วัดขุมกำลัง 2 บิ๊กโทรคมนาคม ‘เอไอเอส-ทรู’ เฉือนเหลี่ยมชิงผู้นำ!!
ถึงวันนี้ครบรอบ 6 เดือน หลัง ทรู และดีแทค จดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่จากกรมธุรกิจการค้าและใช้ชื่อหลังควบรวมเป็น “ทรู” อีกฟาก เอไอเอส ก็ประกาศเข้าซื้อกิจการควบ'บริษัท ทริปเปิล ที บรอดแบนด์ จำกัด' หรือ '3บีบี' ครบ 1 ปี ..จับตาชิงเหลี่ยม 2 ขั้วบิ๊กโทรคมนาคมนับจากนี้ น่าสนใจยิ่ง!!
นับถึงวันนี้ครบรอบ 6 เดือน หลัง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) จดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่จากกรมธุรกิจการค้าและใช้ชื่อหลังควบรวมเป็น “ทรู”
อีกฟาก บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ก็ประกาศเข้าซื้อกิจการควบรวม 'บริษัท ทริปเปิล ที บรอดแบนด์ จำกัด' หรือ '3บีบี' ก็ครบ 1 ปีหลังจากประกาศเข้าซื้อหุ้นต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ
ในทางปฏิบัตินั้น การควบรวม 3บีบี กับ เอไอเอส ยังอยู่ในขั้นตอนรับฟังความเห็นสาธารณะ โฟกัส กรุ๊ป จากนั้นจะสรุปและเสนอต่อบอร์ด สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งคาดว่าน่าจะไม่เกินสิ้นปีนี้การควบรวมจะเสร็จสมบูรณ์
เทียบสเกลมือถือ VS เน็ตบ้าน
ปัจจุบัน อุตสาหกรรม โทรคมนาคมในไทยถือว่า 'อิ่มตัว' จากจำนวนผู้ใช้งานมากเกิน 101 ล้านเลขหมาย คิดเป็นอัตราส่วนต่อจำนวนประชากร (Penetration Rate) สูงถึง 150% ดังนั้น เมื่อตลาดเหลือผู้ให้บริการอยู่แค่ 2 รายใหญ่ มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 54% และ 46% ดังนั้น หากมองตามดัชนีกระจุกตัวอุตสาหกรรมโทรคมนาคมก็เข้าสู่ภาวะการผูกขาดไปโดยปริยาย เพราะการควบทรูและดีแทคดันให้ดัชนี ค่า HHI สูงเกินมาตรฐานคือมากกว่า 5,016 จุด
ส่วนธุรกิจ อินเทอร์เน็ตบ้าน ปัจจุบันมีผู้เล่นรายใหญ่ 4 ราย ได้แก่ ทรูออนไลน์ , 3บีบี, เอ็นที , เอไอเอส ไฟเบอร์ และยังมีผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ขนาดกลางและใหญ่ อีกจำนวนกว่า 20 รายให้บริการในบางพื้นที่ กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ
ตัวเลขจากศูนย์ข้อมูลกลาง กสทช. พบว่า ธุรกิจเน็ตบ้านมีผู้ใช้งานรวมกันอยู่แค่ 13.23 ล้านราย Penetration Rate ต่ำกว่า 60% ของจำนวนครัวเรือนในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน ทรูมีลูกค้าเน็ตบ้านที่ 3.8 ล้านราย ส่วน เอไอเอส ไฟเบอร์ อยู่ที่ 2.33 ล้านราย 3บีบีมีลูกค้าอยู่ที่ 2.4 ล้านราย เอ็นมีลูกค้าที่ 1.92 ล้านราย
อย่างไรก็ตาม ขนาดธุรกิจส่งผลกระทบ ต่อการผูกขาดตลาดธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตและดิจิทัลของประเทศที่มีรายได้รวมกว่า 251,502 ล้านบาท และ ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้บริการรวมกว่า 101 ล้านเลขหมาย ขณะที่ ธุรกิจเน็ตบ้านมีรายได้รวมอยู่ที่ 66,254 ล้านบาท และมีจำนวนผู้ใช้บริการเพียง 13.23 ล้านราย โดยเป็นข้อมูล ณ สิ้นปี 2565 ที่มา ศูนย์ข้อมูลกลาง สำนักงาน กสทช.
