ทรู ดันอินฟราสตรัคเจอร์ เวิลด์คลาส หนุนไทยก้าวสู่ ดิจิทัล อีโคโนมี ไร้ที่ติ
รัฐและเอกชนต้องบรรเลงออร์เคสตร้านี่ให้เป็นจังหวะเดียวกัน ผลักดันให้เกิดอีโคซิสเต็มในดิจิทัล อีโคโนมี อย่างสมบูรณ์ เพราะวันนี้เรามีดิจิทัล อินฟราสตรัคเจอร์ระดับเวิลด์คลาสแล้ว ประเทศไทยมีศักยภาพไม่เป็นแรงใครเลย
มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานเจ้าหน้าหน้าบริหารบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ถือเป็นซีอีโอป้ายแดงอายุงาน 7 เดือนกว่าหลังจากที่ถูกแต่งตั้งให้นั่งเก้าอี้คุมบังเหียน หลังเกิดการควบรวม “ทรูและดีแทค” เข้าด้วยกัน ดีลใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมโทรคมนาคมนับเป็นการควบรวมกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยมีมูลค่าตลาดของทั้งสองบริษัทรวมกัน (Market Capitalization) ประมาณ 2.94 แสนล้านบาท
ทรานฟอร์มคือกุญแจสำคัญ
มนัสส์ เล่าว่า หลังจากควบรวมมีสิ่งที่เกินความหวังในด้านดีหลายเรื่องอย่างมาก สิ่งที่ตนประทับใจคือการร่วมมือของพนักงานทั้งสององค์กรที่มุ่งมั่นในการ Synergy ซึ่งทรูถือวางสถานะตัวเองมุ่งเป็นสู่การเป็นผู้นำเทคโนโลยีโทรคมนาคม ที่จะเปลี่ยนผ่านวิถีชีวิตคนไทย และขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวสู่แถวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัล และมุ่งสู่การเติบโตในระยะยาว นี่คือการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศไทย และปูทางให้ประเทศไทยก้าวสู่ตำแหน่งที่ดีที่สุดที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดในโลกดิจิทัล โดยทรูมีโครงข่ายเน็ตเวิร์กครอบคลุมระดับเวิล์ดคลาส
สิ่งที่เรากำลังคือ ดิจิทัลทรานฟอร์มเมชั่น คือการทรานฟอร์มตัวเอง, ทรานฟอร์มอุตสาหกรรม และทรานฟอร์มคุณภาพชีวิตของคนไทย อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็น ‘enabler’ สำคัญในการยกระดับการเข้าถึงบริการและทักษะดิจิทัลของประชากรในประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ในทุกๆมิติ
5 รหัสช่วยขับเคลื่อนประเทศ
ซีอีโอทรู กล่าวว่า ทรูพร้อมเป็นตัวกลางช่วยไทยด้วยแผน ‘CTPaP’ 5 ปัจจัยขับเคลื่อนพร้อมกันทั้ง Connectivity -การเชื่อมต่อ, Technology -เทคโนโลยี, P – Platform as a Service -บริการแพลตฟอร์มบนคลาวด์, Analytics & Artificial Intelligence – การวิเคราะห์และปัญญาประดิษฐ์ และ People – คน เสริมแกร่งไทยสู่ผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค และปูทางรับโอกาสเศรษฐกิจดิจิทัล
ตอนนี้การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับประเทศไทย กล่าวคือ เป็น ‘a must’ ที่ต้องทำทันที ไม่ใช่ ‘a choice’ หรือทางเลือกอีกต่อไป โดย World Economic Forum ระบุว่า 44% ของทักษะที่เป็น core skills ที่ใช้ทุกวันนี้จะล้าสมัยในอีก 5 ปีข้างหน้า และจะมีอาชีพใหม่ๆ ในสายงานดิจิทัลเกิดขึ้นอีกมากมาย ทรู จึงเดินหน้าอัปสกิลและรีสกิลพนักงานให้มีทักษะตอบโจทย์กับศตวรรษที่ 21 และสามารถทำงานกับเอไออย่างสร้างสรรค์
“รัฐและเอกชนต้องบรรเลงออร์เคสตร้านี่ให้เป็นจังหวะเดียวกัน ผลักดันให้เกิดอีโคซิสเต็มในดิจิทัล อีโคโนมีอย่างสมบูรณ์ เพราะวันนี้เรามีดิจิทัล อินฟราสตรัคเจอร์ระดับเวิลด์คลาส แล้ว ประเทศไทยมีศักยภาพไม่เป็นแรงใครเลย”
ดึงคนเก่งสร้างนวัตกรรม
เขา กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยถือเป็นประเทศที่ใฝ่ฝันของทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ที่เดินมาทำงานไปด้วยและพักผ่อนไปด้วย ดังนั้น การสร้างระบบนิเวศให้เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมคือทำให้กลุ่มคนที่เก่งด้านไอทีอยากเข้ามาในไทยมากขึ้น ผ่านการให้ความสะดวกด้านวีซ่าและ ภาษี โดยที่ผ่านมาทรูเสนอตัวเป็น เทค คัมพานี โดยมี ทรู ดิจิทัล พาร์ค ถือเป็นศูนย์กลางเทคและสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
เขา กล่าวว่า แนวทางนี้จะช่วยสร้างระบบนิเวศที่ดีเกิดสตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่เป็นคนไทยมากขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาการสร้างนวัตกรรมหรือแพลตฟอร์มจะเป็นของต่างชาติเสียส่วนใหญ่ แต่ตนเชื่อว่าคนไทยมีความสามารถอย่างมากเพียงแต่ยังขาดทุนหรือโอกาสที่เปิดกว้างเพียงพอเท่านั้นเอง
ดังนั้น ประเด็นนี้จึงถือเป็นอุปสรรคที่ยังทำให้นวัตกรรมของคนไทยเองยังอยู่ในวงจำกัด และแม้องค์ประกอบในหลายๆส่วนจะพร้อมแล้วแต่สิ่งที่ยังขาดอยู่บ้างคือ Knowhow จึงจำเป็นต้องดึงดูดนักพัฒนา นักนวัตกรรม นักเขียนโค้ดดิ้งเข้ามาประเทศไทยให้ได้มากๆ
ดิจิทัล เฮลท์ Passion ที่อยากทำ
ทั้งนี้ สิ่งที่ทรูให้ความสำคัญมีอยู่ 3 ประการคือ ดิจิทัล เฮลท์ ดิจิทัล โฮม และ ดิจิทัล มีเดีย แต่สิ่งที่มนัสส์เอ่ยปากแล้วสายตาเต็มไปด้วยความตั้งใจจริงหรือ ดิจิทัล เฮลท์ โดยเขาระบุว่า ทรูต้องการเป็นตัวช่วยในยุคดิจิทัลลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล และแก้ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มทรู ในฐานะผู้นำโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและดิจิทัล จึงได้นำศักยภาพระบบนิเวศดิจิทัล ทั้งเทคโนโลยี คลาวด์,ไอโอที,เอไอ, Blockchain และ Robotics ร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตและการสาธารณสุข เพิ่มโอกาสให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ง่ายขึ้น โดย “นวัตกรรม” ที่ทรูภูมิใจและพัฒนามาตลอดคือ “ทรู เฮลท์” แพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะ โดยยังคงจุดเด่นบริการ O2O ที่เชื่อมโยงทั้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