คุยกับ ‘Rebooster’ นิวเจน Cyber Top Talent 2023
มุมมองคนรุ่นใหม่ ทีม Rebooster จาก โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมและคว้ารางวัลชนะเลิศ การแข่งขันด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศไทย “Thailand Cyber Top Talent 2023”
แม้ว่าการขาดแคลนบุคลากรด้าน “ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้” ยังคงเป็นปัญหาและความท้าทายที่ประเทศไทยจำเป็นต้องก้าวข้ามไปให้ได้โดยเร็วที่สุด
ทว่าในอีกมุมหนึ่งยังพอมีข่าวดีที่ว่ามีเยาวชน คนรุ่นใหม่ จำนวนไม่น้อยที่เริ่มสนใจเข้ามาเรียนรู้งานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
ที่น่าสนใจ เช่น ทีม Rebooster จาก โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมและคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ระดับอุดมศึกษา (SENIOR) การแข่งขันด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศไทย “Thailand Cyber Top Talent 2023” จัดโดยสกมช. ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศไทย ผ่านการบ่มเพาะบุคลากรดิจิทัลของไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ซึ่งโครงการการแข่งขันดังกล่าวได้รับการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว
สุดฤทธิ์ วงษ์สุวรรณ นักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) หนึ่งในสมาชิกของทีม Rebooster เล่าว่า การแข่งขันครั้งนี้ได้ท้าทายทั้งด้านการเจาะระบบ การป้องกัน และการพิสูจน์หลักฐาน
โดยในแต่ละทีมแบ่งหน้าที่ดูแลรับผิดชอบตามความถนัดของแต่ละคน ส่วนตนนั้นรับหน้าที่เจาะระบบ ซึ่งนอกจากความสนุก การเข้าร่วมการแข่งขันยังเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติมจากรุ่นพี่ผู้เชี่ยวชาญ
ที่น่าสนใจ เช่น การแฮกโมบายแอปพลิเคชัน ภาษาคลัสเตอร์ การเจาะไฟล์วอลล์ ฯลฯ การประกวดคร้ังนี้ทางทีมได้รับชัยชนะเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้ว
ส่วนตัวไม่ได้เรียนด้านไอทีมาโดยตรง แต่มีความสนใจด้านนี้อย่างมาก การศึกษาหาความรู้ส่วนใหญ่มาจากช่องทางออนไลน์ และการทำกิจกรรมชมรมที่มีการรวมกลุ่มคนที่มีความสนใจร่วมกันภายในโรงเรียน
นอกจากนี้ พยายามออกไปแข่งขันเพื่อสั่งสมประสบการณ์ในทุกรายการที่จัดในไทย รวมถึงที่จัดเป็นประจำภายในคอมมูนิตี้ด้วย
ส่วนของที่มาที่ทำให้เกิดความสนใจ ทำให้อยากเข้ามาเรียนรู้เกี่ยวการแฮก สุดฤทธิ์บอกว่า มาจากการดูภาพยนตร์ และซีรีส์ ที่ดูแล้วมันเท่ดี พอได้มาเรียนรู้จริงๆ ก็รู้สึกสนุกตามนั้น เมื่อมีการแข่งขันก็ได้เข้าไปท้าทายกับโจทย์ใหม่ๆ ได้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา ฝึกฝนความจำ ตรรกะทางคณิตศาสตร์
จากประสบการณ์พบว่า ช่วง 2-3 ปีมานี้คอมมูนิตี้ของประเทศไทยมีคนสนใจด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้กันมากขึ้นแล้ว ทั้งการโค้ดดิ้ง เกม เจาะระบบ ยิ่งมีการจัดการแข่งขัน ยิ่งช่วยกระตุ้นความสนใจ ทำให้หลายๆ คนมีโอกาสได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ เพราะโดยปกติแล้วอาจไม่ได้มีโอกาสเข้าถึงความรู้ด้านนี้ หรือมีคนเก่งๆ ออกมาสอน
สำหรับการนำไปต่อยอดในชีวิตจริงในฐานะตำรวจ สนใจเข้าไปทำงานที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งยังต้องการบุคลากรด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้จำนวนมาก ทั้งด้านการพิสูจน์หลักฐานและเจาะระบบ
โดยเฉพาะการเจาะระบบที่ยังมีอยู่น้อย และหวังว่าต่อไปจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้มากขึ้น เช่น การตามต้นตอแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ต่างๆ
