บอร์ดกสทช.ตั้งเป้าสิ้นปีประมูลดาวเทียม 2 วงโคจรที่เหลือ
บอร์ดกสทช.เร่งปรับเกณฑ์จัดสรรวงโคจรอีก 2 ชุดตำแหน่ง 50.5 และ 142 องศาตะวันออก หวังขายออกให้หมดภายสิ้นปีนี้ ชี้ต้องกระบวนการใหม่ทั้งเฮียริ่ง-ปรับราคาใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจมากขึ้น
พล.อ.ท. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะที่ตนดำรงตำแหน่งคณะอนุกรรมการกิจการดาวเทียม ได้มีการปรับหลักเกณฑ์การประมูล และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้า ใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (แพ็กเกจ) ใหม่ เพื่อให้สามารถนำใบอนุญาตชุดที่เหลือที่ยังประมูลไม่ออก คือ ออก คือ ชุดที่ 1 วงโคจร 50.5 และ ชุดที่ 5 วงโคจร 142 มาจัดสรรใหม่ให้ได้ เพื่อเป็นการรักษาวงโคจรดาวเทียมที่ได้รับการจัดสรรมาจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู
โดยเฉพาะในใบอนุญาตชุดที่ 1 ที่มีเงื่อนไขว่าเอกชนที่ได้รับใบอนุญาต จะต้องนำดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศในเดือน พ.ย.2567 ซึ่งการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ อาจจะใช้วิธีประมูลโดยการคัดเลือกคุณสมบัติ โดยไม่เคาะราคา (บิวตี้ คอนเทสต์) และการพ่วงประมูลวงโคจรที่สามารถให้บริการ ในไทยได้ ฯลฯ โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเปิดประมูลได้
เขา กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าความท้าทายในการนำวงโคจรดาวเทียมชุดที่เหลือมาประมูลให้ได้นั้น ต้องมีการจูงใจในรายๆประเด็น เพราะชุดที่ 1 และ 5 เป็นเพราะวงโคจรอยู่ห่างจากประเทศไทย หากมีผู้ที่ได้วงโคจรไปต้องไปทำตลาดในต่างประเทศจึงไม่ได้รับความสนใจ เพราะต้องไปแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างประเทศ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการนำเสนอการปรับหลักเกณฑ์ฯและราคาเริ่มต้นดังกล่าวให้ลดลงเพื่อสอดคล้องต่อบริบทการแข่งขันให้มากขึ้น
ทั้งนี้ ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5 ข่ายงาน C1, N1 และ P1R) และวงโคจร 51E ข่ายงาน 51 ทำตลาดในประเทศแถบอาหรับ และตะวันออกกลาง เป็นวงโคจรสำหรับบรอดแคสต์ราคาเริ่มต้น 374 ล้านบาท
และชุดที่ 5 วงโคจร 142 ข่ายงาน G3K และ N5 โคจรอยู่แถบแปซิฟิก ดังนั้น บริการที่สามารถให้บริการได้จะเป็นบริการดาวเทียมสำหรับเดินเรือราคาเริ่มต้น 189 ล้านบาท
สำหรับการประมูลวงโคจรดาวเทียมที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ในการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานมาสู่ระบบใบอนุญาต ซึี่งกสทช.ได้จัดประมูลไปเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2566 โดยขณะนั้น มีผู้ชนะ 2 ราย คือ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเป็บริษัทลูกของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ชนะ 2 ใบอนุญาต คือ ชุดที่ 2 วงโคจร 78.5 ราคา 380 ล้านบาทและ ชุดที่ 3 วงโคจร 119.5 และวงโคจร 120 ราคา 417 ล้านบาท และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ชุดที่ 4 วงโคจร 126 ในราคา 9 ล้านบาท รวมครั้งนั้น สามารถทำเงินเข้ารัฐทั้งสิ้น 806 ล้านบาท