กฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัล 2 ฉบับ แตกต่าง...แต่ลงตัว
เป็นที่กล่าวขานในวงกว้างสำหรับกฎหมาย DPS (Digital Platform Services) หรือ พระราชกฤษฎีกา การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2566
กฎหมายฉบับนี้จะถูกใช้เป็นกรอบในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งมิอาจปฏิเสธเลยว่า ปัจจุบันแพลตฟอร์มดิจิทัล คือ ตัวจักรสำคัญที่ทำให้การดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นจำนวนไม่น้อย
แพลตฟอร์มดิจิทัลจะถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดย สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) มีส่วนร่วมกับกฎหมาย DPS ตั้งแต่เริ่มกระบวนการร่างกฎหมาย
และในหมวด 4 มาตรา 34 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับนี้ กำหนดให้มีคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงานของรัฐ (คณะกรรมการร่วม) โดยมีปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธานกรรมการ และมีเลขาธิการ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่วม
คณะกรรมการร่วมมีอำนาจหน้าที่ เช่น ให้ความเห็น คำแนะนำ คำปรึกษาแก่คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งพิจารณาและวินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่ประกันความโปร่งใส ความเป็นธรรม เป็นต้น
สาระสำคัญของกฎหมาย DPS ก็คือการกำหนดให้ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นธุรกิจบริการที่ต้องแจ้งให้ทราบ และมีการกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล และการควบคุมดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
อีกทั้งมาตรา 38 ของพระราชกฤษฎีกาฯ มีการกำหนดไว้ว่า ถ้าหากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จำเป็นต้องใช้ข้อมูล ซึ่งมีหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ ได้มีการขอหรือจัดเก็บจากผู้ประกอบธุรกิจไว้แล้ว อาจขอให้มีการเปิดเผยหรือเชื่อมโยงข้อมูลแก่สำนักงานฯ โดยไม่ชักช้า ซึ่งถือเป็นข้อดีที่เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ และลดความซ้ำซ้อนในการขอข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจ
ความแตกต่างระหว่างกฎหมายการแข่งขันทางการค้ากับกฎหมาย DPS ก็คือ “แนวทางการกำกับดูแล” ซึ่งในส่วนของกฎหมาย DPS เป็นแนวทางการกำกับเชิงป้องกัน (Ex-Ante)
โดยการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องแจ้ง
1) ข้อมูลและหลักฐานเกี่ยวกับผู้ประสงค์จะประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
2) ข้อมูลเกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น ชื่อบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ประเภทบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ช่องทางการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นต้น
3) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ เช่น ประเภทของผู้ใช้บริการว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ผู้บริโภค หรือผู้ทำงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัล จำนวนรวมของผู้ใช้บริการ เป็นต้น และ
๔) ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน เช่น จำนวนและประเภทเรื่องร้องเรียน และการจัดการเรื่องร้องเรียนและการระงับข้อพิพาท เป็นต้น
นอกจากนี้ กฎหมาย DPS ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล และการควบคุมดูแล ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมในการให้บริการแก่คู่ค้า จะต้องประกาศข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการให้ผู้ใช้บริการทราบอย่างชัดเจนและเหมาะสม ก่อนหรือขณะเข้าใช้บริการ เช่น เงื่อนไขในการให้บริการ การระงับหรือการหยุดให้บริการ และการคิดค่าบริการ เป็นต้น
ในส่วนของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า จะดำเนินการแนวทางการกำกับเชิงปราบปราม (Ex-Post) เพื่อกำกับดูแลพฤติกรรมการแข่งขันทางการค้า ที่เกิดขึ้นในตลาดแพลฟอร์มดิจิทัลให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าอย่างเข้มงวด และมีการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า (Advocacy)
เป็นส่วนช่วยเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจมีการดำเนินธุรกิจภายใต้กฎ กติกา การแข่งขันเดียวกัน จนก่อให้เกิดวัฒนธรรมการแข่งขันทางการค้าที่มีจริยธรรม และธรรมาภิบาลทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรมในท้ายที่สุด
ความแตกต่างตามที่กล่าวข้างต้นก่อให้เกิดความลงตัวในด้านการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า ในธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล เนื่องจากการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจมีการแจ้งข้อมูลต่อสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น จะส่งผลให้สำนักงาน กขค. สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเกิดคดีได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ยิ่งกว่านั้น
ตลาดธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มของการกระจุกตัวสูงซึ่งอาจนำไปสู่การผูกขาดได้
ดังนั้น การกำกับการแข่งขันทางการค้าหลังเกิดความเสียหายขึ้น หรือการกำกับการแข่งขันตามหลักการแบบ Ex-Post อาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เมื่อมีกฎหมาย DPS ซึ่งใช้หลักการกำกับเชิงป้องกัน (Ex-Ante) ย่อมช่วยเติมเต็ม และส่งเสริมสนับสนุนให้การกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า ผ่านกฎหมายการแข่งขันทางการค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น!