'ลาซาด้า’ ลงทุนครั้งใหญ่ในไทย เปิด 'ศูนย์คัดแยกสินค้า' ใหญ่สุดอาเซียน
ลาซาด้า เดินยุทธศาสตร์ ยกระดับโลจิสติกส์ หนุนอีโคซิสเตมอีคอมเมิร์ซโต ลงทุนครั้งใหญ่ตั้ง "ศูนย์คัดแยกสินค้ากึ่งอัตโนมัติ" รองรับพัสดุต่อวัน 2 ล้านชิ้น นับเป็นการลงทุนทางโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งเป้าคืนทุนภายใน 2-3 ปี
“โลจิสติกส์” เป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ ที่น่าสนใจวันนี้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรายใหญ่ไม่ว่าจะเป็น "ลาซาด้า" หรือ "ช้อปปี้" ต่างมีการลงทุนเครือข่ายโลจิสติกส์เป็นของตนเอง
ความเคลื่อนไหวล่าสุด “ลาซาด้า” มีการลงทุนครั้งใหญ่ในประเทศไทยกับ “ศูนย์คัดแยกสินค้า” เพื่อพัฒนาการให้บริการ เพิ่มความเร็ว และแน่นอนว่าด้วยความแข็งแรงด้านเทคโนโลยีของเครืออาลีบาบาจึงน่าติดตามว่า ครั้งนี้จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือมีส่วนผลักดันให้อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซประเทศไทยเติบโตได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร...
เจมส์ มาร์แชนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายโลจิสติกส์ บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) เผยว่า ลาซาด้ามีแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาเครือข่ายโลจิสติกส์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด ได้ลงทุนสร้าง “ศูนย์คัดแยกสินค้าเทพารักษ์” ซึ่งนับเป็นศูนย์คัดแยกสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดของลาซาด้า ประเทศไทย ด้วยพื้นที่กว่า 35,000 ตารางเมตร สามารถรองรับพัสดุได้กว่า 2 ล้านชิ้นต่อวัน การบริหารจัดการคำสั่งซื้อ (Order Management) โดยเฉลี่ยใช้ระยะเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง
ครั้งนี้ นับเป็นการลงทุนทางโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่า จะสามารถคืนทุนได้ภายในระยะเวลา 2-3 ปี จากปริมาณการขนส่งสินค้าและความสามารถในการบริหารจัดการสินค้าที่เข้ามาใช้บริการ
“ลาซาด้าเชื่อว่าอีโคซิสเต็มด้านโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมและทันสมัย เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยให้อีคอมเมิร์ซไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน”
วันสต็อป อีคอมเมิร์ซ
ในฐานะผู้ให้บริการ มุ่งนำเสนอโซลูชันแบบครบวงจร ให้ความสำคัญกับการส่งมอบบริการที่รวดเร็วและไร้รอยต่อ ซึ่งรวมไปถึงการยกระดับศูนย์โลจิสติกส์ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางและประสิทธิภาพของกระบวนการต่างๆ
การให้บริการของลาซาด้าแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักคือ บริการการจัดส่งสินค้า บริการฟูลฟิวเมนท์ และ วันสต็อปโซลูชันที่เข้าไปช่วยร้านค้าที่มีร้านค้าบนหลายแพลตฟอร์มบริหารงานด้านการขาย (Multi-Channel Logistics Service)
ปัจจุบัน บริการ “ส่งเร็วพิเศษ (Priority Delivery)” ซึ่งผู้ซื้อจะได้รับสินค้าภายใน 1-2 วันครอบคลุมแล้ว 23 จังหวัดสำคัญทั่วประเทศ อาทิ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ชลบุรี และ นครราชสีมา ฯลฯ
ผลสำรวจโดยลาซาด้าระบุว่า 43% ของนักช้อปออนไลน์มีความคาดหวังให้การจัดส่งถึงในวันรุ่งขึ้น และ 55% ของผู้ขายกล่าวว่าการจัดส่งที่เร็วมีผลทำให้ยอดขายของพวกเขาสูงขึ้น
ลาซาด้าพบด้วยว่า ลูกค้าที่ได้ใช้บริการส่งเร็วพิเศษมีแนวโน้มที่จะมีความพึงพอใจต่อการซื้อสินค้าชิ้นนั้นๆ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการยกเลิกคำสั่งซื้อโดยรวมต่ำลง อีกทางหนึ่งทำให้ยอดขายของแบรนด์เพิ่มขึ้น
“หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลาซาด้าสามารถขยายบริการส่งเร็วพิเศษได้อย่างต่อเนื่อง คือ การมีศูนย์คัดแยกสินค้าในบริเวณที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย”