หวังว่าต่อไปจะได้เห็นองค์กรเอกชน เช่น หัวเว่ย เพิ่มความร่วมมือกับบริษัทขนาดเล็ก เข้าไปให้ความรู้สนับสนุนโครงการด้านซอฟต์แวร์ให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเว็บไซต์ของคนไทยถูกแฮกจำนวนมาก ขณะเดียวกันระบบต่างมีจุดอ่อนและหาช่องโหว่ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะหน้าล็อกอิน หน้าเสิร์ช ที่รหัสผ่านอ่อนแออย่างมากและผู้ดูแลระบบตั้งค่าไม่ค่อยรัดกุม
ด้าน วรรณกร นุ่นประดิษฐ์ นักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) เล่าว่า ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจยังไม่มีวิชาด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้โดยเฉพาะ ที่ทำกันจะเป็นกิจกรรมชมรมที่มีอยู่ราว 40 คน ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการจัดการแข่งขันเพื่อคัดคนไปแข่งขันตามรายการต่างๆ อยู่ต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี แม้มีความสนใจแต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร ทั้งยังไม่ค่อยมีบทความที่เป็นภาษาไทยให้ได้เรียนรู้มากนักในอินเทอร์เน็ต ด้านการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยก็เพิ่งเริ่มมีช่วง 2-3 ปีมานี้เอง
ทัศไนย มานิตย์ นักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) อีกหนึ่งสมาชิกของทีม เล่าว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากการแข่งขันครั้งนี้เช่น ความรู้เรื่องการพิสูจน์หลักฐาน การดู Log รวมถึงเนื้อหาสาระใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้เรียนรู้มาก่อน จากที่ผ่านมา การเรียนรู้ต้องค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง หรือไม่ก็เป็นพี่สอนน้อง นำความรู้มาแชร์ๆ กัน
ทุกวันนี้แม้การพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์ของเทคโนโลยีเวนเดอร์ต่างๆ จะมีการป่องกันที่ค่อนข้างดี แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ปลอดภัยเสมอไป เรายังสามารถค้นพบช่องโหว่ใหม่ๆ ได้ในทุกวัน ทุกระบบมีช่องโหว่ อยู่ที่ว่าจะเจอเมื่อได
สำหรับในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของระบบและผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ย ผู้เข้าแข่งขันในโครงการ Thailand Cyber Top Talent ต่างมองว่า หัวเว่ยได้ออกแบบรูปแบบการป้องกันภัยคุกคามต่าง ๆ ได้ค่อนข้างดี เพราะผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยจะมีการอัปเดตเป็นรายเดือนเพื่อป้องกันช่องโหว่ที่เกิดขึ้นใหม่ ทั้งยังมีระบบมอนิเตอร์ที่ค่อนข้างชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ง่าย
ส่วนในด้านการสนับสนุนบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทั้ง สกมช. และ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ยังคงมุ่งมั่นผลักดันทรัพยากรบุคคลด้านดิจิทัลในประเทศไทยผ่านทั้งโครงการแข่งขัน การสัมมนา และการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยหัวเว่ยเล็งเห็นถึงความสำคัญของความปลอดภัยทางไซเบอร์ในปัจจุบันเช่นเดียวกับทาง สกมช. และได้ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากรในด้านดังกล่าวให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนในไทย เพื่อผลักดันโครงการเพื่อวางรากฐานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และการปกป้องข้อมูล และช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ ในการรับมือกับภัยคุกคามในอนาคต ตามพันธกิจของหัวเว่ยที่ว่า “เติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย และร่วมสนับสนุนประเทศไทย” เพื่อการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลในระดับภูมิภาค