กสทช.เร่ขายดาวเทียม 2 วงโคจรที่เหลือ เล็งจัดสรรภายได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2567

กสทช.เร่ขายดาวเทียม 2 วงโคจรที่เหลือ เล็งจัดสรรภายได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2567

ประชาพิจารณ์ร่างฯดาวเทียมรอบใหม่ หลังยังขายออกไม่ออก 2 วงโคจร ระบุจะรีบลงประกาศในราชกิจจาฯสิ้นปี ก่อนเคาะวันเปิดประมูลใหม่ในไตมาสแรกปีหน้า ผุดโมเดลจัดสรรใบอนุญาต 3 แนวทาง ทั้ง Beauty Contest , Revenue Sharing และ Direct Award

วันนี้ (17 ต.ค.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. โดยพล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง กล่าวว่า กสทช.ได้เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) เพื่อปรับปรุงแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ฉบับที่ 1 ซึ่งใช้มาตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. 2563 โดยมีสาระสำคัญในแผนที่กำหนดวิธีการจัดสรรใบอนุญาตต้องมาจากการประมูลเท่านั้น ทำให้มีการประมูลดาวเทียมขึ้นเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา

ทว่า วงโคจรดาวเทียมที่เหลือ อีก 2 ชุด ยังไม่มีผู้ประกอบการที่ประสงค์จะใช้งาน ได้แก่ ชุดที่ 1 ตำแหน่ง 50.5 E และ 51 E และ ชุดที่ 5 ที่ 142 E เนื่องจากเป็นวงโคจรที่มีพื้นที่ให้บริการอยู่ต่างประเทศ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตต้องแข่งขันกับผู้ให้บริการต่างชาติหลายราย ในขณะที่ดาวเทียมที่เหลือคือดาวเทียมสื่อสารไม่ได้รับความนิยมเหมือนแต่ก่อน จึงไม่น่าสนใจเท่ากับดาวเทียมบรอดแบนด์
 

ดังนั้น บอร์ดกสทช.จึงต้องจัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อแก้ไขแผนดังกล่าวให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ควรเปิดให้มีวิธีอื่นในการจัดสรรนอกจากการประมูลเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้การจัดสรรอาจจะเป็นรูปแบบให้ใบอนุญาตลักษณะเป็นข่ายดาวเทียมแทนการจัดสรรแบบเป็นแพคเก็จ เหมือนเดิม เมื่อถึงเวลาในการจัดสรรใบอนุญาต กสทช.จะออกประกาศในแต่ละข่ายดาวเทียมอีกครั้งหนึ่ง เชื่อว่าการแก้แผนดังกล่าวจะทำให้มีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมการจัดสรรใบอนุญาตดาวเทียมในครั้งหน้า

การปรับปรุงแผนบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะเป็นแนวทางในการนำไปสู่การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตสิทธิวงโคจรที่เหลือ โดยที่ กสทช.ต้องสร้างสมดุลระหว่างการรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ และการให้ได้มาซึ่งผู้ประกอบการหรือหน่วยงานที่ประสงค์จะใช้งานโดยที่รัฐไม่เสียผลประโยชน์

รวมทั้งแผนดังกล่าวก็ต้องเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศหรือข้อบังคับของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู ที่เป็นไปตามหลักสากล และสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายแต่ก็ต้องดำเนินการ

นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า กสทช.จะเปิดรับฟังความคิดเห็น จนถึงวันที่ 10 พ.ย.2566 เพื่อรับฟังข้อเสนอจากทุกฝ่าย คาดว่าจะสามารถประกาศลงราชกิจจานุเบกษาได้ภายในปีนี้ คาดว่าจะสามารถเริ่มจัดสรรได้ภายในไตรมาสแรกปี 2567 ซึ่งในเวทีรับฟังความคิดเห็นมีความเห็นตรงกันว่าการแก้ไขแผนดังกล่าวจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมดาวเทียม

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังขอให้กสทช.ประกาศการดำเนินการให้ใบอนุญาตล่วงหน้า 5 ปี จากเดิม 3 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีการเตรียมตัวทั้งเรื่องการหาตลาด การสร้างดาวเทียม รวมถึงเงินลงทุนต่างๆได้ทันเวลา อันจะกระตุ้นให้เกิดรายใหม่เพิ่มเติมได้

สำหรับแนวทางในการจัดสรรใบอนุญาต ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่สามารถทำได้หลายแบบ ได้แก่ 1.Beauty Contest ด้วยการตั้งหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ชัดเจน 2.Revenue Sharing เป็นการเสนอส่วนแบ่งรายได้ให้กับภาครัฐ คล้ายกับการประมูลแข่งขันราคา และ 3.Direct Award การพิจารณาจัดสรรให้โดยตรง

ทั้งนี้ ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5 ข่ายงาน C1, N1 และ P1R) และวงโคจร 51E ข่ายงาน 51 ทำตลาดในประเทศแถบอาหรับ และตะวันออกกลาง เป็นวงโคจรสำหรับบรอดแคสต์ เดิมกำหนดราคาเริ่มต้น 374 ล้านบาท และชุดที่ 5 วงโคจร 142E ข่ายงาน G3K และ N5 โคจรอยู่แถบแปซิฟิก ดังนั้น บริการที่สามารถให้บริการได้จะเป็นบริการดาวเทียมสำหรับเดินเรือ เดิมกสทช.กำหนดราคาเริ่มต้น 189 ล้านบาท

สำหรับการประมูลวงโคจรดาวเทียมที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ในการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานมาสู่ระบบใบอนุญาต ซึ่ง กสทช.ได้จัดประมูลไปเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2566 โดยขณะนั้น มีผู้ชนะ 2 ราย คือ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ชนะ 2 ใบอนุญาต คือ ชุดที่ 2 วงโคจร 78.5 ราคา 380 ล้านบาทและ ชุดที่ 3 วงโคจร 119.5 และวงโคจร 120 ราคา 417 ล้านบาท และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ชุดที่ 4 วงโคจร 126 ในราคา 9 ล้านบาท รวมครั้งนั้น สามารถทำเงินเข้ารัฐทั้งสิ้น 806 ล้านบาท