เคาะ 'ไฮสปีดเทรน' ใช้ คลื่น 870 MHz กสทช.ถกมาตรฐานระบบรางร่วม 'รฟท.'
กสทช.เผยความคืบหน้ามาตรฐานคลื่นความถี่สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง ล่าสุดจัดเวทีประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้ว รอเสนอบอร์ด กสทช.เคาะประกาศ เป็นเงื่อนไขทีโออาร์หาผู้ประมูล ย้ำคลื่นระบบรางต้องขออนุญาต กสทช.รวมถึงการตรวจสอบมาตรฐานอุปกรณ์ด้วย
นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ดกสทช.) ด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. อยู่ระหว่าง การจัดทำมาตรฐานคลื่นความถี่ เพื่อรองรับระบบคมนาคมขนส่งทางราง โดยเทคโนโลยีของ จีเอสเอ็ม-อาร์ ( โกลบอล ซิสเต็มส์ ฟอร์ โมบาย คอมมูนิเคชั่น- เรลเวย์) ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะนำข้อคิดเห็นต่างๆมาประกอบ เพื่อจัดทำประกาศ กสทช. ให้ บอร์ดกสทช. เห็นชอบและออกประกาศบังคับใช้ต่อไป โดยในเบื้องต้นได้กำหนดคลื่นความถี่ส่ง 876-915 MHz ส่วนความถี่รับ 921-960 MHz
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช. ได้มีการหารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ซึ่งยืนยันว่าจะใช้เทคโนโลยี จีเอสเอ็ม-อาร์ จึงได้ให้ทางทีมเทคนิคเข้าไปดูเรื่องมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นไปตามที่ยุโรปใช้ แต่ต้องยอมรับว่า เป็นมาตรฐานที่ใช้มานานแล้ว และ ในไทยอาจจะพบปัญหาเรื่องสถานีฐานคลื่น 850-900 MHz ที่อาจพบคลื่นรบกวนได้ แต่ในทางเทคนิคสามารถมีวิธีแก้ปัญหานี้ได้ โดยการดัดแปลงสถานีฐาน
สำหรับการทำมาตราฐานดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่จะเปิดประมูลรถไฟความเร็วสูง หรือ ไฮสปีดเทรน สามารถนำมาตรฐานที่ กสทช.กำหนดและประกาศไปใช้ประกอบการจัดทําข้อกําหนดเงื่อนไขการประกวดราคา หรือ ทีโออาร์ เพื่อใช้ให้เอกชนร่วมประมูลทำรถไฟความเร็วสูงได้ โดยทาง กสทช.จะเกี่ยวข้องเฉพาะ เป็นผู้อนุญาตให้เอกชน มายื่นขอใช้คลื่นความถี่ และทำการตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ให้มาตรฐานเป็นไปตามประกาศของ กสทช.เท่านั้น
นายสมภพ กล่าวว่า กสทช.มีหน้าที่จัดทำมาตรฐานให้ตามที่รฟท. ร้องขอ ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นหน้าที่ของหน่วยงานหรืออาจขอให้เจ้าหน้าที่ของ กสทช.เข้าไปช่วยตรวจคุณสมบัติตอนประมูลได้ แต่การใช้คลื่นความถี่ต้องมาขออนุญาตกับ กสทช.รวมถึงการนำเอาอุปกรณ์ต่างๆมาตรวจเช็คว่าได้ตามมาตรฐานหรือไม่ด้วย