‘สกมช.’ ลุยปั้นคนไซเบอร์ เตรียมพร้อมไทยรับมือยุคดิจิทัล

‘สกมช.’ ลุยปั้นคนไซเบอร์ เตรียมพร้อมไทยรับมือยุคดิจิทัล

ภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณและส่งผลกระทบต่อทั้งการใช้ชีวิต องค์กรภาครัฐ และภาคธุรกิจ ผลักดันให้ผู้คนเกิดการตื่นตัว เป็นหนึ่งใน “วาระแห่งชาติ” ที่หลายภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญ...เปิดแผน คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.)

ภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณและส่งผลกระทบต่อทั้งการใช้ชีวิต องค์กรภาครัฐ และภาคธุรกิจ ผลักดันให้ผู้คนเกิดการตื่นตัว เป็นหนึ่งใน “วาระแห่งชาติ” ที่หลายภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญ...

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เปิดมุมมองว่า ทุกวันนี้หลายภาคส่วนมีความตระหนักรู้และตื่นตัวเรื่องการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์กันมากขึ้นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โดยภาพรวมยังคงน่าเป็นห่วง จากกรณีการแฮก โจรกรรมข้อมูล และการหลอกลวงที่ยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้น บ่อยครั้งได้เห็นว่าเป็นรูปแบบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ แต่เปลี่ยนแค่หน่วยงานใหม่ๆ บุคคลใหม่ๆ ที่ตกเป็นเหยื่อ

สกมช. พบด้วยว่า ความพยายามในการโจมตีทางไซเบอร์ยังคงเพิ่มสูงขึ้นทั่วประเทศ สอดคล้องไปกับเทรนด์ภัยคุกคามระดับโลก และที่น่าจับตามองอย่างมากคือ การโจมตีโดยแรนซัมแวร์ที่มีแนวโน้มว่าจะทำรายได้สูงกว่าเดิม และมีความเป็นไปได้ว่าจะสูงกว่าการค้ายาเสพติดเสียอีก

‘แรนซัมแวร์’ ป่วนไม่หยุด

จากสถิติพบว่า ภัยคุกคามระดับท็อปที่มักเกิดขึ้นในไทยส่วนใหญ่จะเป็น แรนซัมแวร์ โดยเป็นการขู่แบบหลายชั้น การแฮกเข้าระบบสำคัญ แฮกเซิร์ฟเวอร์เพื่อขโมยข้อมูลและเรียกค่าไถ่ ซึ่งแม้ว่ามีจำนวนเคสไม่มากแต่ผลกระทบนั้นรุนแรงและมีมูลค่าความเสียหายสูง

นอกจากนี้ ยังมีเว็บไซต์ที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะเว็บไซต์ของหน่ายงานรัฐ โดยพบกว่า 1,000 องค์กร การฝังโฆษณาเว็บพนันตามเว็บไซต์ต่างๆ ที่น่าเป็นห่วงคือ การโจมตีภาคการผลิตและอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งเมื่อถูกโจมตีไม่ใช่แค่บริษัทเดียวที่จะได้รับผลกระทบ แต่อาจกระทบไปทั่วทั้งซัพพลายเชน

ส่วนของประชาชนทั่วไป เป็นการหลอกเพื่อขายสินค้า ใช้วิธีเก็บเงินปลายทาง รองลงมาคือแอปเงินกู้โดยไม่ต้องมีคนค้ำประกัน สร้างสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องใช้หนี้ สร้างความอับอาย ควบคู่ไปกับหลอกให้ทำงานออนไลน์

นอกจากนี้ ยังมี Romance Scam ที่ส่วนใหญ่จะหลอกให้รัก ถ้าเหยื่อมีเงินจำนวนมากจะถูกชักชวนให้ลงทุน ถ้าเงินน้อยให้โอนไปให้ พบด้วยว่าคนวัยเกษียณมักตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก และภัยไซเบอร์ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุของการฆ่าตัวตายจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี แม้การปราบปราม ระงับบัญชีม้า ซิมเถื่อน จับคอลเซ็นเตอร์ จะช่วยลดจำนวนไปได้บ้าง แต่ไม่ใช่ทางแก้ทั้งหมด โจทย์ที่สำคัญคือ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้ผู้คนต้องตกเป็นเหยื่อและสร้างความตระหนักรู้ให้ได้มากที่สุด

ปัจจุบัน พนักงานของหน่วยงานภาครัฐมีอยู่ราว 4.6 แสนคน ทว่าฝ่ายไอทีมีแค่ 0.5% และในจำนวนคนไอทีที่น้อยมากอยู่แล้ว คนที่ทำเรื่องไซเบอร์ซิเคียวริตี้แทบไม่มี ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่ไม่มีความสมดุล

เดินหน้าปั้นคนไซเบอร์

ดังนั้น สกมช. ในฐานะองค์กรที่ขับเคลื่อนการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ มีหน้าที่ในการกำหนดแนวทาง มาตรฐาน มาตรการ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกำกับดูแล เฝ้าระวัง เพื่อป้องกัน รักษาความมั่นคงปลอดภัย และรับมือความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์

ล่าสุด เดินหน้าจัดการแข่งขันด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ “Thailand Cyber Top Talent 2023” เป็นปีที่ 3 เพื่อรองรับปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ในประเทศไทย พร้อมสร้างอีโคซิสเต็มที่เอื้อต่อการพัฒนาคน

วัตถุประสงค์หลัก มุ่งเปิดโอกาสให้คนจากหลากหลายกลุ่ม หลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับมัธยมศึกษา คนพิการ องค์กร รวมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจจากทั่วประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมเรียนรู้ พัฒนาทักษะ เสริมสร้างประสบการณ์ ปูทางสร้างแรงงานออกสู่ตลาดในอนาคต พร้อมสร้างการตระหนักรู้ให้กว้างมากขึ้น ซึ่งในปีนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 800 ทีม รวม 2,000 คน

เขากล่าวว่า งานด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้สอนทั้งหมดไม่ได้ ดังนั้นต้องหาคนที่พร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต เปิดโอกาสให้พวกเขาได้พบเจอสถานการณ์จริงที่หลากหลาย เรียนรู้ตั้งแต่ระบบพื้นฐาน ครอบคลุมทุกมิติทั้งการแฮกและการป้องกัน 

“การเสริมสร้างเกราะป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ ต้องมีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยี ความร่วมมือระดับชาติ รวมถึงการพัฒนาอีโคซิสเต็มด้านการพัฒนาบุคลากร”