จับตาโฟกัส กรุ๊ปกิจการ "อวกาศ" เปิดเสรี-ลดผูกขาดตลาดดาวเทียม
ประกาศฉบับนี้จึงต้องสร้างสมดุลโดยต้องคุ้มครองสนับสนุนผู้ประกอบการดาวเทียมไทยให้มีความเข้มแข็งอยู่ได้ แต่ก็ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนคนไทยได้ใช้เทคโนโลยีหรือบริการของดาวเทียมต่างชาติ และที่สำคัญต้องสามารถปกป้องอธิปไตยและภัยทางด้านความมั่นคงด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ชุดที่แล้วได้ออกประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ หรือที่รู้จักในนามประกาศ Landing Right มาตั้งแต่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 กอปรกับปัจจุบันเทคโนโลยีทางด้านดาวเทียมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะการประยุกต์ใช้งานดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit: LEO) และดาวเทียมวงโคจรไม่ประจำที่ (Non GEO) ที่ได้เข้ามามีบทบาทในกิจการสื่อสาร รวมทั้งรูปแบบการดำเนินการธุรกิจด้านกิจการดาวเทียมได้เปลี่ยนไป
ดังนั้น หลังจากที่ กสทช.ชุดปัจจุบันได้ประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในวันที่ 15 มกราคม 2566 ทำให้กิจการดาวเทียมสื่อสารได้เปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต เกิดการเปิดเสรีตลาดและการแข่งขันอย่างเสรีแบบสมบูรณ์
กสทช. จึงมีมติให้สำนักงานพิจารณาปรับปรุงประกาศฯ ดังกล่าว และจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเฉพาะในวงจำกัด (โฟกัส กรุ๊ป) ต่อแนวทางในการปรับปรุง
สำหรับประเด็นหลักในการปรับปรุงแก้ไขและนำมารับฟังความคิดเห็น คือ
1. แนวทางการอนุญาต ที่เดิมเป็นการอนุญาตในลักษณะ Exclusive Right กล่าวคือ หนึ่งผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติเป็นสิทธิผูกขาดในลักษณะ One to One ทั้งในแง่ดาวเทียมและการบริการ เพียงหนึ่งเดียว
แต่ตามร่างใหม่จะเปิดโอกาสให้อนุญาตได้หลายผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน โดยได้แยกการอนุญาตจาก 1 เดียว เป็น 3 รูปแบบ ตามการดำเนินการทางธุรกิจ กล่าวคือ 1. การอนุญาต Landing Right รวมถึง Capacity 2. การอนุญาต Gateway และ 3. การอนุญาต Satellite Services
ซึ่งทั้ง 3 การอนุญาตนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ประกอบการรายเดียว สามารถเป็นคนละผู้ประกอบการได้ขึ้นกับความพร้อมของแต่ละราย ซึ่งเป็นการสงเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถมาร่วมขออนุญาตได้
2. คุณสมบัติของผู้ขอรับการอนุญาต รวมทั้งค่าธรรมเนียมการอนุญาต จะแบ่งตามประเภทที่อาจมีความแตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ดียังคงต้องคำนึงถึงด้านความมั่นคง รวมทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ เหมือนเดิม ขึ้นกับแต่ละประเภท โดยคงตามข้อกฎหมายไทย
3. กรณีข้อยกเว้นรวมทั้งการขออนุญาตแบบชั่วคราวอื่นๆ ได้มีการนำมาพิจารณาเพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ โดยนำ Pain point ของประกาศฉบับปัจจุบันมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกสทช.ด้านกิจการกระจายเสียง กล่าวว่า การปรับปรุงประกาศ Landing Right มีความสำคัญมากเนื่องจากเทคโนโลยีดาวเทียมวงโคจรต่ำ จะเข้ามามีบทบาทต่อกิจการสื่อสาร กิจการอวกาศ โดยเฉพาะการสื่อสารแบบ Broadband ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่เน้น Broadcast และต้องยอมรับว่ากิจการดาวเทียมเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันในระดับสากล ต่างจากธุรกิจสื่อสารอื่น เช่น โทรศัพท์มือถือที่ให้บริการได้เฉพาะในประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้เปลี่ยนผ่านกิจการดาวเทียมจากระบบสัมปทานมาสู่ระบบการอนุญาตแล้ว
ดังนั้น ประกาศฉบับนี้จึงต้องสร้างสมดุลโดยต้องคุ้มครองสนับสนุนผู้ประกอบการดาวเทียมไทยให้มีความเข้มแข็งอยู่ได้ทั้งในประเทศไทยและไปสู่สากล แต่ก็ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนคนไทยได้ใช้เทคโนโลยีหรือบริการของดาวเทียมต่างชาติที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งที่สำคัญต้องสามารถปกป้องอธิปไตยและภัยทางด้านความมั่นคงด้วย