สคส.-กสทช. เพิ่งตื่นชูกม.ข้อมูลส่วนบุคคล ผุดแอปบล็อกขายประกัน-บัตรเครดิต
สคส.เตรียมเปิดแอปฯ ห้ามโทรขาย ตื่นป้องสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลผู้บริโภค หยุดวงจรนายหน้าประกัน-บัตรเครดิตโทรตื้อทั้งที่ปลายทางไม่ต้องการ
นายศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ สคส. ในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่าสคส.กำลังอยู่ระหว่างการทำแอปพลิเคชัน ห้ามโทรหาฉัน ลักษณะคล้าย Whoscall เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการแจ้งไม่ยินยอมให้บริษัทต่างๆโทรหาประชาชนเพื่อขายสินค้าต่างๆ เนื่องจากกฎหมายระบุชัดว่าประชาชนสามารถแจ้งไปยังบริษัทนั้นได้ หากไม่ยิมยอมเปิดเผยข้อมูลเพื่อนำมาขายสินค้าและบริการต่างๆ โดยสคส.จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็น การแจ้งบริษัทที่ไม่ต้องการให้โทรหา การบล็อกเบอร์มิจฉาชีพ รวมถึงการทำไวท์ลิส ระบุเบอร์หน่วยงานราชการให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการหลอกลวงจากมิจฉาชีพ
แอปพลิเคชันดังกล่าวประชาชนมั่นใจได้ว่าข้อมูลที่อยู่ในระบบจะปลอดภัยและข้อมูลอยู่ในประเทศไทยเพราะคนไทยทำ ส่วนชื่อแอปพลิเคชันยังอยู่ระหว่างการคิดชื่อ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้เดือนม.ค.2567 เพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชน
นายศิวรักษ์ กล่าวว่า ล่าสุด สคส.ได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงาน กสทช. ในการบูรณาการความร่วมมือในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ของประชาชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลที่เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ภายใต้กรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ด้าน นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวว่า ปัจจุบันบริการโทรคมนาคมเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบริการร่วมกับกิจการอื่นด้วย เช่น บริการโทรเวชกรรม (Telemedicine) ที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข หรือบริการพิสูจน์ยืนยันตัวตน (Digital ID) ที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
และลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในการทำธุรกรรมต่างๆ ทั้งกับภาครัฐและภาคเอกชนและในการให้บริการโทรคมนาคม ผู้รับใบอนุญาตจำเป็นต้องอาศัยการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ ดังนั้น สำนักงาน กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลจึงได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้
ทั้งนี้ ตามลักษณะการหลอมรวมการให้บริการดังกล่าว การประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการอาจไม่จำกัดอยู่เพียงเพื่อการให้บริการโทรคมนาคมเท่านั้น แต่ผู้ใช้บริการอาจให้ความยินยอมให้ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของตนไปยังภาคอุตสาหกรรมอื่น (Cross-sector Data Sharing) ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้หลักสมดุลการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับสิทธิขั้นพื้นฐาน (Data Protection in Balance with Other Fundamental Rights)
โดยกฎหมายรับรองสิทธิของผู้ใช้บริการซึ่งมีอยู่แล้วในข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง ให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิได้อย่างอิสระ ผ่านการอนุญาตหรือการให้ความยินยอมให้ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง โดยการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาคอุตสาหกรรมได้เริ่มดำเนินการแล้วในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นความท้ายทายของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะไม่จำกัดอยู่เพียงเฉพาะหน่วยงานกำกับดูแลหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งอีกต่อไป
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้มีผลใช้บังคับทั้งฉบับมาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 และด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แสดงให้เห็นว่ากลไกในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ไม่สามารถดำเนินการภายใต้กฎหมาย ประกาศ ระเบียบ และแนวปฏิบัติของ กสทช. หรือสำนักงาน กสทช. เพียงอย่างเดียวได้
แต่จะต้องพิจารณา พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ และกฎหมายลำดับรองตามพ.ร.บ. ดังกล่าว รวมทั้งประกาศ ระเบียบ และแนวปฏิบัติของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลควบคู่กันไป จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลระหว่างสำนักงาน กสทช. และ สคส. ในครั้งนี้