กสทช. โหวต 4:1 อนุญาตควบรวม AIS - 3BB - AIS ทะยานขึ้นเบอร์ 1 ผู้นำตลาดบรอดแบนด์

กสทช. โหวต 4:1 อนุญาตควบรวม AIS - 3BB - AIS ทะยานขึ้นเบอร์ 1 ผู้นำตลาดบรอดแบนด์

จบมหากาพย์ 16 เดือน ! AIS ทะยานขึ้นเบอร์ 1 ผู้นำตลาดบรอดแบนด์ หลังมติบอร์ด กสทช. 4:1 เสียงอนุญาตให้ควบรวม 3BB ได้ หลังจากเสียงแตกเป็น 2 ก๊ก สุดท้ายจบที่โหวต 4 เสียง ออกเสียง 1 เสียง

จบมหากาพย์ 16 เดือน !! AIS ทะยานขึ้นเบอร์ 1 ผู้นำตลาดบรอดแบนด์ หลังมติบอร์ด กสทช. 4:1 เสียงอนุญาตให้ควบรวม 3BB ได้ หลังจากเสียงแตกเป็น 2 ก๊ก ประธานฯ อ้าง กสทช.มีสิทธิแค่รับทราบไม่มีอำนาจอนุญาตให้เอกชนควบหรือไม่ควบ ด้านเสียงข้างมากยัน กสทช.เป็นเรกูเลเตอร์มีอำนาจกำกับดูแล สุดท้ายจบที่โหวต 4 เสียง ออกเสียง 1 เสียง

ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (10 พ.ย.66) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ผลสรุปมติที่ประชุม 5 คน ประกอบด้วย 1.พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ (รักษาการประธานในที่ประชุม) 2.นางสาวพิรงรอง รามสูต 3.นายต่อพงศ์ เสลานนท์ 4.นายศุภัช ศุภชลาศัย และ 5.นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ลงมติโหวต 4:1 เสียง อนุญาตให้ AIS ควบรวมธุรกิจกับ 3BB

ทั้งนี้ การประชุมบอร์ดวาระพิเศษเริ่มตั้งแต่เวลา 9.00 น. ตามที่สำนักงาน กสทช. กำหนดจัดการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 12/2566 เรื่องการสรุปอนุญาตให้ AIS และ 3BB เข้ารวมธุรกิจ

•   ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งที่ประชุม

•   ระเบียบวาระที่ 2  รับรองรายงานการประชุม

•   ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องเสนอเพื่อทราบ

•   ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องที่ค้างพิจารณา

•   ระเบียบวาระที่ 5 เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา ข้อที่ 5.1 การรายงานการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN และ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (วาระต่อเนื่อง)

•   ระเบียบวาระที่ 6 เรื่องอื่นๆ

ประธานเสนอ แค่ รับทราบ หรือ ไม่รับทราบ

โดยที่ประชุมได้ใช้เวลาพิจารณา 3.30 ชั่วโมง ผลปรากฏว่า แหล่งข่าวจากห้องประชุมระบุว่า นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เสนอทางเลือกให้ที่ประชุมลงคะแนนเสียงเพียงแค่ "รับทราบ" และ "ไม่รับทราบ" เท่านั้น

โดยอ้างข้อบังคับตามประกาศ กสทช.ปี 2549 ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับกรณีการรับทราบการควบรวมทรู และดีแทค แต่กรรมการ กสทช.เสียงข้างมาก 4 คน เห็นว่า AIS ได้ทำหนังสือขออนุญาตมายังสำนักงาน กสทช.จึงควรลงมติ “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” เพราะกสทช. มีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาสั่ง “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” การควบรวมธุรกิจของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553  มาตรา 27 (11) และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544  มาตรา 21

แต่พฤติการณ์ที่ประธานให้ลงคะแนนโหวตเพียงแค่รับทราบการรวมธุรกิจของเอกชนเหมือนเช่นดีลทรู และดีแทค กรรมการเสียงข้างมากที่เหลือคนมองว่า ไม่ถูกต้องเพราะ กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว

แหล่งข่าว กล่าวว่า ในการประชุมนั้นมีการถกเถียงถึงอำนาจของตัวเองอีกครั้ง และประธาน กสทช. รวมถึง พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร ได้ Walkout ออกจากห้องประชุม ทำให้ที่ประชุมคงเหลือ 5 คน ดังกล่าวอย่างไรก็ตาม จากนั้นเวลา 13.00 น. ประธาน กสทช.บอกว่า จะต้องมีภารกิจไปทอดกฐินหลวงที่วัดยานนาวา เวลา 14.00 น.

ดังนั้น จึงขอให้ยุติการประชุม และจะกลับมาประชุมต่ออีกครั้งในเวลา 15.30 น. แต่นพ.สรณ ประธาน กสทช. และ พล.ต.อ. ณัฐธร ไม่ได้กลับเข้ามาประชุม ทั้งที่ก่อนหน้านี้ยืนยันว่า จะกลับเข้ามาหารือลงคะแนนโหวตให้แล้วเสร็จอีกครั้งหนึ่ง

แต่แท้จริงแล้วประธานฯ ให้ทีมงานแจ้งมายังสำนักงาน กสทช.ว่าได้ออกความเห็นไปแล้วคือ การรับทราบการรวมธุรกิจเท่านั้น เช่นเดียวกับพล.ต.อ.ณัฐธร คือ กสทช.มีอำนาจแค่รับทราบการควบรวมธุรกิจเท่านั้น ทำให้ที่ประชุมเหลือองค์ประชุม 5 คนตามที่ระบุข้างต้น และมีผลการลงคะแนนเสียงโหวต 4:1 เสียง

AIS ขึ้นเบอร์ 1 เน็ตบรอดแบนด์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่บอร์ด กสทช.มีมติออกมาดังกล่าวแล้ว หากพิจารณาจากผลประกอบการไตรมาส 3/2566 จะพบว่า AIS มีลูกค้าอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์จำนวน 2.38 ล้านราย ขณะที่ TRUE มีลูกค้าบรอดแบนด์จำนวน 3.8 ล้านราย ส่วน 3BB จากการตรวจสอบล่าสุดมีลูกค้าจำนวน 2.31 ล้านราย ดังนั้น หากควบรวมธุรกิจแล้วเสร็จจะทำให้ AIS มีลูกค้าอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์อยู่ที่ 4.69 ล้านราย ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของตลาดทันที ส่วนผู้เล่นอีกรายคือ NT ปัจจุบันมีลูกค้าราว 1.8 ล้านราย

ทั้งนี้ การขออนุญาตรวมธุรกิจระหว่าง AIS และ 3BB สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการ AIS ประกาศ เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2565 เข้าซื้อหุ้นในบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3บีบีจำนวน 7,529,242,385 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.87 มูลค่ารวม 19,500 ล้านบาท และเข้าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิส (JASIF) จำนวน 1,520,000,000 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.00 ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของ JASIF ในราคาหน่วยละ 8.5 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 12,920 ล้านบาท รวมสองธุรกรรมว่า “ธุรกรรมซื้อหุ้นและซื้อหน่วยลงทุน” มีมูลค่ารวม 32,420 ล้านบาท

นับจนถึงวันนี้ดีลดังกล่าวใช้เวลาการพิจารณายาวนานถึง 1 ปี 4 เดือน มากกว่าดีลควบรวมทรู และดีแทคที่ใช้เวลาพิจารณา 10 เดือน

โดยการรวมธุรกิจนี้สำนักงาน กสทช.ระบุว่า เข้าข่ายเป็นการรวมธุรกิจเป็นไปตามข้อ 3 (3) ในระเบียบของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ระบุว่า “การที่ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตเข้าซื้อหุ้นตั้งแต่ร้อยละยี่สิบห้าขึ้นไปของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น เพื่อควบคุมนโยบาย การบริหารกิจการ การอำนวยการ หรือการจัดการ”

นอกจากนี้ ได้รวบรวมข้อมูลภายหลังจากเกิดการควบรวมธุรกิจโดยใช้การวัดค่าดัชนี HHI (Herfindahl-Hirschman Index : HHI) หรือการคำนวณค่าการกระจุกตัวเพื่อวิเคราะห์สภาวะการแข่งขันในตลาดของธุรกิจ

โดยจะเกิดผลกระทบ 2 ลักษณะ

1.ตลาดค้าปลีกบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ประจำที่ (Fixed Broadband Internet) ดัชนี HHI ก่อนรวมธุรกิจอยู่ที่ 2,716 ดัชนี HHI หลังรวมธุรกิจอยู่ที่ 3,624 และดัชนี HHI หลังการรวมธุรกิจ - ก่อนรวมธุรกิจ อยู่ที่ 908 เพิ่มขึ้น 33.43% และ

2.ตลาดค้าส่งบริการเข้าถึงบรอดแบรนด์ (Wholesale Broadband Access) ดัชนี HHI ก่อนรวมธุรกิจอยู่ที่ 3,893 ดัชนี HHI หลังรวมธุรกิจอยู่ที่ 5,167 และดัชนี HHI หลังการรวมธุรกิจ - ก่อนรวมธุรกิจ อยู่ที่ 1,274 เพิ่มขึ้น 32.72%

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์