ชูเทคโนโลยี-บริการแย่งลูกค้า
"สมชัย เลิศสุทธิวงค์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส ระบุในผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ผ่านมาว่า ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ยังคงทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยการขยายพื้นที่บริการ และส่งมอบบริการ นวัตกรรมอินเทอร์เน็ตบ้านที่เหนือกว่ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี
ทั้งเชื่อมโยงอุปกรณ์กระจายสัญญาณ และสร้างโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระดับ Gigabit ทุกห้องภายในบ้านด้วยโครงข่ายไฟเบอร์ หรือ FTTR (Fiber to The Room) เชื่อมต่อสัญญาณไวไฟแบบไร้รอยต่อ
หรือแม้แต่การเปิดให้ บริการ WiFi 6E เทคโนโลยีมาตรฐานสัญญาณไร้สายใหม่บนคลื่นความถี่ใหม่ 6 GHz เป็นรายแรกของอุตสาหกรรมบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในไทย 'เอไอเอส ไฟเบอร์' มีรายได้เติบโตกว่า 15% จากไตรมาส 2 ปีก่อน และเติบโตต่อเนื่อง 5.4% จากไตรมาสก่อน มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 60,500 รายต่อเนื่อง
ขณะที่ 'สกลพร หาญชาญเลิศ' หัวหน้าสายงานออนไลน์คอนเวอร์เจนซ์ ทรู บอกว่า ในฐานะผู้นำบริการอินเทอร์เน็ตบ้านที่อยู่คู่คนไทยมามากกว่า 20 ปี ตั้งแต่ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านสายโทรศัพท์บ้าน เคเบิล บรอดแบนด์ และไฟเบอร์ในปัจจุบัน ทำให้เข้าใจตลาดดี ทรูออนไลน์จึงไม่เคยหยุดนิ่ง นำนวัตกรรมเทคโนโลยี มาพัฒนาบริการอินเทอร์เน็ตบ้านอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้รับความไว้วางใจจนสามารถขยายฐานลูกค้าได้ถึง 3.8 ล้านรายทั่วประเทศ
ล่าสุด ทรูออนไลน์เดินหน้ายกระดับบริการเน็ตบ้านไฟเบอร์ให้อัจฉริยะยิ่งขึ้น พร้อมเติมความใส่ใจให้บ้านเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุด
ทรูชูเรื่องการสร้างมาตรฐานใหม่ที่เหนือกว่ากับปรากฎการณ์ที่สุด '4 มิติ' ทั้ง Speed และ Stability มิติความเร็วแรง ครอบคลุมทั่วบ้าน เสถียรที่สุด , Service มิติการดูแลที่ดีที่สุด พร้อมส่งช่างบริการฉับไว 24 ชม., Synergy Package มิติแห่งความรู้ใจที่สุดกับแพ็กเกจเลือกได้ตามใจ พร้อมความบันเทิงระดับโลกที่โดนใจทุกเจน เป็นที่เดียวที่ให้ชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีก และกล่องทรูไอดี ทีวี รวมถึงแอปดัง Viu และ WeTV และ Security
มิติที่สุดของความปลอดภัยกับอุปกรณ์ IoT กล้อง CCTV พร้อม Cloud Service ที่ตรวจจับได้ทุกความเคลื่อนไหวและดูได้แบบเรียลไทม์ ดูย้อนหลังผ่านแอป TrueX และทรูยังเป็นที่เดียวที่อินเทอร์เน็ตบ้านให้ ประกันที่อยู่อาศัย และประกันชีวิตฟรี เพื่อต้องการตอกย้ำความเป็นเน็ตบ้านไฟเบอร์อันดับ 1 ของไทยทุกด้าน
ย้อนดูฟอร์ม2ค่ายจบครึ่งปีแรก
อย่างไรก็ตาม เมื่อมาย้อนดูผลดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนงวดไตรมาส 2/2566 และงวดครึ่งแรกของปี 2566 ทรู ได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 27 ก.ค.2566 และ เอไอเอสได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2566 ในแง่รายได้ไตรมาส 2/2566 เอไอเอส มีรายได้รวมอยู่ที่ 44,774 ล้านบาท ลดลง 1.1% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และลดลง 4.1% จากไตรมาสก่อน
ส่วน ทรู มีรายได้รวมอยู่ที่ 49,113 ล้านบาท รวมครึ่งปีแรก เอไอเอส รายได้รวมอยู่ที่ 91,487 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนทรูมีรายได้รวมอยู่ที่ 66,794 ล้านบาท
ด้านกำไรสุทธิไตรมาส 2/2566 เอไอเอส มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 7,180 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 6.3% จากไตรมาสก่อน ส่วนทรูมีผลขาดทุนสุทธิ 2,320 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ที่มีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 492 ล้านบาท และจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,556 ล้านบาท รวมครึ่งปีแรกเอไอเอสมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 13,937 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนทรูมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 1,704 ล้านบาท
จำนวนลูกค้ามือถือเอไอเอส มีจำนวนลูกค้ารวม 45.3 ล้านเลขหมาย โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการ 5จี กว่า 7.8 ล้านราย ส่วนทรูมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 51.1 ล้านหมายเลข โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการ 5จี กว่า 8.3 ล้านราย
ส่วนลูกค้าเน็ตบ้าน เอไอเอส มีจำนวนลูกค้าอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูง 2.33 ล้านราย ส่วน ทรู มีผู้ใช้บริการในธุรกิจออนไลน์ 3.8 ล้านราย และสุดท้ายด้านงบลงทุน เอไอเอสวางงบประมาณการลงทุน (ไม่รวมคลื่นความถี่) 27,000-30,000 ล้านบาท ส่วนทรูตั้งเงินลงทุนประมาณการณ์ไว้ที่ 25,000-30,000 ล้านบาท