กสทช.จ่อเคาะดีล 'เอไอเอส-3บีบี' คาดไม่เกินต.ค.นี้

กสทช.จ่อเคาะดีล 'เอไอเอส-3บีบี' คาดไม่เกินต.ค.นี้

เผยความคืบหน้าล่าสุดอนุฯชุดเศรษฐศาสตร์ที่กสทช.ตั้งขึ้น สรุปผลการศึกษาเสร็จแล้ว พร้อมให้สำนักงาน กสทช. ชงเข้าวาระที่ประชุมบอร์ด 25 ก.ย.นี้ ก่อนพิจารณาลงมติภายในเดือนต.ค.

กสทช.จ่อเคาะดีล \'เอไอเอส-3บีบี\' คาดไม่เกินต.ค.นี้ 1 ปีเต็มหลังจากที่ 'เอไอเอส' ประกาศดีลใหญ่เข้าซื้อหุ้นใน 'บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน)' หรือ 3บีบี จำนวน 7,529,242,385 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 99.87% มูลค่ารวม 19,500 ล้านบาท และเข้าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจัสมิส (JASIF) จำนวน 1,520,000,000 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 19.00% มูลค่ารวม 12,920 ล้านบาท มูลค่ารวม การเข้าซื้อกิจการที่ 32,420 ล้านบาท ไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2565

โดยกระบวนการของดีล แม้ไม่เหมือนเสียทีเดียวกับการควบรวมกิจการโทรศัพท์มือถือระหว่าง “ทรู” และ “ดีแทค” แต่บอร์ดกสทช.อยากให้ดีลเอไอเอส และ3บีบี ปราศจากข้อครหาจึงยึดเอาโมเดลดีลควบรวมก่อนหน้าที่ได้อนุญาตไปนำมาใช้กับดีลล่าสุดนี้ โดยต้องมีการตั้งอนุกรรมการด้านต่างๆ ศึกษาในมิติต่างๆ ก่อนเสนอให้กสทช.พิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่
 

คาดชงเข้าบอร์ดได้25ก.ย.นี้

นายศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยว่า ผลการศึกษาของอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น ในเครือบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3บีบี จะแล้วเสร็จและนำเสนอให้สำนักงาน กสทช.บรรจุเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ได้ภายในวันที่ 25 ก.ย.นี้ และทางสำนักงาน กสทช.จะนำผลเสนอให้บอร์ดกสทช.ทุกคนได้อ่านศึกษาถึงผลกระทบด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้บอร์ดกสทช.พิจารณาลงมติว่าจะเห็นชอบในการรวมธุรกิจของทั้งสองบริษัทหรือไม่

“เรื่องที่ผลการศึกษาของอนุฯ เศรษฐศาสตร์ มีความล่าช้ากว่าอีก 3 คณะทำงานก่อนหน้า คือ ด้านกฎหมาย ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง และด้านเทคโนโลยี เนื่องจากต้องมีการคำนวณ ที่ซับซ้อนกว่า และ ดูผลกระทบ ในรอบด้าน ทั้งเรื่อง ราคาบริการ โครงสร้างและการแข่งขันของตลาดซึ่งที่ผ่านมา ต้องมีการปรับแก้โมเดลบางส่วนเพื่อให้มีความสมบูรณ์ที่สุด”
 

 

วัดใจต.ค.ได้เห็นความชัดเจน

เขา กล่าวต่อว่า สำหรับข่าวที่มีการนำเสนอว่า จะมีการนำเสนอผลศึกษาของอนุกรรมการทั้ง 4 คณะทำงานนำเสนอให้กสทช.ในวันที่ 20 ก.ย.นั้น คิดว่าผลศึกษาของอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ คงเสร็จไม่ทันแน่นอน แต่มั่นใจว่าจะส่งให้สำนักงาน กสทช. ได้ประมาณวันที่ 25 ก.ย. หลังจากนั้นคงเป็นเรื่อง บอร์ดกสทช. จะพิจารณาอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้รวมกิจการกันได้ โดยในส่วนตัวเมื่อได้ศึกษาผลของอนุกรรมการทั้ง 4 คณะทำงานแล้วก็พร้อม ที่จะลงมติในเรื่องนี้

ด้านแหล่งข่าวจาก กสทช. กล่าวว่า การบรรจุการวาระเรื่อง เอไอเอส กับ 3บีบี ให้ทางที่ประชุมบอร์ดพิจารณาลงมติ คาดว่าจะเป็นช่วง เดือน ต.ค. และเชื่อว่าจะไม่ยืดเยื้อ เหมือนกรณีดีล ทรู ดีแทค โดยคาดว่าผลลงมติจะให้รวมธุรกิจกันได้ แต่จะมีเงื่อนไข และมาตรการต่างๆออกมาควบคุม และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภคและการแข่งขันในตลาด

เกิดการแข่งขันในตลาดชนบท

นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB - 101 Public Policy Think Tank เคยให้ความเห็นเมื่อครั้งโฟกัส กรุ๊ปของ อนุฯด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมืองว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตประจำที่หรือ เน็ตบ้าน มีผู้เล่นอยู่ราวๆ 4 รายใหญ่ ได้แก่ เอไอเอส 14.3% เอ็นที 15.9% ทรู 37.3% 3บีบี 29.4% อื่น 3%

ดังนั้น เมื่อเอไอเอส และ3บีบีรวมธุรกิจกัน จะทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 43.7% ขึ้นเป็นอันดับ 1 ขอตลาดในทันที ส่งผลให้ดัชนีการกระจุกตัว HHI จากปัจจุบันอยู่ที่ 2,724 จุด เพิ่มขึ้นเป็น 3,562 จุด 

ซึ่งในส่วนตัวมองว่าหลังจากที่เอไอเอส ไฟเบอร์เข้าสู่ตลาดในปี 2016 ทำให้ดัชนีกระจุกตัวในตลาดนี้ลดลงเรื่อยๆ มีการให้บริการที่สะท้อนต้นทุนมากขึ้น สำหรับผลกระทบต่อตลาดควรแบ่งผลกระทบออกเป็น 2 ตลาดได้แก่ตลาดในพื้นที่เมืองและตลาดในพื้นที่ชนบท โดยตลาดในพื้นที่เมืองมีความหนาแน่นสูง ลงทุนโครงข่ายคุ้มค่า คู่แข่งมีประสิทธิภาพทั้งเล็กย่อย

ส่วนในพื้นที่ชนบท มีความแน่นต่ำ ลงทุนแพง แต่ข้อดีคือตลาดยังไม่อิ่มตัว ซึ่งเอไอเอสกำลังเข้าตลาดนี้ ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุที่เอไอเอสเข้ารวมธุรกิจกับ 3บีบี ซึ่งมีความแข็งแกร่งในตลาดนี้