กสทช.ไฟเขียว ‘เอ็นที’ โอนคลื่น 700 ให้ ‘เอไอเอส’ -มหากาพย์ เลขาฯ ยังไม่จบ!!
กสทช.ไฟเขียว เอ็นที โอนคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ให้เอไอเอส จำนวน 5 เมกเพิ่มเงื่อนไขเปิด 20% ให้เอ็มวีเอ็นโอใช้งาน คาดสร้างรายได้ 1,000 ล้านบาท ส่วนมหากาพย์เลือกเลขาฯคนใหม่ยังไม่คืบ ประธานฯอ้างองค์ประชุมไม่ครบ
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.วานนี้ (23 ส.ค.) ยังไม่สามารถเสนอชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นเลขาธิการกสทช.ต่อที่ประชุมได้ เนื่องจากกรรมการกสทช.นายต่อพงศ์ เสลานนท์ ลาการประชุม ทำให้กรรมการมาไม่ครบทุกคนจึงไม่เหมาะสมในการเสนอชื่อเพื่อให้กรรมการโหวต
ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้พิจารณาเห็นชอบวาระการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ระหว่างบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที กับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น บริษัทในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุญาตให้โอนคลื่นได้
โดยให้สอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กสทช.จึงเห็นชอบตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ทั้งนี้การโอนคลื่นดังกล่าวต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ เอดับบลิวเอ็น ต้องเปิดความจุ 20 % ของคลื่นจำนวน 5 เมกะเฮิรตซให้แก่ผู้ให้บริการบนโครงข่ายเสมือน (เอ็มวีเอ็นโอ) เช่าใช้งานด้วย
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เอไอเอสได้ประกาศเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับเอ็นทีในการนำคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ มาให้บริการ โดยเอ็นทีประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์ เมื่อปี 2563 ในราคาการประมูลสูงสุด 36,707.42 ล้านบาท และได้จ่ายค่าใบอนุญาตมาแล้วทั้งสิ้น 3 งวด ๆละ 3,670,742,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 7 งวด เอไอเอสจะเป็นผู้ชำระค่าใบอนุญาต 5 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 17,000 ล้านบาท ให้เอ็นที โดยเอ็นทีคาดว่าจะสร้างรายได้จากเอไอเอสในการโอนคลื่นนี้ให้ทำตลาดราว 1,140 ล้านบาท
สำหรับการคัดเลือก เลขาธิการกสทช.นั้น ที่เเป็นประเด็นนั้น ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า ในการประชุมประธานกสทช.จะมีการเสนอวาระการคัดเลือกเลขาธิการกสทช.คนใหม่ ให้ที่ประชุมพิจารณาก่อนหน้านี้นพ.สรณ ได้ทยอยส่งหนังสือแจ้งผลการคัดเลือกฯ ไปยังบุคคลที่สมัครเข้ารับคัดเลือกเป็น เลขาธิการ กสทช. แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า “ประธาน กสทช. ขอแจ้งให้ทราบว่า ท่านไม่ได้รับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ กสทช. จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและขอขอบคุณที่ท่านให้ความสนใจแสดงความประสงค์สมัครเข้ารับการคัดเลือกในตำแหน่งดังกล่าว” ซึ่งเป็นที่กังขาอย่างมากว่า เหตุใด ประธาน กสทช. จึงตัดสินใจเพียงผู้เดียว โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของบอร์ด กสทช ทั้งคณะ
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้สมัครเลขาฯ ส่วนใหญ่ไม่พอใจ จึงได้มีการส่งจดหมายโต้แย้ง ถึง ประธาน กสทช ที่ใช้อำนาจมิชอบแต่เพียงผู้เดียวในการตัดสิทธิ์ผู้สมัครทั้ง 7 ราย โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของกรรมการ กสทช ท่านอื่นๆ เลย ซึ่งเป็นการทำผิดหลักกระบวนการสรรหาเลขาฯ และหลักธรรมาภิบาล โดยเจตนาเหลือไว้เพียงนายไตรรัตน์รายเดียว ซึ่งประธานเตรียมชงเข้าที่ประชุม เพื่อรับตำแหน่งเลขาฯ กสทช แบบนอนมาโดยเป็นการเสนอชื่อนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการกสทช.คนปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า กรรมการ กสทช. อีก 4 ราย ไม่เห็นด้วย หากจะมีการแต่งตั้งนายไตรรัตน์ เป็นเลขาธิการ กสทช. คนใหม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ บอร์ด กสทช. เคยมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนนายไตรรัตน์ กรณีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ซึ่งยังไม่พิจารณาไม่แล้วเสร็จ