ยังไงแน่ ! โครงสร้างใหม่ " กสทช ." ชนวนเหตุทำประชุมล่มจริงหรือ ?
ความจริงอีกด้าน “โครงสร้างกสทช.ใหม่” คนเท่าเดิม-งบลดลง วงในบอร์ดกสทช.เผยความจริงโครงสร้างสำนักงาน กสทช.ใหม่ ที่เสนอบอร์ดพิจารณา อยู่ในกรอบบุคลากรเท่าเดิม แต่ปรับองค์กรให้กระชับ และใช้งบประมาณลดลง
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยถึงกรณีรูปแบบการปรับ โครงสร้างใหม่ ของ สำนักงาน กสทช.ใหม่ต่อคณะกรรมการหรือ บอร์ดกสทช. ที่ยังไร้ข้อสรุปกว่า 2 เดือน และเป็นที่มาของการปิดประชุมกะทันหันของประธานบอร์ด ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2566 ที่ผ่านมาว่า เป็นโครงการสร้างที่ไม่ได้ทำให้งบประมาณเพิ่มแต่อย่างใด แต่กลับทำให้งบประมาณลดลงในกรอบบุคลากรเท่าเดิม
สำหรับโครงสร้างใหม่ที่เสนอให้บอร์ดพิจารณา นั้น อยู่ภายใต้กรอบบุคลากรเท่าเดิมคือ 2,150 คน โดยตำแหน่งผู้บริหารที่มีการปรับเปลี่ยน ประกอบด้วย
- เลขาธิการ 1 คน เท่าเดิม
- รองเลขาธิการ เพิ่ม จาก 6 คน เป็น 8 คน ก็จริง แต่
- ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ลดจาก 6 คน เป็น 5 คน (อัตราเงินเดือนเทียบเท่า รองเลขาธิการ)
- ผู้ช่วยเลขาธิการ ลดจาก 5 คน เป็น 3 คน
- ผู้อำนวยการสำนักลดลง จาก 53 คน เป็น 49 คน
- ผู้อำนวยการส่วนเพิ่มขึ้นจาก 297 คน เป็น 300 คน
ดังนั้น เมื่อรวมแล้ว ทำให้กรอบงบประมาณที่ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในเงินเดือนและค่าตอบแทน แต่ละปี ไม่เพิ่มขึ้น แต่ลดลง การปรับปรุงโครงสร้างใหม่ เพื่อรองรับการหลอมรวมทางเทคโนโลยีให้เป็นไปตามกฎหมายที่เปลี่ยนไป และมุ่งเน้นส่งเสริมผู้ประกอบการ รวมทั้งคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่ดีขึ้น โดยให้มีสายงานตามฟังก์ชั่นการบริหารคลื่นความถี่ตามหลักสากลที่ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู แนะนำ ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณและบุคลากรเท่าเดิม
สำหรับคณะทำงานการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ ของ สำนักงาน กสทช.มี พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ เป็นประธานถูกจัดตั้งขึ้นตามมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 17/2565 เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2565 ที่เห็นชอบให้มีการปรับโครงสร้างสำนักงานฯ รวมทั้งการประชุม กสทช.นัดพิเศษ ครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2566 ก็ได้เห็นชอบและให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างฯ ตามที่ประธานคณะทำงานฯ นำเสนอ ตลอดจนได้จัดประชุมรับฟังความเห็น
โดยบอร์ดกสทช. ทุกคน และผู้บริหารสำนักงานฯ ได้เข้าร่วมเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 ก่อนที่จะถูกเสนอเข้าที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 26 มิ.ย.2566 และได้ถูกเลื่อนการพิจารณามาจนถึงวันที่ 9 ส.ค. 2566 เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนแล้ว