อินฟราสตรัคเจอร์ในอวกาศ หมุดหมาย “ไทยคม” มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ
ไทยคมต้องการเป็นกำลังสำคัญในการเป็นอินฟราสตรัคเจอร์ในอวกาศให้แก่ประเทศ และเชื่อว่า 3-5 ปีต่อจากนี้ภาพธุรกิจของไทยคมจะเปลี่ยนไป และจะได้เห็นรายได้จากสเปซ เทคเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
ในปัจจุบันเทคโนโลยีอวกาศเริ่มมีบทบาทสำคัญต่อโลกและประเทศไทย ช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศได้ในหลายมิติทำให้เกิดข้อมูลบิ๊ก ดาต้า ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยกิจการอวกาศถือเป็น New Frontiers ที่จะเข้ามาลดช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยีในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป้าหมายสำคัญอีกอย่างของไทยคม ก็คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ในอวกาศเพื่อทำให้ประชาชนคนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งในภาคการศึกษา สาธารณสุข และเกษตรกรรม
รอหลักเกณฑ์ประมูลนิ่ง
ปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับใบอนุญาตเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมจำนวน 2 ชุด คือ ชุดที่ 1 ตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก และ ชุดที่ 2 ตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออก ทันทีที่ประมูลวงโคจรมาจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งได้ทำบิสซิเนส เคส สำหรับแผนธุรกิจกิจการดาวเทียม
โดยบอร์ดบริษัทได้ขออนุมัติวงเงินในการลงทุนจำนวน 15,000 ล้านบาท ในการส่งดาวเทียมประจำที่ (GEO) สู่วงโคจรเพื่อทดแทนดาวเทียมไทยคม 4 จำนวน 3 ดวง แบ่งเป็นดาวเทียมขนาดเล็ก 2 ดวง ภายในปี 2567-2568 และขนาดใหญ่ 1 ดวง ภายในปี 2570
ปฐมภพ เล่าความคืบหน้าว่า ไทยคมได้เซ้นสัญญากับแอร์บัส ให้เป็นผู้สร้างดาวเทียม “High Throughput” แบบใหม่ล่าสุด เป็นดาวเทียม Software Defined High Throughput Satellite หรือ SD-HTS ซึ่งจะเป็นผู้สร้างดาวเทียมดวงใหม่ที่ตำแหน่ง 119.5 ดังกล่าวถือเป็นวงโคจรที่เป็นกลยุทธ์หลักของไทยคม ซึ่งเราเลือกการสร้างดาวเทียมตามบิสซิเนส เคสที่เกิดขึ้นได้จริงและสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพ เพื่อผลักดันให้ไทยคมสามารถสร้างความเติบโตทางธุรกิจดาวเทียมบรอดแบนด์ในภูมิภาค
และยังได้ Eutelsat Asia PTE. LTD. ผู้ให้บริการดาวเทียมจากฝรั่งเศส ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ไทยคมจะเป็นผู้ให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมบรอดแบนด์ดวงใหม่ ที่วงโคจรตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก แก่ Eutelsat Asia จำนวน 50% ของช่องสัญญาณทั้งหมดเป็นเวลา 16 ปี ตามอายุวิศวกรรมของดาวเทียม
ส่วนวงโคจรในตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออก ก็มีแผนว่าจะส่งดาวเทียมขึ้นไปอีกหนึ่งดวง แต่ช่วงนี้กำลังหารือว่าจะทำธุรกิจแบบใด เนื่องจากวงโคจรนี้เป็นวงโคจรที่สวยมาก เห็นทั้งอินเดีย ตะวันออกกลางถึงยุโรปตะวันออก โดยจะใช้เวลา 12 เดือนเพื่อตัดสินใจว่าจะทำธุรกิจแบบใด
“ส่วนกรณีที่กสทช.จะจัดสรรวงโคจรอีก 2 ตำแหน่งที่เหลือ 50.0 และ 142 องศาตะวันออกนั้น ตอนนี้ยังเร็วไปที่จะตอบว่าไทยคมพร้อมจะเข้ารับการจัดสรรหรือไม่ ซึ่งขอให้กสทช.จัดประชาพิจารณ์ให้เสร็จก่อน”
3ธุรกิจใหม่ฉายภาพอนาคต
หากเป็นผู้ให้ดำเนินธุรกิจดาวเทียมไปสู่การเป็น สเปซ เทค คัมปานี ภายใน 5 ปีต่อจากนี้ โดยจะมุ่ง 3 ธุรกิจใหม่มาเสริมกับธุรกิจดาวเทียมหลักที่ให้บริการ
1.บริการ Software defined satellite ดาวเทียมที่สามารถควบคุมการทำงานได้เรียลไทม์จากภาคพื้นดิน เปลี่ยนองศาความครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ (footprint) เพื่อให้เกิดการใช้งานได้อย่างประสิทธิภาพ
2.รุกธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO หรือ Low Earth Orbit) เป็นดาวเทียมที่โคจรอยู่บนความสูงจากพื้นโลกระหว่าง 350 - 2,000 กิโลเมตร เมื่อต้นปีที่ผ่านมาไทยคม ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับบริษัท โกลบอลสตาร์ (Globalstar, Inc.) จากสหรัฐอเมริกา ร่วมกันพัฒนา และบริหารจัดการสถานีภาคพื้นดินไทยคมในพื้นที่ลาดหลุมแก้ว
3.ธุรกิจนิว สเปซ อีโคโนมี เป็นธุรกิจที่มุ่งหาประโยชน์จากการใช้งานดาวเทียมในอวกาศ เพื่อธุรกิจด้านการศึกษา ผ่านดาวเทียมทางไกล การเกษตรเพื่อดูผลผลิต และ การโทรคมนาคมเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล
ครอบคลุมเพิ่มโอกาสธุรกิจ
ปฐมภพ เสริมว่า การประมวลผลภาพถ่ายจากดาวเทียม วิเคราะห์ข้อมูลดาต้า อนาไลติกส์จากโดยเทคโนโลยีอวกาศ ทำให้เกิด “บิ๊ก ดาต้า” ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งไทยคมร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจระยะไกล (Remote Sensing Satellite) มาวิเคราะห์โดยใช้ “เอไอ” เพื่อสร้างข้อมูลและโมเดลของระบบวิเคราะห์และประมวลผลเพื่องานประกันภัยพืชผล
โดยไทยคมพร้อมเป็นพื้นฐานสำคัญให้แก่ประเทศไทย โดยไทยคมมองว่ากิจการอวกาศเป็น New growth engine ของประเทศ เพื่อสร้างความยั่งยืนทั้งในเชิงสังคมและเชิงธุรกิจ รวมถึงบทบาทของภาคธุรกิจและเอกชนที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศไทย