้างสำนักงาน กสทช. เป็นการมอบหมายโดยมติ กสทช. เพื่อนำพาสำนักงานไปสู่การเป็นสำนักงานที่กำกับดูแลกิจการการสื่อสารในลักษณะหลอมรวม
ที่ผ่านมา คณะทำงานปรับโครงสร้างสำนักงานกสทช. ได้ถูกจัดตั้งขึ้นและดำเนินการตามมติการประชุม กสทช. ครั้งที่ 17/2565 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ที่เห็นชอบให้มีการปรับโครงสร้างสำนักงานฯ และมติการประชุม กสทช.นัดพิเศษ ครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2566 ที่ได้เห็นชอบและให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างฯ ตามที่ประธานคณะทำงานนำเสนอ ตลอดจนได้จัดประชุมรับฟังความเห็น
โดยคณะกรรมการ กสทช.และผู้บริหารได้เข้าร่วมเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 ก่อนที่ร่างการปรับปรุงจะถูกเสนอเข้าที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 26 มิ.ย. 2566 และเลื่อนการพิจารณามาจนถึงวันที่ 9 ส.ค. 2566 เป็นเวลาเกือบสองเดือน หลักฐานเหล่านี้จึงสะท้อนว่า การดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามมติและอยู่ในสายตาของบอร์ดกสทช. มาอย่างต่อเนื่อง และบอร์ด กสทช.สามารถลงมติต่อ (ร่าง) โครงสร้างของสำนักงาน กสทช. ที่ได้มีการปรับปรุงแล้วและเสนอเป็นวาระเพื่อพิจารณาได้ตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมฯ และ กสทช. สามารถลงมติวินิจฉัยชี้ขาดโดยใช้เสียงข้างมากของกรรมการผู้มาประชุมได้ตาม ข้อ 41 (1) ที่ระบุว่า “กรณีเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มาตรา 27 (19) (23) และ (25) หรือเป็นกรณีการบริหารจัดการภายในตามความในมาตรา 58 ให้ใช้เสียงข้างมากของกรรมการผู้มาประชุม”
มาตรา 58 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2553 ดังกล่าวระบุให้ กสทช. มีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไป การบริหารงานบุคล การงบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน และการดำเนินการอื่นของสำนักงาน กสทช. โดยให้รวมถึงเรื่องการแบ่งส่วนงานภายในของสำนักงาน กสทช.และขอบเขตหน้าที่ของส่วนงานดังกล่าว รวมถึงการกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือนและค่าตอบอื่นของเลขาธิการ กสทช. พนักงาน และลูกจ้างของสำนักงาน กสทช. ซึ่งการพิจารณาวาระ (ร่าง) โครงสร้างสำนักงาน กสทช. อยู่ในขอบเขตอำนาจที่สามารถใช้เสียงข้างมากของกรรมการผู้มาประชุมในการพิจารณาตามระเบียบการประชุมฯ ได้
ประธาน กสทช.ชิงปิดประชุมกะทันหันทันที
เมื่อ กสทช.ทั้ง 4 คนตามรายชื่อข้างต้นได้เสนอว่าประธานควรให้มีการลงมติตามระเบียบดังกล่าวซึ่งมีความชัดเจน ประธาน กสทช. ก็ไม่ยินยอมและยังยืนยันให้มีการทบทวนมติของบอร์ด กสทช. ชุดที่แล้วในเรื่องนี้ เพื่อให้ต้องใช้เสียงมากกว่าสองในสาม การประชุมจึงดำเนินไปถึงจุดตีบตันที่ทั้งประธานและบอร์ด 4 คนเห็นต่างกันในระเบียบเรื่องการลงมติ ซึ่งประธานกสทช.ได้เสนอว่าให้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการกฤษฏีกาตีความ แต่บอร์ดเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยเนื่องจากเป็นระเบียบภายในที่กสทช.มีความเชี่ยวชาญมากที่สุด ณ จุดนี้ ประธานจึงขอพักการประชุม แม้บอร์ด 4 คน จะไม่เห็นด้วยแต่ประธาน กสทช. ก็ประกาศว่าขอพัก การประชุมเป็นเวลา 20 นาทีและเดินออกจากห้องไป
ระหว่างที่ กสทช.บางคนออกไปพักนั้น ประธาน กสทช.ได้กลับเข้ามาในที่ประชุมและกล่าวใส่ไมโครโฟนว่า ขอปิดการประชุม ก่อนจะรีบรุดออกจากที่ประชุม และนั่งรถที่จอดรออยู่ออกไปจากสำนักงานทันที ทิ้งให้บอร์ดที่เหลือในห้องยืนงงกัน เพราะไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในการประชุมกสทช.มาก่อน