‘ระบบอัตโนมัติ’ ตัวจักรขับเคลื่อน
ศูนย์คัดแยกสินค้าเทพารักษ์ครบครันด้วยเทคโนโลยี “ระบบอัตโนมัติ” ที่ครอบคลุมการปฏิบัติงานกว่า 75% ที่ผ่านมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ในหลายด้าน ทั้งการจัดเรียง คัดแยก และบรรจุพัสดุลงถุงเพื่อไปยังสถานีปลายทางต่างๆ
นอกจากนี้ ช่วยลดการพึ่งพาการใช้แรงงาน พนักงานสามารถใช้เวลากับงานที่มีความสำคัญได้อย่างเต็มที่ ซึ่งนอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมแล้ว ยังยกระดับความปลอดภัยให้แก่พนักงาน การใช้ระบบอัตโนมัติช่วยให้กระบวนการโดยภาพรวมเร็วกว่าการใช้กำลังคนคัดแยก 3-4 เท่า
“ความแม่นยำในการคัดแยกพัสดุที่เพิ่มขึ้นทำให้สินค้าสามารถจัดส่งได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว รวมไปถึงช่วยลดแรงกระแทกในกระบวนการคัดแยก ลดความเสี่ยงที่พัสดุจะเสียหาย ทั้งยังสามารถเพิ่มกำลังการคัดแยกได้เพิ่มเติม สามารถรองรับยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นทั้งในวันปกติและช่วงเมกะแคมเปญต่างๆ”
โดยปกติมีสินค้าเข้ามาในเครือข่ายประมาณ 1 ล้านชิ้นต่อวัน มีคนทำงานราว 500-1,000 คนต่อวัน หากเป็นช่วงเวลาเมกะแคมเปญจะเตรียมพร้อมไว้ไม่น้อยกว่า 1,000 คนต่อวัน
การบริหารกำลังคน จะมีการคาดการณ์ปริมาณสินค้าในแต่ละวัน รายสัปดาห์ เดือน ไตรมาส ภาพรวมแต่ละปี รวมถึงช่วงของการจัดแคมเปญใหญ่ต่างๆ มีการวางกำลังคนไว้ให้เหมาะสมกับปริมาณสินค้า ไม่ให้กระทบกับประสบการณ์การจับจ่ายและความรวดเร็วในการจัดส่ง ส่วนของลาสไมล์ เชื่อว่ายังคงแข็งแรง มีกระบวนการอบรมพัฒนาพนักงานและการดูแลพนักงานที่ดี
ผู้บริหารลาซาด้าเผยว่า ศูนย์คัดแยกนี้ใช้เทคโนโลยีล่าสุดเท่าที่มีอยู่ในตลาด และทางลาซาด้ายังคงตามติดความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยหลังจากนี้พร้อมที่จะลงทุนเพิ่มเติม เพื่อยกระดับให้ศักยภาพการทำงานมีประสิทธิภาพดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปักหลักลงทุนตลาดไทย
สำหรับแผนงานระยะ 12 เดือนข้างหน้า ยังคงเดินหน้าลงทุนขยายเน็ตเวิร์กโลจิสติกส์ เพื่อพัฒนาการให้บริการ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไว้ใจ และสามารถเข้าถึงลูกค้าได้กว้างมากขึ้น
ขณะเดียวกัน พยายามลดเวลาการทำงาน ต้นทุน โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาทำให้กระบวนการทำงานและบุคลากรทำงานง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่ให้ความสำคัญอย่างมากคือการอบรมพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมสำหรับการให้บริการลูกค้าอยู่เสมอ
ส่วนเฟสต่อๆ ไป ระยะ 3-4 ปีจากนี้มองถึงความท้าทายและความเป็นไปได้ที่จะทำให้บริการจัดส่งภายใน 1 วัน ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่ทั้งนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ยังมีความท้าทายด้านภูมิศาสตร์ และขึ้นอยู่กับจำนวนการสั่งซื้อสินค้า ความพร้อมของพื้นที่ จำนวนร้านค้า ผู้ซื้อ และผู้ขาย ทว่าในภาพรวมยืนยันได้ว่าทางลาซาด้าพร้อมลงทุนต่อในประเทศไทยเพื่อพัฒนาในทุกส่วนที่มีความเหมาะสม
รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยกูเกิล คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากปี 2565 ที่มีมูลค่าการซื้อขาย (GMV) ราว 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อถึงปี 2568 จะเพิ่มขึ้นไปถึง 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์
แม้ว่าจะมีปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ แต่ลาซาด้ายังคงเห็นว่าปริมาณการสั่งซื้อสินค้าบนอีคอมเมิร์ซยังคงเติบโต สอดคล้องไปกับการเติบโตของภาพรวมอุตสาหกรรม
เพื่อรองรับการเติบโตดังกล่าว “เทคโนโลยี” จะเป็นกุญแจสำคัญที่เข้ามาช่วยยกระดับศักยภาพ ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ภายใต้ต้นทุนที่ต่ำลง